คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 6373/2544

แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา

ย่อสั้น

พ.ร.บ.จัดตั้งศาลแรงงานและวิธีพิจารณาคดีแรงงาน พ.ศ. 2522 มาตรา 39 วรรคหนึ่ง หมายความว่า ในกรณีที่ศาลแรงงานเห็นว่าคดีไม่อาจเจรจาตกลงประนีประนอมยอมความกันได้และจำเป็นต้องสืบพยานของคู่ความ ศาลแรงงานจึงจะดำเนินกระบวนพิจารณาโดยกำหนดประเด็นข้อพิพาทและกำหนดให้คู่ความฝ่ายใดเป็นผู้นำพยานเข้าสืบก่อนหรือหลัง แต่หากศาลแรงงานเห็นว่าคดีพอวินิจฉัยได้โดยไม่จำต้องสืบพยานของคู่ความแล้ว ศาลแรงงานก็ไม่จำต้องดำเนินกระบวนพิจารณาตามบทบัญญัติดังกล่าวข้างต้น
ศาลแรงงานไกล่เกลี่ยโจทก์จำเลยแล้ว แต่คู่ความตกลงกันไม่ได้และเมื่อฟังคำแถลงของคู่ความประกอบกับเอกสารที่คู่ความเสนอมาแล้วเห็นว่าคดีพอวินิจฉัยและพิพากษาคดีไป กระบวนพิจารณาของศาลแรงงานชอบแล้ว
พ.ร.บ.แรงงานสัมพันธ์ พ.ศ. 2518 มาตรา 10 วรรคหนึ่ง และมาตรา 12 วรรคสอง หมายความว่า เมื่อสถานประกอบกิจการใดจัดให้มีข้อตกลงเกี่ยวกับสภาพการจ้างขึ้นแล้ว หากระยะเวลาการบังคับใช้ที่กำหนดไว้ในข้อตกลงดังกล่าวสิ้นสุดลงโดยมิได้มีการเจรจาตกลงกันใหม่ ข้อตกลงเกี่ยวกับสภาพการจ้างนั้นจะมีผลใช้บังคับต่อ ๆ ไป อีกคราวละหนึ่งปี ข้อตกลงเกี่ยวกับสภาพการจ้างนี้จะสิ้นผลใช้บังคับต่อเมื่อนายจ้างและลูกจ้างทำข้อตกลงเกี่ยวกับสภาพการจ้างขึ้นใหม่เท่านั้น

