คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 1230/2510

แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา

ย่อสั้น

โจทก์บรรยายฟ้องว่า จำเลยที่ 1 เป็นตำรวจประจำสถานีตำรวจทุ่งวัง อำเภอเมืองสงขลา จำเลยที่ 2 เป็นผู้คุมเรือนจำประจำเรือนจำเขตสงขลา ได้ร่วมกันใช้อำนาจในตำแหน่งโดยมิชอบ ข่มขืนใจเพื่อให้ผู้อื่นมอบเงินให้ อันเป็นผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 148, 157, 337 และ 83 นั้น เมื่อข้อเท็จจริงฟังได้ว่าจำเลยทั้งสองกระทำผิดจริง ก็ลงโทษจำเลยที่ 2 ในฐานะเป็นผู้สนับสนุนเท่านั้น เพราะแม้จำเลยที่ 2 เป็นพลตำรวจ แต่โจทก์มิได้ระบุในฟ้องว่าเป็นเจ้าพนักงานตำรวจ จำเลยที่ 2 จึงมิใช่ตำรวจผู้มีอำนาจหน้าที่จับกุมผู้กระทำผิดโดยทั่ว ๆ ไป

ย่อยาว

คดีนี้ โจทก์ฟ้องว่าจำเลยทั้งสองกับพลตำรวจอรุณซึ่งยังหลบหนีไม่ได้ตัวมาฟ้องต่างเป็นเจ้าพนักงานตามกฎหมาย โดยจำเลยที่ ๑ เป็นตำรวจประจำสถานีตำรวจทุ่งวัง อำเภอเมืองสงขลา จำเลยที่ ๒ เป็นผู้คุมเรือนจำชั้นสองประจำเรือนจำเขตสงขลาได้ร่วมกันใช้อำนาจในตำแหน่งโดยมิชอบ ข่มขืนใจเพื่อให้นายชอต๋วย แซ่ลิ่ม มอบเงินให้แก่จำเลยกับพวก โดยจำเลยกับพวกใช้วาจาขู่เข็ญข่มขืนใจว่าจะจับกุมนายชอต๋วยฐานเล่นการพนันสลากกินรวมไม่รับอนุญาต จนนายชอต๋วยจำต้องยอมส่งมอบเงิน ๕๐๐ บาทให้แก่จำเลยกับพวกไป ขอให้ลงโทษจำเลยตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา ๑๔๘, ๑๕๗, ๓๓๗ และ ๘๓
จำเลยทั้งสองให้การปฏิเสธ
ศาลชั้นต้นวินิจฉัยว่า จำเลยทั้งสองได้ไปตรวจค้นบ้านผู้เสียหายแล้วเรียกเอาเงินจริง พิพากษาว่าจำเลยที่ ๑ เป็นตำรวจประจำการจึงมีความผิดฐานใช้อำนาจในตำแหน่งโดยมิชอบ และผิดฐานกรรโชก ส่วนจำเลยที่ ๒ เป็นผู้คุมเรือนจำ ไม่มีอำนาจหน้าที่จับกุมผู้กระทำผิดโดยทั่วไป จึงเป็นเพียงผู้สนับสนุนเท่านั้น จำเลยที่ ๒ จึงมีความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา ๑๔๘ ประกอบด้วยมาตรา ๘๖ มาตรา ๓๓๗, ๘๓ ลงโทษจำคุกจำเลยที่ ๑ มีกำหนด ๑๐ ปี จำเลยที่ ๒ มีกำหนด ๖ ปี ๘ เดือน
จำเลยทั้งสองอุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์ฟังข้อเท็จจริงว่า จำเลยทั้งสองได้ทำผิดดุจดังความเห็นของศาลชั้นต้น แต่เห็นว่าจำเลยที่ ๒ มีฐานะเป็นเจ้าพนักงานใช้อำนาจในตำแหน่งโดยมิชอบเช่นเดียวกับโทษของจำเลยที่ ๑ พิพากษาแก้คำพิพากษาศาลชั้นต้นเป็นว่า จำเลยที่ ๑ ที่ ๒ มีความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา ๑๔๘, ๓๓๗, ๘๓ ให้ลงโทษจำเลยทั้งสองตามมาตรา ๑๔๘ ซึ่งเป็นบทหนักตามประมวลกฎหมายอาญามาตรา ๙๐ จำคุกจำเลยทั้งสองไว้คนละ ๕ ปี
จำเลยฎีกาขอให้ยกฟ้อง
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า ที่ศาลชั้นต้นและศาลอุทธรณ์ฟังข้อเท็จจริงต้องกันมาว่าจำเลยกับพวกได้ร่วมกันกระทำความผิด ชอบแล้ว แต่ที่ศาลอุทธรณ์พิพากษาปรับบทลงโทษจำเลยที่ ๒ ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา ๑๔๘, ๘๓ นั้น ศาลฎีกาไม่เห็นพ้องด้วย เพราะจำเลยที่ ๒ มีตำแหน่งหน้าที่ตามฟ้องโจทก์ว่าเป็นผู้คุมชั้นสองประจำเรือนจำเขตสงขลา โจทก์มิได้ระบุในฟ้องว่า จำเลยที่ ๒ เป็นเจ้าพนักงานตำรวจ ตำแหน่งหน้าที่ของจำเลยจึงเป็นตำแหน่งหน้าที่ทางกรมราชทัณฑ์ มิใช่ตำรวจผู้มีอำนาจหน้าที่จับกุมผู้กระทำผิดโดยทั่ว ๆ ไป การที่จำเลยที่ ๒ ร่วมกระทำผิดกับจำเลยที่ ๑ จึงมิใช่การใช้อำนาจในตำแหน่งหน้าที่โดยมิชอบ หากเป็นการสนับสนุนช่วยเหลือและให้ความสะดวกแก่จำเลยที่ ๑ ผู้เป็นเจ้าพนักงานตำรวจกระทำความผิดเท่านั้น จำเลยที่ ๒ จึงมีความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา ๑๔๘, ๘๖ พิพากษาแก้เป็นว่าจำเลยที่ ๒ มีความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา ๑๔๘, ๘๖ มาตรา ๓๓๗, ๘๓ ให้ลงโทษตามมาตรา ๑๔๘, ๘๖ อันเป็นบทหนักตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา ๙๐ ให้จำคุกจำเลยที่ ๒ ไว้มีกำหนด ๓ ปี ๔ เดือน นอกจากที่แก้คงให้เป็นไปตามคำพิพากษาของศาลอุทธรณ์.

Share