คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 7332/2544

แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา

ย่อสั้น

จำเลยฎีกาในข้อเท็จจริงที่จำเลยมิได้ยกขึ้นอ้างไว้ในฟ้องอุทธรณ์เป็นข้อที่มิได้ยกขึ้นว่ากันมาแล้วโดยชอบในศาลอุทธรณ์ ต้องห้ามฎีกาตาม ป.วิ.พ.มาตรา249 วรรคหนึ่ง ประกอบด้วย ป.วิ.อ. มาตรา 15
กฎหมายเป็นเครื่องมือของรัฐที่ใช้สำหรับจัดระเบียบสังคมให้ผู้คนในสังคมได้อยู่ร่วมกันด้วยความปกติสุข เมื่อจำเลยกระทำผิดก่อให้เกิดความไม่สงบเรียบร้อยในสังคมแล้ว จำเลยจึงต้องถูกลงโทษตามที่กฎหมายบัญญัติไว้ในความผิดเรื่องนั้น ๆ จำเลยกระทำผิดในคดีอาญาเป็นการกระทำต่างกรรมกัน การที่ศาลล่างทั้งสองให้นับโทษจำเลยในคดีนี้ต่อจากโทษในคดีอาญาอีกคดีหนึ่งเป็นไปตามเจตนารมณ์ของกฎหมายตามที่โจทก์ขอมาท้ายฟ้อง เป็นการใช้ดุลพินิจชอบ ไม่ได้ขัดต่อสิทธิมนุษยชนใด ๆ
ข้อหาความผิดตาม ป.อ. มาตรา 371 มีโทษปรับไม่เกินหนึ่งร้อยบาท จึงมีอายุความเพียง 1 ปี ตามมาตรา 95 (5) จำเลยกระทำความผิดวันที่ 3 กุมภาพันธ์ 2539 นับถึงวันฟ้องคือวันที่ 28 พฤษภาคม 2542 เกิน 1 ปีคดีของโจทก์สำหรับความผิดดังกล่าวจึงเป็นอันขาดอายุความ สิทธินำคดีอาญามาฟ้องย่อมระงับไปตาม ป.วิ.อ. มาตรา 39 (6) ปัญหาข้อนี้แม้ไม่มีคู่ความฝ่ายใดอุทธรณ์ฎีกาขึ้นมา ศาลฎีกาก็มีอำนาจหยิบยกขึ้นวินิจฉัยเองได้

