คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 1526/2534

แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา

ย่อสั้น

จำเลยดัดแปลงต่อเติมอาคารตึกแถวพิพาทขึ้นใหม่ปกคลุมทางเดินด้านหลังอาคาร ทำให้ไม่มีที่ว่างกว้างไม่น้อยกว่า 2.00 เมตร เป็นการขัดต่อข้อบัญญัติกรุงเทพมหานครเรื่อง ควบคุมการก่อสร้างอาคาร พ.ศ.2522 ข้อ 76 (4) ซึ่งเป็นกรณีที่ไม่สามารถแก้ไขเปลี่ยนแปลงหรือออกใบอนุญาตให้ได้ โจทก์ในฐานะเป็นเจ้าพนักงานท้องถิ่นตาม พ.ร.บ.ควบคุมอาคาร พ.ศ.2522จึงมีอำนาจฟ้องให้จำเลยรื้อถอนอาคารตึกแถวพิพาทส่วนที่ดัดแปลงต่อเติม
พ.ร.บ.ควบคุมอาคาร พ.ศ.2522 ไม่มีข้อความในมาตราใดบัญญัติว่าให้เจ้าพนักงานท้องถิ่นต้องฟ้องภายในกำหนด 1 ปี เมื่อเจ้าพนักงานได้แจ้งคำสั่งให้จำเลยรื้อถอนตราบใดที่ยังคงฝ่าฝืนอยู่ โจทก์ฟ้องบังคับขอให้รื้อถอนได้
โจทก์ยื่นแก้อุทธรณ์แล้ว ศาลอุทธรณ์ชอบที่จะพิพากษาให้จำเลยใช้ค่าทนายความชั้นอุทธรณ์แทนโจทก์ได้

