แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา
ย่อสั้น
ปัญหาว่าการที่โจทก์ฟ้องจำเลยแล้วถอนฟ้อง มาฟ้องคดีนี้เมื่อเกิน 6 เดือน นับแต่วันเกิดเหตุ จะถือว่าโจทก์ให้อภัยในเหตุประพฤติเนรคุณและคดีขาดอายุความตาม ป.พ.พ. มาตรา 533หรือไม่ และถอนคืนการให้ไม่ได้เพราะเป็นการให้โดยหน้าที่ธรรมจรรยาตามมาตรา 535 หรือไม่ ไม่ใช่ปัญหาอันเกี่ยวด้วยความสงบเรียบร้อยของประชาชน
โจทก์ยังมีที่ดินประมาณ 10 ไร่ ให้ผู้อื่นเช่าเก็บค่าเช่าเป็นรายปี ถ้าขายจะได้ราคาไม่น้อยกว่า 50,000 บาท และโจทก์สามารถดำรงชีพโดยอยู่อาศัยกับบุตรสาวอีกคนหนึ่ง ฐานะของโจทก์ยังไม่ถึงกับยากไร้ตามความหมายของมาตรา 531 (3)
จำเลยด่าโจทก์ว่า “ที่ไปอำเภอนั้นไปเย็ดกับลูกเขย ให้แล้วเอากลับคืนหน้ามือเป็นหลังมือ หน้าตีนเป็นหลังตีน หัวหงอกแล้วแก่แล้วพูดไม่มียุติธรรม” ทำให้โจทก์เสียชื่อเสียง และเป็นการหมิ่นประมาทโจทก์อย่างร้ายแรงตามมาตรา 531(2) แล้ว หาจำต้องถึงกับเป็นความผิดฐานหมิ่นประมาททางอาญาไม่
ย่อยาว
โจทก์ฟ้องว่า โจทก์เป็นมารดาของจำเลยที่ ๑ และที่ ๒ จำเลยที่ ๓ เป็นบุตรของจำเลยที่ ๑ โจทก์ได้ยกที่ดิน ๑ แปลง ให้จำเลยที่ ๑ และที่ ๒ โดยเสน่หา เมื่อโจทก์ยกที่ดินให้แล้วจำเลยที่ ๑ และที่ ๒ ไม่เคยอุปการะเลี้ยงดูโจทก์เลย โจทก์ชราภาพและยากไร้ไม่สามารถประกอบอาชีพหาเลี้ยงตนเองได้ ไม่มีบ้านเรือนอยู่อาศัย ต้องอาศัยบุตรคนอื่นอยู่อาศัยหลับนอนและให้อาหาร โจทก์เคยขออาศัยจำเลยที่ ๑ และที่ ๒ อยู่ด้วย จำเลยที่ ๑ และที่ ๒ ไม่ยอมให้อยู่ ไม่ยอมให้เงินและอาหารทั้งที่สามารถจะให้ได้ เป็นการประพฤติเนรคุณ โจทก์จึงขอที่ดินคืน แต่จำเลยที่ ๑ และที่ ๒ ไม่ยอมคืนให้ และจำเลยที่ ๑ ได้ด่าว่าโจทก์ด้วยถ้อยคำหยาบคายซึ่งเป็นการหมิ่นประมาทโจทก์อย่างร้ายแรง และเพื่อไม่ให้โจทก์ถอนคืนการให้ จำเลยทั้งสามได้สมรู้กันแสดงเจตนาลวงโดยจำเลยที่ ๑ และที่ ๒ จดทะเบียนโอนขายที่ดินแก่จำเลยที่ ๓ โดยไม่มีเจตนาซื้อขายกันจริงแต่อย่างใด ขอให้พิพากษาว่า การจดทะเบียนโอนขายที่ดินระหว่างจำเลยที่ ๑ และที่ ๒ กับจำเลยที่ ๓ เป็นโมฆะ ให้เพิกถอน แล้วให้จำเลยที่ ๑และที่ ๒ จดทะเบียนโอนที่ดินคืนให้แก่โจทก์
จำเลยทั้งสามให้การว่า จำเลยที่ ๑ และที่ ๒ ให้ความอุปการะเลี้ยงดูแก่โจทก์อย่างดีตลอดมา โจทก์มีบ้านเรือนเป็นของตนเอง และมีที่ดินให้ผู้อื่นเช่าทำประโยชน์เนื้อที่ประมาณ๑๐ ไร่ โจทก์ไม่ยากไร้แต่อย่างใด จำเลยที่ ๑ ไม่เคยด่าว่าหมิ่นประมาทโจทก์ด้วยถ้อยคำหยาบคายจำเลยที่ ๑ และที่ ๒ ขายที่พิพาทแก่จำเลยที่ ๓ โดยชอบ มิได้หลีกเลี่ยงการเพิกถอนและไม่มีเจตนาลวงแต่อย่างใด
ศาลชั้นต้นพิจารณาแล้วพิพากษาว่า การจดทะเบียนซื้อขายของจำเลยทั้งสามเป็นโมฆะ ให้จำเลยที่ ๑ และที่ ๒ คืนที่ดินให้โจทก์