ย่อยาว

โจทก์ฟ้องขอให้ลงโทษจำเลยตาม ป.อ. มาตรา 288, 371, 91 พ.ร.บ. อาวุธปืน เครื่องกระสุนปืน วัตถุระเบิด ดอกไม้เพลิง และสิ่งเทียมอาวุธปืน พ.ศ. 2490 มาตรา 7, 8 ทวิ, 72, 72 ทวิ และนับโทษจำเลยต่อจากโทษในคดีอาญาหมายเลขแดงที่ 612/2541 ของศาลจังหวัดลำพูน
จำเลยให้การรับสารภาพและรับว่าเป็นบุคคลเดียวกับจำเลยในคดีอาญาหมายเลขแดงที่ 612/2541 ของศาลจังหวัดลำพูน
ศาลชั้นต้นพิพากษาว่า จำเลยมีความผิดตาม ป.อ. มาตรา 288, 371, 91 พ.ร.บ. อาวุธปืน เครื่องกระสุนปืน วัตถุระเบิด ดอกไม้เพลิง และสิ่งเทียมอาวุธปืน พ.ศ. 2490 มาตรา 7, 8 ทวิ, 72, 72 ทวิ (ที่ถูกมาตรา 7, 8 ทวิ วรรคหนึ่ง, 72 วรรคหนึ่ง, 72 ทวิ วรรคสอง) ลงโทษฐานฆ่าผู้อื่น จำคุกตลอดชีวิต ฐานมีอาวุธปืนและเครื่องกระสุนปืนไว้ในครอบครองโดยไม่ได้รับอนุญาต จำคุก 2 ปี ฐานพาอาวุธไปในเมือง หมู่บ้าน ทางสาธารณะโดยไม่ได้รับอนุญาตตาม พ.ร.บ. อาวุธปืน เครื่องกระสุนปืน วัตถุระเบิด ดอกไม้เพลิง และสิ่งเทียมอาวุธปืน พ.ศ. 2490 อันเป็นบทที่มีโทษหนักที่สุดตาม ป.อ. มาตรา 90 จำคุก 1 ปี คำรับสารภาพฐานฆ่าผู้อื่นของจำเลยไม่เป็นประโยชน์ต่อการพิจารณาเนื่องจากจำเลยนำสืบปฏิเสธ แต่คำรับในชั้นสอบสวนเป็นลักษณะรู้สำนึกผิดมีเหตุบรรเทาโทษ ลดโทษให้หนึ่งในสาม ตาม ป.อ. มาตรา 78 ประกอบมาตรา 53 จำคุก 33 ปี 4 เดือน คำรับสารภาพความผิดฐานอื่นเป็นประโยชน์แก่การพิจารณามีเหตุบรรเทาโทษ ลดโทษให้กึ่งหนึ่งตาม ป.อ. มาตรา 78 คงจำคุกฐานมีอาวุธปืนและเครื่องกระสุนปืนไว้ในครอบครองโดยไม่ได้รับอนุญาต จำคุก 1 ปี ฐานพาอาวุธปืนไปในเมือง หมู่บ้าน หรือทางสาธารณะโดยไม่ได้รับอนุญาต จำคุก 6 เดือน รวมจำคุก 34 ปี 10 เดือน ให้นับโทษจำเลยต่อจากโทษจำเลยในคดีอาญาหมายเลขแดงที่ 612/2541 ของศาลจังหวัดลำพูน
จำเลยอุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์พิพากษายืน
จำเลยฎีกา
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า ข้อเท็จจริงเบื้องต้นที่คู่ความมิได้โต้แย้งกันในชั้นฎีกาฟังได้ว่า วันเวลาเกิดเหตุตามฟ้อง จำเลยใช้อาวุธปืนยิงผู้ตายเป็นเหตุทำให้ผู้ตายถึงแก่ความตายที่บ้านเกิดเหตุ เนื่องจากความผิดของจำเลยในข้อหาฐานมีอาวุธปืนและเครื่องกระสุนปืนไว้ในครอบครองโดยไม่ได้รับอนุญาต และฐานพาอาวุธปืนไปในเมือง หมู่บ้าน ทางสาธารณะโดยไม่ได้รับอนุญาต คู่ความมิได้อุทธรณ์จึงเป็นอันยุติไปตามคำพิพากษาศาลชั้นต้นแล้ว
มีปัญหาต้องวินิจฉัยชั้นนี้ได้ว่า ที่จำเลยฎีกาว่า จำเลยรู้สึกอึดอัดใจเพราะถูกผู้ตายด่าจึงชักอาวุธปืนออกมาขู่และหลงร้องโวยวายดันอาวุธปืนไปที่แขนผู้ตายทำให้ปากกระบอกปืนทิ่มที่เต้านมผู้ตาย ผู้ตายโมโหและตกใจใช้มือปัดอาวุธปืนที่จำเลยถืออยู่ แต่จำเลยได้ดึงอาวุธปืนกลับแล้ว อาวุธปืนเกิดลั่นถูกผู้ตาย โดยจำเลยไม่มีเจตนาฆ่าผู้ตายนั้น เห็นว่า จำเลยมิได้ยกข้อเท็จจริงดังกล่าวไว้ในฟ้องอุทธรณ์ จึงเป็นข้อที่มิได้ยกขึ้นว่ากันมาแล้วโดยชอบในศาลอุทธรณ์ ต้องห้ามฎีกาตาม ป.วิ.พ. มาตรา 249 วรรคหนึ่ง ประกอบด้วย ป.วิ.อ. มาตรา 15 ศาลฎีกาไม่รับวินิจฉัย
ส่วนที่จำเลยฎีกาว่า การที่ศาลล่างทั้งสองให้นับโทษจำเลยคดีนี้ต่อจากคดีอาญาหมายเลขแดงที่ 612/2541 ของศาลจังหวัดลำพูนทำให้จำเลยต้องถูกจำคุกนานถึง 44 ปี 10 เดือน ถือได้ว่าเป็นการปิดกั้นมิให้จำเลยกลับใจเข้าสู่สภาพสังคมที่ดีได้โดยเร็ว ขัดต่อเจตนารมณ์ของกฎหมายและสิทธิมนุษยชนโดยแท้นั้น เห็นว่า กฎหมายเป็นเครื่องมือของรัฐที่ใช้สำหรับจัดระเบียบสังคมให้ผู้คนในสังคมได้อยู่ร่วมกันด้วยความปกติสุข เมื่อผู้ใดในสังคมหรือจำเลยกระทำผิดก่อให้เกิดความไม่สงบเรียบร้อยในสังคมแล้ว จำเลยจึงต้องถูกลงโทษตามที่กฎหมายบัญญัติไว้ในความผิดเรื่องนั้น ๆ ทั้งการที่จำเลยกระทำผิดในคดีอาญาหมายเลขแดงที่ 612/2541 ของศาลจังหวัดลำพูน และคดีเรื่องนี้เป็นการกระทำต่างกรรมกัน การที่ศาลล่างทั้งสองให้นับโทษจำเลยในคดีนี้ต่อจากโทษในคดีอาญาหมายเลขแดงที่ 612/2541 ของศาลจังหวัดลำพูน เป็นไปตามเจตนารมณ์ของกฎหมายตามที่โจทก์ขอมาท้ายฟ้องเป็นการใช้ดุลพินิจชอบแล้ว ไม่ได้ขัดต่อสิทธิมนุษยชนใด ๆ ดังเช่นที่จำเลยฎีกา ฎีกาจำเลยฟังไม่ขึ้น
อนึ่ง ข้อหาความผิดตาม ป.อ. มาตรา 371 นั้น มีโทษปรับไม่เกินหนึ่งร้อยบาท จึงมีอายุความเพียง 1 ปี ตาม ป.อ. มาตรา 95 (5) คดีนี้จำเลยกระทำความผิดวันที่ 3 กุมภาพันธ์ 2539 นับถึงวันฟ้องคือวันที่ 28 พฤษภาคม 2542 เกิน 1 ปี คดีของโจทก์สำหรับความผิดดังกล่าวจึงเป็นอันขาดอายุความ สิทธินำคดีอาญามาฟ้องย่อมระงับไปตาม ป.วิ.อ. มาตรา 39 (6) ปัญหาข้อนี้แม้ไม่มีคู่ความฝ่ายใดอุทธรณ์ฎีกาขึ้นมา ศาลฎีกาก็มีอำนาจหยิบยกขึ้นวินิจฉัยเองได้
พิพากษาแก้เป็นว่า ให้ยกฟ้องโจทก์สำหรับความผิดตาม ป.อ. มาตรา 371 นอกจากที่แก้คงให้บังคับตามคำพิพากษาศาลอุทธรณ์.

Share