ย่อยาว

โจทก์ทั้งสองฟ้องขอให้บังคับจำเลยยกเลิกข้อตกลงเกี่ยวกับสภาพการจ้างรายบุคคลระหว่างลูกจ้างกับบริษัทธนาคารกสิกรไทย จำกัด (มหาชน) ที่จำเลยทำไว้กับลูกจ้างซึ่งเป็นสมาชิกของโจทก์ทั้งสองทุกคน ให้จำเลยจ่ายโบนัสในอัตรา ๒.๗๕ เท่าของเงินเดือน (ค่าจ้างรายงวด) ให้แก่ลูกจ้างซึ่งเป็นสมาชิกโจทก์ทั้งสอง ประจำงวดเดือนมิถุนายน ๒๕๔๓ ในอัตรา ๒.๗๕ เท่าของเงินเดือนแต่ละคน พร้อมดอกเบี้ยและเงินเพิ่มในอัตราร้อยละ ๑๕ นับแต่วันที่ ๒๗ มิถุนายน ๒๕๔๓ จนกว่าจะจ่ายโบนัสให้แก่ลูกจ้างซึ่งเป็นสมาชิกของโจทก์ทั้งสองแล้วเสร็จ หากจำเลยไม่จ่ายหรือจ่ายไม่ครบให้ยึดทรัพย์ขายทอดตลาดนำเงินมาจ่ายให้ลูกจ้างซึ่งเป็นสมาชิกของโจทก์ทั้งสองจนครบทุกราย ห้ามจำเลยกระทำการละเมิดหรือฝ่าฝืนข้อตกลงเกี่ยวกับสภาพการจ้างที่จำเลยได้ทำข้อตกลงไว้กับโจทก์ทั้งสองทุกกรณีอีกต่อไป
จำเลยให้การขอให้ยกฟ้อง
ศาลแรงงานกลางพิพากษายกฟ้อง
โจทก์ทั้งสองอุทธรณ์ต่อศาลฎีกา
ศาลฎีกาแผนกคดีแรงงานวินิจฉัยว่า ปัญหาต้องวินิจฉัยตามอุทธรณ์ประการแรกของโจทก์ทั้งสองว่า การดำเนินกระบวนพิจารณาและคำพิพากษาของศาลแรงงานกลางชอบด้วยกฎหมายหรือไม่ โดยโจทก์ทั้งสองอุทธรณ์ว่า ศาลแรงงานกลางมิได้กำหนดประเด็นข้อพิพาทและมิได้กำหนดให้โจทก์หรือจำเลย นำพยานเข้าสืบ แต่กลับมีคำสั่งให้งดสืบพยานโจทก์และจำเลย และนัดฟังคำพิพากษาโดยที่โจทก์ทั้งสองไม่มีโอกาสได้นำพยานเข้าสืบต่อสู้คดี ทั้งคำพิพากษาของศาลแรงงานกลางก็มิได้วินิจฉัยว่าโบนัสเป็นค่าจ้างหรือไม่ จึงเป็นคำพิพากษาที่มิได้วินิจฉัยในประเด็นสำคัญแห่งคดีนั้น เห็นว่า ตาม พ.ร.บ.จัดตั้งศาลแรงงานและวิธีพิจารณาคดีแรงงาน พ.ศ. ๒๕๒๒ มาตรา ๓๙ วรรคหนึ่ง บัญญัติว่า “ในกรณีมีประเด็นที่ยังไม่อาจตกลงกันหรือไม่อาจประนีประนอมยอมความกัน ให้ศาลแรงงานจดประเด็นข้อพิพาท และบันทึกคำแถลงของโจทก์กับคำให้การของจำเลย อ่านให้คู่ความฟังและให้ลงลายมือชื่อไว้ โดยจะระบุให้คู่ความฝ่ายใดฝ่ายหนึ่งนำพยานมาสืบก่อนหรือหลังก็ได้ แล้วให้ศาลแรงงานกำหนดวันสืบพยานไปทันที” ซึ่งหมายความว่าในกรณีที่ศาลแรงงานเห็นว่าคดีไม่อาจที่จะเจรจาตกลงประนีประนอมยอมความกันได้และจำเป็นจะต้องสืบพยานของคู่ความ ศาลแรงงานจึงจะดำเนินกระบวนพิจารณาโดยกำหนดประเด็นข้อพิพาทและกำหนดให้คู่ความฝ่ายใดเป็นผู้นำพยานเข้าสืบก่อนหรือหลัง แต่หากศาลแรงงานเห็นว่าคดีพอวินิจฉัยได้โดยไม่จำต้องสืบพยานของคู่ความแล้ว ศาลแรงงานก็ไม่จำต้องดำเนินกระบวนพิจารณาตามบทบัญญัติดังกล่าวข้างต้นแต่อย่างใด ดังนั้น การที่ศาลแรงงานกลางไกล่เกลี่ยโจทก์จำเลยแล้ว แต่คู่ความตกลงกันไม่ได้และเมื่อฟังคำแถลงของคู่ความประกอบกับเอกสารที่คู่ความเสนอมาแล้ว ศาลแรงงานกลางเห็นว่าคดีพอวินิจฉัยและพิพากษาได้ ศาลแรงงานกลางก็ไม่จำต้องดำเนินกระบวนพิจารณาตามบทบัญญัติดังกล่าวข้างต้น กระบวนพิจารณาของศาลแรงงานกลางชอบแล้ว และเมื่อศาลแรงงานกลางวินิจฉัยว่าโจทก์ทั้งสองไม่มีสิทธิเรียกร้องโบนัสโดยอ้างข้อตกลงเกี่ยวกับสภาพการจ้างปี ๒๕๓๖ อีกต่อไปแล้ว เท่ากับว่า โจทก์ทั้งสองไม่อาจจะเรียกร้องโบนัสในงวดเดือนมิถุนายน ๒๕๔๓ ตามข้อตกลงเกี่ยวกับสภาพการจ้างปี ๒๕๓๖ ได้อีก กรณีจึงไม่จำต้องวินิจฉัยว่าโบนัสเป็นค่าจ้างซึ่งจะมีผลให้จำเลยจะต้องจ่ายดอกเบี้ยและเงินเพิ่มตาม พ.ร.บ.คุ้มครองแรงงาน พ.ศ. ๒๕๒๑ มาตรา ๙ แก่โจทก์ทั้งสองหรือไม่ อีกต่อไป คำพิพากษาของศาลแรงงานกลางชอบแล้ว อุทธรณ์ข้อนี้ของโจทก์ทั้งสองฟังไม่ขึ้น