จำเลยทั้งสามอุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์พิพากษายืน
จำเลยทั้งสามฎีกา
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า คดีมีปัญหาประการแรกว่าการที่โจทก์ฟ้องจำเลยที่ ๑ ที่ ๒แล้วถอนฟ้องมาฟ้องคดีนี้เมื่อเกิน ๖ เดือน นับแต่วันเกิดเหตุ จะถือว่าโจทก์ให้อภัยในเหตุประพฤติเนรคุณและคดีขาดอายุความตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา ๕๓๓ ทั้งถอนคืนการให้ไม่ได้ เพราะเป็นการให้โดยหน้าที่ธรรมจรรยาตามมาตรา ๕๓๕ หรือไม่ เห็นว่า จำเลยที่ ๑ ที่ ๒ มิได้ยกเป็นข้อต่อสู้ในคำให้การและในฟ้องอุทธรณ์ ทั้งไม่ใช่ปัญหาอันเกี่ยวด้วยความสงบเรียบร้อยของประชาชนตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา ๒๔๙ ศาลฎีกาไม่วินิจฉัยให้ ปัญหาต่อไปมีว่า จำเลยที่ ๑ที่ ๒ บอกปัดไม่ยอมให้สิ่งของจำเป็นเลี้ยงชีวิตแก่โจทก์ผู้ให้ในเวลาที่โจทก์ยากไร้ และจำเลยที่ ๑ ที่ ๒ยังสามารถจะให้ได้หรือไม่ ข้อเท็จจริงฟังได้ว่า โจทก์ยังมีที่ดินเหลือประมาณ ๑๐ ไร่ โจทก์ให้คนเช่าเก็บค่าเช่าเป็นรายปี เพิ่งนำไปจำนองหลังเกิดเหตุพิพาทคดีนี้ ถ้าขายจะได้ราคาไม่น้อยกว่า๕๐,๐๐๐ บาท และโจทก์สามารถดำรงชีพโดยอยู่อาศัยกับบุตรสาวอีกคนหนึ่ง เห็นว่า ฐานะของโจทก์ยังไม่ถึงกับยากไร้ตามความหมายของประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา ๕๓๑ (๓)โจทก์ไม่อาจเพิกถอนการให้เพราะเหตุนี้ มีปัญหาต่อไปว่า จำเลยที่ ๑ ทำให้โจทก์ผู้ให้เสียชื่อเสียงหรือหมิ่นประมาทโจทก์อย่างร้ายแรงตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา ๕๓๑ (๒) หรือไม่ ได้ความว่าจำเลยที่ ๑ ด่าโจทก์ว่า “ที่ไปอำเภอนั้นไปเย็ดกับลูกเขย ให้แล้วเอากลับคืนหน้ามือเป็นหลังมือ หน้าตีนเป็นหลังตีน หัวหงอกแล้วแก่แล้วพูดไม่มียุติธรรม” ถ้อยคำที่จำเลยที่ ๑ ซึ่งเป็นบุตรด่าโจทก์ดังกล่าวแสดงถึงการไม่เคารพยำเกรงถึงขั้นทำให้โจทก์เสียชื่อเสียง ทั้งเป็นการหมิ่นประมาทโจทก์อย่างร้ายแรงตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา ๕๓๑ (๒) แล้ว หาจำต้องถึงกับเป็นความผิดฐานหมิ่นประมาททางอาญาไม่ โจทก์มีสิทธิเรียกถอนคืนการให้เพราะเหตุจำเลยที่ ๑ ประพฤติเนรคุณตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา ๕๓๑ (๒) และตามพฤติการณ์น่าเชื่อว่าจำเลยที่ ๑ เจตนาโอนที่ดินให้จำเลยที่ ๓เพื่อป้องกันมิให้โจทก์ถอนคืนการให้ และจำเลยที่ ๓ ก็ทราบเหตุแห่งการฉ้อฉลด้วย โจทก์มีสิทธิขอให้เพิกถอนนิติกรรมการซื้อขายที่ดินซึ่งกระทำโดยฉ้อฉลระหว่างจำเลยที่ ๑ กับจำเลยที่ ๓ ได้
พิพากษาแก้เป็นว่า ให้ยกฟ้องจำเลยที่ ๒ และยกคำขอของโจทก์ที่ขอให้เพิกถอนการโอนที่พิพาทระหว่างจำเลยที่ ๒ กับจำเลยที่ ๓ นอกจากที่แก้คงให้เป็นไปตามคำพิพากษาศาลอุทธรณ์.