แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา
ย่อสั้น
เจ้ามรดกได้รับที่พิพาทจากบิดาในระหว่างที่สมรสกับมารดาโจทก์ตามกฎหมายอิสลามก่อนวันที่ประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ บรรพ 5 ใช้บังคับ ตามกฎหมายอิสลามว่าด้วยครอบครัวและมรดกไม่มีบัญญัติว่าทรัพย์ดังกล่าวเป็นสินสมรสหรือไม่ ต้องใช้กฎหมายลักษณะผัวเมียอันเป็นกฎหมายในขณะนั้นบังคับ ที่พิพาทจึงเป็นสินสมรส ต่อมามารดาโจทก์ถึงแก่กรรม เมื่อไม่ปรากฏว่าทั้งเจ้ามรดกและมารดาโจทก์มีสินเดิมหรือไม่ ที่พิพาทจึงตกเป็นของมารดาโจทก์ 1 ส่วนและตกเป็นของเจ้ามรดกเอง 2 ส่วน เฉพาะทรัพย์ส่วนที่เป็นของมารดาโจทก์นั้นต้องแบ่งแก่ทายาทตามกฎหมายอิสลามว่าด้วยครอบครัวและมรดก ข้อความในพินัยกรรมของเจ้ามรดกจึงผูกพันที่พิพาทเฉพาะส่วนของเจ้ามรดก ไม่มีผลผูกพันส่วนของมารดาโจทก์ ซึ่งโจทก์มีสิทธิจะได้รับทั้งส่วนที่เป็นมรดกของมารดาโจทก์และส่วนของเจ้ามรดกที่ระบุไว้ในพินัยกรรม
ปัญหาว่าส่วนของมารดาโจทก์จะต้องแบ่งกันตามกฎหมายอิสลามว่าด้วยครอบครัวและมรดก และโจทก์ซึ่งเป็นทายาทจะได้รับส่วนของมารดาโจทก์เท่าใด เป็นข้อกฎหมายอิสลามที่ดะโต๊ะยุติธรรมต้องเป็นผู้ชี้ขาด ตามพระราชบัญญัติว่าด้วยการใช้กฎหมายอิสลาม ฯ พ.ศ.2489มาตรา 3, 4 จึงต้องย้อนสำนวนไปให้ศาลชั้นต้นวินิจฉัย