คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 8587/2544

แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา

ย่อสั้น

สัญญาค้ำประกันมีข้อความว่าจำเลยที่ 2 ซึ่งต่อไปนี้เรียกว่า “ผู้ค้ำประกัน” ขอทำหนังสือค้ำประกันจำเลยที่ 1 ให้ไว้แก่บริษัท ส. และบริษัทในกลุ่มบริษัท สก. ทุกบริษัทซึ่งจำเลยที่ 1 ได้รับคำสั่งจากบริษัท ส. ให้ย้ายไปปฏิบัติงาน มีความหมายว่า จำเลยที่ 2 ค้ำประกันจำเลยที่ 1 แก่บริษัท ส. และเฉพาะแก่บริษัทในกลุ่มบริษัท สก. ทุกบริษัทซึ่งมีสภาพเป็นนิติบุคคลอยู่แล้ว ในขณะที่จำเลยที่ 2 ทำสัญญาค้ำประกันเท่านั้น แม้โจทก์จะเป็นบริษัทในเครือของบริษัท สก. แต่ในขณะที่จำเลยที่ 2 ทำสัญญาโจทก์ยังไม่มีฐานะเป็นนิติบุคคล โจทก์จึงไม่ใช่คู่สัญญากับจำเลยที่ 2 โจทก์ย่อมไม่มีอำนาจฟ้อง แม้จำเลยที่ 1 จะเป็นลูกจ้างของโจทก์ สัญญาค้ำประกันฉบับดังกล่าวก็หาได้ครอบคลุมถึงโจทก์ด้วยไม่ จำเลยที่ 2 ไม่จำต้องร่วมรับผิดกับจำเลยที่ 1 ต่อโจทก์

ย่อยาว

โจทก์ฟ้องว่า จำเลยที่ ๑ เป็นลูกจ้างโจทก์ ตำแหน่งพนักงานขายสินค้า จำเลยที่ ๑ ได้สั่งสินค้าแทนลูกค้า ๙ ราย โดยลูกค้ามิได้สั่งสินค้า แล้วจำเลยที่ ๑ นำสินค้าดังกล่าวไปเป็นประโยชน์ส่วนตัวรวมเป็นราคา ๓,๑๘๓,๗๑๐.๘๕ บาท อันเป็นการกระทำละเมิดต่อโจทก์ และจำเลยที่ ๑ ก็ไม่ยอมไปทำงานอีกจนถึงวันฟ้อง จำเลยที่ ๒ เป็นผู้ค้ำประกันการทำงานของจำเลยที่ ๑ ต่อโจทก์ โจทก์ทวงถามแล้วจำเลยทั้งสองเพิกเฉย ขอให้บังคับจำเลยทั้งสองร่วมกันชำระเงิน๓,๑๘๓,๗๑๐.๘๕ บาท พร้อมดอกเบี้ยร้อยละเจ็ดครึ่งต่อปีของต้นเงินดังกล่าวนับแต่วันฟ้องจนกว่าชำระเสร็จแก่โจทก์
จำเลยที่ ๑ และจำเลยที่ ๒ ให้การขอให้ยกฟ้อง
ศาลแรงงานกลางพิจารณาแล้ววินิจฉัยว่า จำเลยที่ ๑ เอาสินค้าของโจทก์ไปรวมเป็นเงิน ๓,๑๘๓,๗๑๐.๘๕ บาท ในขณะที่จำเลยที่ ๒ ทำสัญญาค้ำประกันจำเลยที่ ๑ โจทก์ยังไม่มีสภาพบุคคล สัญญาค้ำประกันจึงไม่สมบูรณ์ โจทก์ไม่สามารถบังคับเอาแก่จำเลยที่ ๒ ได้ พิพากษาให้จำเลยที่ ๑ ชำระเงิน ๓,๑๘๓,๗๑๐.๘๕ บาท พร้อมดอกเบี้ยร้อยละเจ็ดครึ่งต่อปีของต้นเงินดังกล่าวนับแต่วันฟ้องจนกว่าจะชำระเสร็จ คำขออื่นนอกจากนี้ให้ยกเสีย
โจทก์อุทธรณ์ต่อศาลฎีกา
ศาลฎีกาแผนกคดีแรงงานวินิจฉัยว่า “มีปัญหาวินิจฉัยตามอุทธรณ์ของโจทก์ว่า จำเลยที่ ๒ จะต้องรับผิดตามสัญญาค้ำประกันหรือไม่ เห็นว่า สัญญาค้ำประกัน มีข้อความว่า “ข้าพเจ้านายศักดิ์ชัย เฉลิมเกียรติกุล (จำเลยที่ ๒) อายุ ๓๘ ปี (ภรรยาชื่อ ร.ต.ท. (ญ) จิตรา เฉลิมเกียรติกุล) ซึ่งต่อไปนี้เรียกว่า “ผู้ค้ำประกัน” ขอทำหนังสือนี้ค้ำประกันนายมารุต บุบผากลิ่น (จำเลยที่ ๑) ให้ไว้แก่บริษัทสยามกีกิ จำกัด และบริษัทในกลุ่มบริษัทสยามกลการ จำกัด ทุกบริษัทซึ่งนายมารุต บุบผากลิ่น ได้รับคำสั่งจากบริษัทสยามกีกิ จำกัด ให้ย้ายไปปฏิบัติงาน ซึ่งต่อไปในหนังสือนี้เรียกว่า “บริษัท” มีข้อความดังต่อไปนี้…” ตามสัญญาค้ำประกันดังกล่าวมีความหมายว่าจำเลยที่ ๒ จะค้ำประกัน จำเลยที่ ๑ แก่บริษัทซึ่งมีสภาพเป็นนิติบุคคลอยู่แล้วในขณะที่จำเลยที่ ๒ ทำสัญญาค้ำประกันเท่านั้น เมื่อข้อเท็จจริงฟังได้ว่าในขณะที่จำเลยที่ ๒ ทำสัญญาค้ำประกันจำเลยที่ ๑ โจทก์ยังไม่มีฐานะเป็นนิติบุคคล โจทก์จึงไม่ใช่คู่สัญญากับจำเลยที่ ๒ โจทก์ย่อมไม่มีอำนาจฟ้อง แม้จำเลยที่ ๑ จะเป็นลูกจ้างของโจทก์ก็ตามสัญญาค้ำประกันฉบับดังกล่าวก็หาได้ครอบคลุมถึงโจทก์ด้วยไม่ จำเลยที่ ๒ ไม่จำต้องร่วมรับผิดกับจำเลยที่ ๑ ต่อโจทก์ คำพิพากษาศาลแรงงานกลางชอบแล้ว อุทธรณ์โจทก์ฟังไม่ขึ้น”
พิพากษายืน

Share