แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา
ย่อสั้น
เมื่อได้รับเบี้ยประกันจากผู้เอาประกันภัยแล้ว โจทก์นำเบี้ยประกันภัยไปจ่ายเป็นค่าเบี้ยประกันภัยต่อกับบริษัทประกันภัยอื่นทั้งในประเทศและต่างประเทศเพื่อบรรเทาความเสียหายในกรณีที่ต้องชำระเงินตามกรมธรรม์ประกันภัย โดยโจทก์ได้รับส่วนลดหรือค่านายหน้าจากบริษัทที่รับประกันภัยต่อ และได้นำส่วนลดดังกล่าวมาบันทึกเป็นรายได้ในกิจการของโจทก์เงินส่วนลดในการประกันภัยต่อที่โจทก์ได้รับจึงเป็นเงินได้หรือรายรับที่โจทก์ได้รับเนื่องจากการประกอบกิจการในรอบระยะเวลาบัญชีที่ต้องนำมารวมคำนวณเพื่อเสียภาษีเงินได้นิติบุคคลด้วยแม้เงินจำนวนดังกล่าวผู้รับประกันภัยต่อจะนำไปคำนวณเสียภาษีเงินได้นิติบุคคลไว้แล้วก็ไม่ถือว่าเป็นการเก็บภาษีซ้ำซ้อน เพราะเป็นคนละนิติบุคคล
ความหมายของคำว่า “รายรับ” ตามมาตรา 79 เป็นเรื่องของภาษีการค้าไม่อาจนำมาใช้ในกรณีของภาษีเงินได้นิติบุคคลซึ่งมีบทบัญญัติไว้โดยเฉพาะได้
โจทก์บรรยายฟ้องว่า จำเลยนำดอกเบี้ยและเงินปันผลรับ รายได้ค่าเช่าและกำไรจากการจำหน่ายทรัพย์สิน รวมทั้งรายได้เบ็ดเตล็ดมารวมเป็นรายรับเป็นการประเมินที่ไม่ชอบ ไม่ได้กล่าวถึงค่าสินไหมรับคืนอัคคีภัย ค่าสินไหมรับคืนรถยนต์กับค่าสำรวจรายงานอัคคีภัยที่โจทก์อุทธรณ์ว่าเจ้าพนักงานประเมินนำรายรับทั้งสามรายการดังกล่าวมาคำนวณภาษีเงินได้นิติบุคคลเป็นการไม่ชอบนั้น จึงเป็นเรื่องนอกฟ้อง
เงินสำรองจากเบี้ยประกันภัยที่โจทก์กันไว้ตามมาตรา 65 ตรี (1) (ข) นั้นจะต้องถือเป็นรายได้ในการคำนวณกำไรสุทธิเพื่อเสียภาษีในรอบระยะเวลาบัญชีปีถัดไป
ย่อยาว
โจทก์ฟ้องว่า เจ้าพนักงานประเมินของจำเลยประเมินเรียกเก็บภาษีเงินได้นิติบุคคลสำหรับรอบระยะเวลาบัญชีปี พ.ศ.๒๕๒๐ – พ.ศ.๒๕๒๑ โดยอ้างว่าโจทก์นำสมุดบัญชีและเอกสารประกอบการลงบัญชีส่งให้เจ้าพนักงานทำการตรวจสอบไม่ครบถ้วน โจทก์ต้องรับผิดเสียภาษีในอัตราร้อยละ ๕ ของยอดรายรับก่อนหักรายจ่ายใด ๆ ตามที่บัญญัติไว้ในมาตรา ๗๑ (๑) แห่งประมวลรัษฎากร และในการประเมินเจ้าพนักงานประเมินได้เอาค่าส่วนลดประกันภัยต่อที่โจทก์ได้รับในปี ๒๕๒๐ และ ๒๕๒๑ ซึ่งผู้รับประกันภัยต่อได้เสียภาษีตามมาตรา ๗๙ (๔) (ข) แล้วรวมเข้าเป็นรายรับของโจทก์ และได้นำเอาดอกเบี้ยและเงินปันผล รายได้ค่าเช่า กำไรจากการจำหน่ายทรัพย์สิน และรายได้เบ็ดเตล็ดในปี ๒๕๒๐ และ ๒๕๒๑ ของโจทก์มารวมเป็นรายรับเป็นการประเมินที่ไม่ชอบเพราะเงินดังกล่าวเป็นรายรับจากการค้า และการที่เจ้าพนักงานประเมินนำเงินสำรองตามมาตรา ๖๕ ตรี (๑) (ข) ของปี ๒๕๑๙ มารวมคำนวณให้โจทก์เสียภาษีเงินได้นิติบุคคลในปี ๒๕๒๐ ก็เป็นการไม่ชอบ โจทก์อุทธรณ์ต่อคณะกรรมการพิจารณาอุทธรณ์แล้ว คณะกรรมการดังกล่าวให้ยกอุทธรณ์โจทก์ ขอให้เพิกถอนการประเมินตามหนังสือแจ้งการประเมินภาษีเงินได้นิติบุคคลและคำวินิจฉัยอุทธรณ์ดังกล่าว
