คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 1941/2544

แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา

ย่อสั้น

จำเลยที่ 1 ขับรถโดยประมาทเป็นเหตุให้จำเลยที่ 2 ได้รับอันตรายแก่กาย และรถทั้งสองคันเสียหาย จำเลยที่ 2 ศีรษะแตกยาว 3 เซนติเมตร รวม 4 แผล กับกระดูกเข่าซ้ายแตกใช้เวลารักษาหายภายใน 1 เดือนเป็นอย่างน้อย จำเลยที่ 2 มีโอกาสหายเป็นปกติได้แต่ใช้เวลาหลายปี จำเลยที่ 2 มาเบิกความ จำเลยที่ 2 ยังไม่หายดี เดินกระเผลก แสดงว่าจำเลยที่ 2 ป่วยเจ็บด้วยอาการทุกขเวทนาและจนประกอบกรณียกิจตามปกติไม่ได้เกินกว่า 20 วัน กับส่วนการตรวจชันสูตรบาดแผลของแพทย์ระบุว่ารักษาประมาณ 1 เดือนหาย เป็นเพียงความเห็นเบื้องต้นของแพทย์ผู้ตรวจรักษาจำเลยที่ 2 เท่านั้น จะฟังเป็นยุติหาได้ไม่ ต้องฟังพยานหลักฐานอื่นในสำนวนด้วย
แม้พนักงานสอบสวนเปรียบเทียบปรับจำเลยที่ 2 ข้อหาขับรถประมาทไปแล้ว ก็เป็นเหตุส่วนตัวของจำเลยที่ 2 หาได้ทำให้คดีของจำเลยที่ 1 เลิกกันตาม ป.วิ.อ. มาตรา 37 ไม่ และการที่จำเลยที่ 1 ทำสัญญาประนีประนอมยอมความกับจำเลยที่ 2 ยอมชดใช้ค่าเสียหายแก่จำเลยที่ 2 ก็มิได้ทำให้สิทธินำคดีนี้ซึ่งมิใช่ความผิดต่อส่วนตัวมาฟ้องระงับไป ตาม ป.วิ.อ. มาตรา 39

