คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 4727/2533

แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา

ย่อสั้น

บริษัทผู้คัดค้านดำเนินกิจการสร้างศูนย์การค้าซึ่งในปีต้น ๆ ประสบการขาดทุนแต่ไม่มากนัก กิจการของผู้คัดค้านเจริญก้าวหน้าขึ้น มีทรัพย์สินมากกว่าหนี้สินจำนวนมาก และมีเหตุผลให้น่าเชื่อว่าเมื่อผู้คัดค้านก่อสร้างศูนย์การค้าและโครงการอื่น ๆ เสร็จแล้วก็จะมีกำไร จึงไม่อาจกล่าวได้ว่าการค้าของผู้คัดค้านทำไปมีแต่ขาดทุนอย่างเดียว และไม่มีทางหวังว่าจะกลับฟื้นตัวได้ กรณีไม่มีเหตุจะเลิกบริษัทผู้คัดค้านตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 1237 (3)

ย่อยาว

ผู้ร้องยื่นคำร้องว่า บริษัทสระแก้วเมืองทอง จำกัด ประสบการขาดทุนตลอดมาขอให้ศาลมีคำสั่งเลิกบริษัทสระแก้วเมืองทอง จำกัด และมีคำสั่งตั้งนายสมภพ แก้วสุทธิ เป็นผู้ชำระบัญชี
บริษัทสระแก้วเมืองทอง จำกัด ผู้คัดค้านยื่นคำคัดค้านว่าในปีต้น ๆ ผู้คัดค้านต้องประสบการขาดทุน แต่สินทรัพย์ของผู้คัดค้านที่งอกเงยขึ้นมา หากนำมาคำนวณเป็นมูลค่าแล้วก็จะมีกำไรเป็นจำนวนมาก ซึ่งผู้ร้องก็ทราบถึงผลกำไรของบริษัทจึงได้เสนอขายหุ้นในราคาสูง ขอให้ยกคำร้อง
ศาลชั้นต้นพิจารณาแล้ว พิพากษาให้เลิกบริษัทสระแก้วเมืองทอง จำกัด และตั้งเจ้าหน้าที่กรมบังคับคดีเป็นผู้ชำระบัญชี
ผู้คัดค้านอุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์พิพากษากลับ ให้ยกคำร้องของผู้ร้อง
ผู้ร้องฎีกา
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า ได้ความว่าผู้คัดค้านดำเนินกิจการก่อสร้างศูนย์การค้า ในการก่อสร้างศูนย์การค้าในระยะแรกนั้นย่อมมีค่าใช้จ่ายเป็นค่าก่อสร้างและค่าซื้อที่ดินเป็นจำนวนมาก การที่ผู้คัดค้านประสบภาวะขาดทุนทุกปีนั้นหาใช่เรื่องผิดปกติไม่ แต่ละปีขาดทุนไม่มากนัก ผู้คัดค้านมีทรัพย์สินหลายรายการ เช่น ห้องแถวซึ่งเป็นที่อยู่อาศัย ๖๒ ห้อง พร้อมที่ดิน ตลาดสดพร้อมที่ดินอยู่ในบริเวณศูนย์การค้า สถานีขนส่งหลังตลาดสด ที่ดินเตรียมไว้ปลูกอาคารพาณิชย์ ๑๕๐ คูหา ที่ดินประมาณ ๑๐๐ ไร่จึงน่าเชื่อว่าผู้คัดค้านมีทรัพย์สินมากกว่าหนี้สินเป็นจำนวนมาก ซึ่งถ้าผู้ร้องขายทรัพย์สินที่มีอยู่ก็จะได้กำไรเป็นจำนวนมาก ที่ผู้ร้องอ้างว่าผู้คัดค้านประสบแต่ภาวะขาดทุนตลอดมานั้น ก็เนื่องจากผู้ร้องพิจารณาเฉพาะรายรับและรายจ่ายของผู้คัดค้านตามสมุดบัญชีเท่านั้น หาได้นำทรัพย์สินที่ผู้คัดค้านมีอยู่มาประกอบการพิจารณาไม่ มีเหตุผลให้น่าเชื่อว่า เมื่อผู้คัดค้านก่อสร้างศูนย์การค้าและโครงการอื่น ๆ เสร็จแล้วผู้คัดค้านจะมีกำไร กิจการของผู้คัดค้านเจริญก้าวหน้าขึ้นและน่าจะมีกำไรมากในอนาคต จึงไม่อาจกล่าวได้ว่าการค้าของผู้คัดค้านทำไปมีแต่ขาดทุนอย่างเดียว และไม่มีทางหวังว่าจะกลับฟื้นตัวได้ กรณีจึงไม่มีเหตุที่จะเลิกบริษัทผู้คัดค้านตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา ๑๒๓๗ (๓) ได้
พิพากษายืน.

Share