จำเลยให้การว่า เจ้าพนักงานประเมินตรวจแบบและแสดงรายการเสียภาษีสำหรับรอบระยะเวลาบัญชีปี พ.ศ.๒๕๒๐ – พ.ศ.๒๕๒๑ แล้ว เชื่อว่าโจทก์ยื่นแบบแสดงรายการเสียภาษีไว้ไม่ถูกต้อง จึงออกหมายเรียกให้โจทก์มาพบและส่งบัญชีเอกสารต่าง ๆ เพื่อตรวจสอบโจทก์ได้จัดส่งเอกสารบางส่วนเกี่ยวกับรายจ่ายเป็นส่วนใหญ่แก่เจ้าพนักงาน ส่วนด้านรายรับไม่สามารถจัดส่งเอกสารได้ เจ้าพนักงานประเมินอาศัยอำนาจตามมาตรา ๗๑ (๑) ประเมินให้โจทก์เสียภาษีเงินได้ในอัตราร้อยละ ๕ ของยอดรายรับก่อนหักรายจ่ายใด ๆ เป็นเงินภาษี๓,๑๐๗,๘๖๗.๓๕ บาท โจทก์ยื่นอุทธรณ์ และคณะกรรมการพิจารณาอุทธรณ์วินิจฉัยให้ยกอุทธรณ์ของโจทก์ การประเมินและคำวินิจฉัยอุทธรณ์ดังกล่าวชอบด้วยกฎหมายแล้ว ขอให้ยกฟ้อง
ศาลภาษีอากรกลางพิพากษายกฟ้องโจทก์
โจทก์อุทธรณ์ต่อศาลฎีกา
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า ในปัญหาข้อแรกโจทก์อุทธรณ์ว่าเงินส่วนลดประกันภัยต่อนั้นผู้รับประกันภัยต่อได้เสียภาษีไปแล้ว โจทก์จึงไม่มีหน้าที่ต้องเสียภาษีในเงินส่วนนี้อีก เห็นว่าตามประมวลรัษฎากร มาตรา ๖๕ เงินได้ที่จะต้องนำมาคำนวณเสียภาษีเงินได้นิติบุคคลจะต้องเป็นเงินได้ที่ได้จากกิจการหรือเนื่องจากกิจการที่กระทำในรอบระยะเวลาบัญชีของนิติบุคคลนั้นข้อเท็จจริงฟังได้ตามที่โจทก์นำสืบว่า เมื่อได้รับเบี้ยประกันภัยจากผู้เอาประกันแล้ว โจทก์จะนำเบี้ยประกันภัยนี้ไปจ่ายเป็นค่าเบี้ยประกันภัยต่อกับบริษัทประกันภัยอื่นทั้งในประเทศและต่างประเทศเพื่อบรรเทาความเสียหายในกรณีที่ต้องชำระเงินตามกรมธรรม์ประกันภัย ในการนี้โจทก์จะได้รับส่วนลดหรือค่านายหน้าจากบริษัทที่รับประกันภัยต่อ และโจทก์ได้นำส่วนลดดังกล่าวมาบันทึกเป็นรายได้ในกิจการของโจทก์ด้วย เงินส่วนลดในการประกันภัยต่อที่โจทก์ได้รับจึงเป็นเงินได้หรือรายรับที่โจทก์ได้รับเนื่องจากการประกอบกิจการในรอบระยะเวลาบัญชีที่ต้องนำมารวมคำนวณเพื่อเสียภาษีเงินได้นิติบุคคลด้วย แม้เงินจำนวนดังกล่าวผู้รับประกันภัยต่อจะได้นำไปคำนวณเสียภาษีเงินได้นิติบุคคลไว้แล้วก็ไม่อาจถือได้ว่าเป็นการเก็บภาษีซ้ำซ้อนตามที่โจทก์อ้าง เพราะเป็นคนละนิติบุคคลกัน ที่โจทก์อ้างว่าเงินดังกล่าวไม่ใช่รายรับของโจทก์ตามประมวลรัษฎากร มาตรา ๗๙ (๔) (ข)นั้น ศาลฎีกาเห็นว่า บทบัญญัติดังกล่าวเป็นเรื่องของภาษีการค้าไม่อาจนำมาใช้ในกรณีของภาษีเงินได้นิติบุคคลซึ่งมีบทบัญญัติไว้โดยเฉพาะได้ ดังนั้น เจ้าพนักงานประเมินนำเงินส่วนลดในการประกันภัยต่อที่โจทก์ได้รับมารวมคำนวณเรียกเก็บภาษีเงินได้นิติบุคคลจึงเป็นการชอบแล้ว