ย่อยาว

โจทก์ฟ้องขอให้ลงโทษจำเลยทั้งสองตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา ๓๐๐ พระราชบัญญัติจราจรทางบก พ.ศ. ๒๕๒๒ มาตรา ๔๓ (๔), ๑๕๗
จำเลยทั้งสองให้การปฏิเสธ
ศาลชั้นต้นพิพากษาว่า จำเลยที่ ๑ มีความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา ๓๐๐ พระราชบัญญัติจราจรทางบก พ.ศ. ๒๕๒๒ มาตรา ๔๓ (๔), ๑๕๗ เป็นการกระทำกรรมเดียวผิดกฎหมายหลายบท ให้ลงโทษตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา ๓๐๐ ซึ่งเป็นบทที่มีโทษหนักที่สุดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา ๙๐ จำคุก ๒ ปี ส่วนจำเลยที่ ๒ ให้ยกฟ้อง
จำเลยที่ ๑ อุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์ภาค ๕ พิพากษายืน
จำเลยที่ ๑ ฎีกา โดยผู้พิพากษาซึ่งลงชื่อในคำพิพากษาศาลอุทธรณ์ภาค ๕ อนุญาตให้ฎีกาในปัญหาข้อเท็จจริง
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า ข้อเท็จจริงเบื้องต้นฟังได้ว่า ในวันเวลาและสถานที่เกิดเหตุตามฟ้อง จำเลยที่ ๒ ขับรถจักรยานยนต์หมายเลขทะเบียน พะเยา ท – ๐๐๙๕ เฉี่ยวชนรถยนต์หมายเลขทะเบียน ก – ๓๔๗๗ พะเยา ซึ่งจำเลยที่ ๑ เป็นผู้ขับ เป็นเหตุให้ รถทั้งสองคันได้รับความเสียหายและจำเลยที่ ๒ ได้รับอันตรายแก่กาย …
ปัญหาที่ว่าจำเลยที่ ๒ ได้รับอันตรายสาหัสหรือไม่นั้นโจทก์มีนายแพทย์ประพัฒน์ ชัชวรัตน์ เบิกความว่า จำเลยที่ ๒ ศีรษะแตกยาว ๓ เซนติเมตร รวม ๔ แผล กับกระดูกเข่าซ้ายแตกใช้เวลารักษาหายภายใน ๑ เดือนเป็นอย่างน้อยและตอบคำถามค้านของทนายจำเลยที่ ๒ ว่า จำเลยที่ ๒ มีโอกาสหายเป็นปกติได้แต่ใช้เวลาหลายปี ซึ่งจำเลยที่ ๒ ก็เบิกความว่า ปัจจุบันจำเลยที่ ๒ ยังไม่หายดีเดินกระเผลก แสดงว่าจำเลยที่ ๒ ป่วยเจ็บด้วยอาการทุกขเวทนาและ จนประกอบกรณียกิจตามปกติไม่ได้เกินกว่า ๒๐ วัน ที่จำเลยที่ ๑ ฎีกาว่า ตามผลการตรวจชันสูตรบาดแผลของแพทย์ระบุว่ารักษาประมาณ ๑ เดือนหาย ต้องฟังข้อเท็จจริงตามเอกสารดังกล่าวนั้น เห็นว่า ข้อความดังกล่าวเป็นเพียง ความเห็นเบื้องต้นของนายแพทย์ประพัฒน์ผู้ตรวจรักษาจำเลยที่ ๒ เท่านั้น จะฟังเป็นยุติได้ไม่ ต้องฟังพยานหลักฐานอื่นในสำนวนด้วย ซึ่งศาลฎีกาพิจารณาพยานหลักฐานทั้งหมดแล้วเชื่อว่าจำเลยที่ ๒ ได้รับอันตรายสาหัสป่วยเจ็บด้วยอาการทุกขเวทนาและจนประกอบกรณียกิจตามปกติไม่ได้เกินกว่า ๒๐ วัน
ปัญหาที่ต้องวินิจฉัยตามฎีกาของจำเลยที่ ๑ ข้อต่อไปมีว่าคดีของจำเลยที่ ๑ เลิกกันตามประมวลกฎหมาย วิธีพิจารณาความอาญา มาตรา ๓๗ และสิทธินำคดีมาฟ้องจำเลยที่ ๑ ระงับไปตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา ๓๙ หรือไม่ จำเลยที่ ๑ ฎีกาปัญหาข้อนี้ว่า พนักงานสอบสวนเปรียบเทียบปรับจำเลยที่ ๒ ข้อหาขับรถประมาท ไปแล้ว จึงถือว่าคดีอาญาเลิกกันตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา ๓๗ และจำเลยที่ ๑ ได้ทำสัญญาประนีประนอมยอมความกับจำเลยที่ ๒ เรื่องค่าเสียหายแล้ว สิทธินำคดีอาญาของโจทก์มาฟ้องย่อมระงับไปตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา ๓๙ เห็นว่า แม้จะฟังว่าพนักงานสอบสวนเปรียบเทียบปรับจำเลยที่ ๒ ดังกล่าวจริง ก็เป็นเหตุส่วนตัวของจำเลยที่ ๒ หาได้ทำให้คดีของจำเลยที่ ๑ เลิกกันตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา ๓๗ ไม่ และการที่จำเลยที่ ๑ ทำสัญญาประนีประนอมยอมความกับจำเลยที่ ๒ ยอมชดใช้ค่าเสียหายแก่จำเลยที่ ๒ ก็มิได้ทำให้สิทธินำคดีนี้ซึ่งมิใช่ความผิดต่อส่วนตัวมาฟ้องระงับไปตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา ๓๙ แต่ประการใด
พิพากษาแก้เป็นว่า ให้ลงโทษปรับ ๖,๐๐๐ บาท อีกสถานหนึ่งโทษจำคุกให้รอการลงโทษไว้ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา ๕๖ มีกำหนด ๒ ปี ไม่ชำระค่าปรับจัดการตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา ๒๙, ๓๐ นอกจาก ที่แก้ให้เป็นไปตามคำพิพากษาศาลอุทธรณ์ภาค ๕ .

Share