ปัญหาต้องวินิจฉัยตามอุทธรณ์ของโจทก์ทั้งสองประการที่สองว่า เมื่อจำเลยยื่นข้อเรียกร้องเกี่ยวกับการจ่ายโบนัสเมื่อวันที่ ๕ ตุลาคม ๒๕๔๒ ต่อโจทก์ทั้งสองแล้ว จะทำให้ข้อตกลงเกี่ยวกับสภาพการจ้างปี ๒๕๓๖ เรื่องการจ่ายโบนัสไม่มีผลใช้บังคับอีกต่อไปหรือไม่ เห็นว่า พ.ร.บ.แรงงานสัมพันธ์ พ.ศ. ๒๕๑๘ มาตรา ๑๐ วรรคหนึ่ง บัญญัติว่า “ให้สถานประกอบกิจการที่มีลูกจ้างตั้งแต่ยี่สิบคนขึ้นไปจัดให้มีข้อตกลงเกี่ยวกับสภาพการจ้างตามความในหมวดนี้” และมาตรา ๑๒ วรรคสอง บัญญัติว่า “ในกรณีที่ระยะเวลาที่กำหนดตามข้อตกลงเกี่ยวกับสภาพการจ้างสิ้นสุดลง ถ้ามิได้มีการเจรจาตกลงกันใหม่ ให้ถือว่าข้อตกลงเกี่ยวกับสภาพการจ้างนั้นมีผลใช้บังคับต่อไปอีกคราวละหนึ่งปี” ตามบทบัญญัติดังกล่าวหมายความว่า เมื่อสถานประกอบกิจการใดจัดให้มีข้อตกลงเกี่ยวกับสภาพการจ้างขึ้นแล้ว หากระยะเวลาการบังคับใช้ ที่กำหนดไว้ในข้อตกลงดังกล่าวสิ้นสุดลงโดยมิได้มีการเจรจาตกลงกันใหม่ ข้อตกลงเกี่ยวกับสภาพการจ้างนั้นจะมีผลใช้บังคับต่อ ๆ ไป อีกคราวละหนึ่งปี ข้อตกลงเกี่ยวกับสภาพการจ้างนี้จะสิ้นผลใช้บังคับต่อเมื่อนายจ้างและลูกจ้างทำข้อตกลงเกี่ยวกับสภาพการจ้างขึ้นใหม่เท่านั้น ลำพังเพียงนายจ้างหรือลูกจ้างยื่นข้อเรียกร้องเพื่อขอเจรจาเปลี่ยนแปลงข้อตกลงเกี่ยวกับสภาพการจ้างเดิม ยังไม่มีผลทำให้ข้อตกลงเกี่ยวกับสภาพการจ้างเดิมสิ้นผลใช้บังคับ ดังนั้น ไม่ว่าจำเลยจะยื่นข้อเรียกร้องเพื่อขอเปลี่ยนแปลงข้อตกลงเกี่ยวกับสภาพการจ้างปี ๒๕๓๖ เรื่อง การจ่ายเงินโบนัสประจำปีในอัตราปีละ ๕.๕ เท่าของเงินเดือนเมื่อใดก็ตามและหลังจากมีการยื่นข้อเรียกร้องแล้ว แม้ข้อเรียกร้องนั้นจะอยู่ในระหว่างที่โจทก์ทั้งสองและจำเลยเจรจากัน ก็หามีผลทำให้ข้อตกลงเกี่ยวกับสภาพการจ้างดังกล่าวสิ้นผลใช้บังคับไปดังที่ศาลแรงงานกลางวินิจฉัยไม่ อุทธรณ์ข้อนี้ของโจทก์ทั้งสองฟังขึ้น แต่เมื่อปรากฏว่าโจทก์ทั้งสองและจำเลยได้ทำบันทึกข้อตกลงเกี่ยวกับสภาพการจ้างขึ้นใหม่ตามบันทึกข้อตกลงเกี่ยวกับสภาพการจ้าง ลงวันที่ ๓ กรกฎาคม ๒๕๔๓ ข้อ ๗.๑ ว่า ทั้งสองฝ่ายตกลงยกเลิกข้อตกลงเกี่ยวกับสภาพการจ้างปี ๒๕๓๖ เรื่อง การจ่ายโบนัสประจำปีในอัตราปีละ ๕.๕ เท่าของเงินเดือน และใช้ข้อตกลงใหม่ตามข้อเสนอของธนาคารซึ่งมีข้อ ๗.๓.๑ กำหนดว่าโบนัสงวดเดือนมิถุนายน ๒๕๔๓ จำนวน ๒.๗๕ เท่าของเงินเดือน ซึ่งหมายความว่าจำเลยยอมจ่ายโบนัสให้แก่ลูกจ้างคนละ ๒.๗๕ เท่าของเดือน และตามอุทธรณ์ของโจทก์ทั้งสองก็ยอมรับว่า จำเลยได้จ่ายโบนัสประจำงวดเดือนมิถุนายน ๒๕๔๓ ให้แก่ลูกจ้าง ซึ่งเป็นสมาชิกของโจทก์ทั้งสองแล้ว เช่นนี้ ศาลฎีกาย่อมไม่อาจบังคับให้จำเลยจ่ายโบนัสให้แก่ลูกจ้างซึ่งเป็นสมาชิกของโจทก์ทั้งสองตามคำขอท้ายฟ้องได้อีก ที่ศาลแรงงานกลางวินิจฉัยว่าโจทก์ทั้งสองไม่มีสิทธิเรียกร้องโบนัสงวดเดือนมิถุนายน ๒๕๔๓ จากจำเลยนั้น ศาลฎีกาเห็นพ้องด้วยในผล…
พิพากษายืน.

Share