ในปัญหาข้อสอง ค่าสินไหมรับคืนอัคคีภัย ค่าสินไหมรับคืนรถยนต์กับค่าสำรวจรายงานอัคคีภัยเป็นรายรับของโจทก์ซึ่งเจ้าพนักงานประเมินจะนำมาคำนวณภาษีได้หรือไม่นั้นเห็นว่า โจทก์บรรยายฟ้องว่าจำเลยนำดอกเบี้ยและเงินปันผลรับ รายได้ค่าเช่าและกำไรจากการจำหน่ายทรัพย์สิน รวมทั้งรายได้เบ็ดเตล็ดมารวมเป็นรายรับเป็นการประเมินที่ไม่ชอบโดยมิได้กล่าวถึงเงินได้ทั้งสามรายการดังกล่าวข้างต้น ทั้งโจทก์จำเลยยังนำสืบรับกันว่าเงินได้ทั้งสามรายการดังกล่าว จำเลยเคยถือว่าเป็นรายรับของโจทก์ แต่เมื่อนายกำธร กรรมการรองผู้อำนวยการของโจทก์มาโต้แย้ง จำเลยได้ปรับปรุงยอดรายรับของโจทก์ใหม่โดยไม่ถือว่ารายการทั้งสามดังกล่าวเป็นรายรับของโจทก์อีกด้วย อุทธรณ์โจทก์ข้อนี้จึงเป็นเรื่องนอกฟ้องศาลฎีกาไม่รับวินิจฉัยให้
ในปัญหาข้อสามเกี่ยวกับเงินสำรองเบี้ยประกันภัยสำหรับรอบระยะเวลาบัญชีปี พ.ศ.๒๕๑๙ จะต้องถือเป็นรายได้ของรอบระยะเวลาบัญชีปี พ.ศ.๒๕๒๐ หรือไม่นั้นโจทก์อุทธรณ์ว่า เงินจำนวนนั้นศาลภาษีอากรกลางได้พิพากษาให้หักเป็นค่าใช้จ่ายได้สำหรับรอบระยะเวลาบัญชีปี พ.ศ.๒๕๑๙ แสดงให้เห็นว่าโจทก์ยังมิได้เสียภาษีสำหรับเงินจำนวนดังกล่าวและเกี่ยวกับเรื่องนี้ต้องบังคับตามประมวลรัษฎากร มาตรา ๖๕ ตรี (๑) (ข)ซึ่งบัญญัติไว้ว่า “เงินสำรองจากเบี้ยประกันภัยเพื่อสมทบทุนประกันภัยอื่นที่กันไว้ก่อนคำนวณกำไร เฉพาะส่วนที่ไม่เกินร้อยละ ๔๐ ของจำนวนเบี้ยประกันภัยที่ได้รับในรอบระยะเวลาบัญชี หลังจากหักเบี้ยประกันภัยซึ่งเอาประกันต่อออกแล้ว และเงินสำรองที่กันไว้นี้จะต้องถือเป็นรายได้ในการคำนวณกำไรสุทธิ เพื่อเสียภาษีในรอบระยะเวลาบัญชีปีถัดไป” โจทก์จำเลยมิได้โต้เถียงกันในเรื่องการหักเป็นค่าใช้จ่าย คงโต้แย้งกันเพียงว่า เงินจำนวน๑๐,๖๔๒,๑๖๐.๑๔ บาท ที่พิพาทกันซึ่งเป็นเงินสำรองที่กันไว้สำหรับรอบระยะเวลาบัญชีปีพ.ศ.๒๕๑๙ และโจทก์ได้นำไปหักเป็นรายจ่ายในรอบระยะเวลาบัญชีดังกล่าวแล้วจะต้องถือเป็นรายได้ของรอบระยะเวลาบัญชีปี พ.ศ.๒๕๒๐ หรือไม่ เมื่อพิจารณาถึงบทบัญญัติดังกล่าวซึ่งระบุไว้ชัดว่า เงินสำรองที่กันไว้นี้จะต้องถือเป็นรายได้ในการคำนวณกำไรสุทธิเพื่อเสียภาษีในรอบระยะเวลาบัญชีปีถัดไปแล้ว การที่เจ้าพนักงานประเมินทำการประเมินโดยถือหลักเกณฑ์ตามบทบัญญัติดังกล่าวจึงเป็นการชอบแล้ว
พิพากษายืน.