ย่อยาว

โจทก์ฟ้องว่า จำเลยเป็นเจ้าของผู้ครอบครองที่ดินโฉนดเลขที่ ๒๔๖๕๒ แขวงสีลมเขตบางรัก กรุงเทพมหานคร และตึกแถวสี่ชั้นเลขที่ ๒/๙ ซึ่งก่อสร้างอยู่บนที่ดินดังกล่าว จำเลยได้จัดให้มีการดัดแปลงอาคารโดยก่อสร้างต่อเติมอาคารคอนกรีตเสริมเหล็กเชื่อมต่อด้านหลังของตึกแถวเลขที่๒/๙ ดังกล่าวมีขนาดกว้าง ๓.๗๐ เมตร ยาว ๕.๖๕ – ๗.๐๐ เมตร สูง ๖ ชั้น ปกคลุมทางเดินด้านหลัง โดยไม่ได้รับอนุญาตจากเจ้าพนักงานท้องถิ่น และการก่อสร้างนั้นเป็นกรณีที่ไม่สามารถแก้ไขเปลี่ยนแปลงหรือออกใบอนุญาตให้ได้ เพราะขัดต่อข้อบัญญัติกรุงเทพมหานคร เรื่อง ควบคุมการก่อสร้างอาคาร พ.ศ.๒๕๒๒ ข้อ ๗๖ (๔) และพระราชบัญญัติควบคุมอาคาร พ.ศ.๒๕๒๒ มาตรา ๒๑,๒๒, ๔๐ และ ๔๒ หัวหน้าเขตบางรักปฏิบัติราชการแทนโจทก์ได้แจ้งคำสั่งให้จำเลยรื้อถอนอาคารส่วนที่ดัดแปลงต่อเติมดังกล่าวภายใน ๓๐ วัน นับแต่วันที่ได้รับคำสั่ง จำเลยได้รับคำสั่งเมื่อวันที่ ๑๒มิถุนายน ๒๕๒๘ แล้วไม่ได้อุทธรณ์คำสั่งต่อคณะกรรมการพิจารณาอุทธรณ์ และไม่รื้อถอนอาคารส่วนที่ดัดแปลงต่อเติม ขอให้จำเลยรื้อถอนอาคารคอนกรีตส่วนที่ดัดแปลงต่อเติมดังกล่าว ถ้าจำเลยไม่ยอมรื้อให้โจทก์เป็นผู้รื้อถอนได้เอง โดยจำเลยเป็นผู้เสียค่าใช้จ่าย
จำเลยให้การว่า มิได้เป็นผู้จัดการให้มีการก่อสร้างต่อเติมอาคารคอนกรีตเสริมเหล็กต่อด้านหลังตึกแถวเลขที่ ๒/๙ จำเลยได้รับโอนอาคารดังกล่าวมาเมื่อปี ๒๕๑๘เจ้าของอาคารเดิมจะได้มีการดัดแปลงต่อเติมอาคารมาก่อนหรือไม่ จำเลยไม่ทราบ ต่อมาปี๒๕๒๘ ตึกแถวที่จำเลยรับโอนมาทรุดโทรมมีรอยร้าว จำเลยจึงซ่อมแซมให้มีสภาพเดิม ด้านหลังอาคารมีที่เว้นว่างประมาณ ๒ เมตร โจทก์ไม่มีอำนาจสั่งให้จำเลยรื้อถอน จำเลยไม่เคยได้รับหนังสือแจ้งให้ระงับการก่อสร้างหรือรื้อถอน ฟ้องโจทก์ขาดอายุความ ๑ ปีแล้ว ขอให้ยกฟ้อง
ศาลชั้นต้นพิพากษาให้จำเลยรื้อถอนอาคารคอนกรีตเสริมเหล็ก ขนาดกว้าง๓.๗๐ เมตร ยาว ๕.๖๕ – ๗.๐๐ เมตร สูง ๖ ชั้น ส่วนที่ต่อเติมเชื่อมด้านหลังตึกแถวเดิมปกคลุมที่ว่างทางเดินหลังตึกแถวเลขที่ ๒/๙ ถนนจรูญเวียง แขวงสีลม เขตบางรัก กรุงเทพ-มหานคร หากจำเลยไม่ยอมรื้อถอนให้โจทก์รื้อถอนเอง โดยให้จำเลยเป็นผู้ออกค่าใช้จ่าย
จำเลยอุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์พิพากษายืน
จำเลยฎีกา
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า จำเลยได้ดัดแปลงต่อเติมอาคารตึกแถวพิพาทขึ้นใหม่ปกคลุมทางเดินด้านหลังอาคารทำให้ไม่มีที่ว่างกว้างไม่น้อยกว่า ๒.๐๐ เมตร อันเป็นการขัดต่อข้อบัญญัติกรุงเทพมหานคร เรื่อง ควบคุมการก่อสร้างอาคาร พ.ศ.๒๕๒๒ ข้อ ๗๖ (๔) ซึ่งเป็นกรณีที่ไม่สามารถแก้ไขเปลี่ยนแปลงหรือออกใบอนุญาตให้ได้ โจทก์ในฐานะเป็นเจ้าพนักงานท้องถิ่นตามพระราชบัญญัติควบคุมอาคาร พ.ศ.๒๕๒๒ จึงมีอำนาจฟ้องให้จำเลยรื้อถอนอาคารตึกแถวพิพาทส่วนที่ดัดแปลงต่อเติมได้ คำพิพากษาฎีกาที่ ๖๙๔/๒๕๓๐ และ ๒๕๑๗/๒๕๓๐ ที่จำเลยอ้างมาในฎีกานั้นข้อเท็จจริงไม่ตรงกับคดีนี้
ที่จำเลยฎีกาว่า การฟ้องร้องตามพระราชบัญญัติควบคุมอาคาร พ.ศ.๒๕๒๒ต้องฟ้องภายในอายุความ ๑ ปี นับแต่วันรู้ตัวผู้กระทำผิด ฟ้องของโจทก์จึงขาดอายุความแล้วนั้นเห็นว่า ตามพระราชบัญญัติควบคุมอาคาร พ.ศ.๒๕๒๒ ไม่มีข้อความในมาตราใดบัญญัติว่าให้เจ้าพนักงานท้องถิ่นหรือโจทก์ต้องฟ้องภายในกำหนด ๑ ปี ดังที่จำเลยต่อสู้ การที่จำเลยดัดแปลงต่อเติมอาคารโดยขัดต่อข้อบัญญัติกรุงเทพมหานครโดยไม่อาจแก้ไขเปลี่ยนแปลงได้และไม่อาจออกใบอนุญาตให้ได้ ซึ่งจำเลยต้องถูกบังคับให้รื้อถอนนั้น เมื่อเจ้าพนักงานได้แจ้งคำสั่งให้จำเลยรื้อถอนแต่จำเลยไม่รื้อ ตราบใดที่ยังคงฝ่าฝืนอยู่โจทก์ฟ้องขอให้รื้อถอนได้
ที่จำเลยฎีกาประการสุดท้ายว่า ศาลอุทธรณ์พิพากษาให้จำเลยใช้ค่าทนายความแทนโจทก์ ๑,๐๐๐ บาท ไม่ถูกต้อง เพราะโจทก์ไม่อุทธรณ์และไม่แก้อุทธรณ์ฎีกานั้น เห็นว่าเป็นสิทธิของโจทก์ซึ่งเป็นฝ่ายชนะคดีในศาลชั้นต้นที่จะไม่ยื่นอุทธรณ์ และปรากฏว่าโจทก์ได้ยื่นแก้อุทธรณ์ลงวันที่ ๑๕ ธันวาคม ๒๕๓๐ ไว้แล้ว ศาลอุทธรณ์จึงพิพากษาให้จำเลยใช้ค่าทนายความชั้นอุทธรณ์แทนโจทก์ได้
พิพากษายืน.

Share