คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 149/2518

แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา

ย่อสั้น

เจ้ามรดกทำใบมอบพินัยกรรมมีข้อความว่า “ข้าพเจ้านาย ผ… ได้ยอมทำพินัยกรรมของข้าพเจ้าทั้งหมด คือ 1. นา 1 แปลง …… 2. สวน 1 แปลง…… 3. เรือน 1 หลัง….. 4. วัว 2 ตัว….. ข้าพเจ้าขอมอบให้นายเซ่ม แทนน้อย ไว้รักษาเพื่อให้บุตรหลานต่อไป….” เช่นนี้ เมื่อ ผ.เจ้ามรดกไม่มีบุตร คำว่าหลาน จึงหมายถึงลูกของโจทก์จำเลยที่มีชีวิตอยู่ทุกคน อันเป็นการกำหนดบุคคลซึ่งอาจทราบตัวแน่นอนได้ ข้อกำหนดในใบมอบพินัยกรรมดังกล่าวจึงไม่เป็นโมฆะตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 1706(2) (อ้างฎีกา 941/2516)
เมื่อศาลชั้นต้นยังไม่ได้วินิจฉัยประเด็นที่ว่าเจ้ามรดกได้แสดงเจตนาทำพินัยกรรมหรือไม่จึงยังชี้ขาดไม่ได้ว่าผู้ใด จะมีสิทธิได้รับมรดกของเจ้ามรดกหรือไม่ ศาลฎีกาย้อนสำนวนให้ศาลชั้นต้นวินิจฉัยประเด็นดังกล่าวและพิพากษาคดีใหม่ได้

ย่อยาว

โจทก์ฟ้องว่าโจทก์จำเลยและนางผางเป็นพี่น้องร่วมบิดามารดาเดียวกัน นายผางเป็นโสดเมื่อนางผางตาย จำเลยไปขอรับมรดกของนางผางอ้างว่ามีพินัยกรรม โจทก์คัดค้านว่าขณะนายผางทำพินัยกรรม นายผางป่วยหนักพูดไม่ได้ขาดสติสัมปชัญญะ พินัยกรรมของนายผางจึงไม่มีผลบังคับตามกฎหมาย ขอให้ศาลพิพากษาแบ่งมรดกของนายผางให้โจทก์ครึ่งหนึ่ง ถ้าจำเลยไม่ยอมแบ่งก็ให้เอาทรัพย์มรดกขายทอดตลาดเอาเงินแบ่งปันกัน
จำเลยให้การว่า นายผางมีเจตนาทำพินัยกรรมมอบทรัพย์มรดกให้นายเซ่มสามีจำเลยเป็นผู้รับมอบไว้ให้บุตรหลาน พินัยกรรมมีผลบังคับตามกฎหมายโจทก์ไม่มีสิทธิฟ้องขอแบ่ง
ศาลชั้นต้นวินิจฉัยว่าใบมอบพินัยกรรมมิได้กำหนดการเผื่อตายในเรื่องทรัพย์สินของนายผางอันจะให้เกิดเป็นผลบังคับได้ตามกฎหมายเมื่อตนตาย จึงถือไม่ได้ว่าเป็นพินัยกรรมตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา ๑๖๔๖ เมื่อมิได้กำหนดระบุบุคคลที่ทราบตัวแน่นอนเป็นผู้รับทรัพย์มรดกก็ย่อมเป็นโมฆะตามประมวลกฎหมายแพ่งและ พาณิชย์ มาตรา ๑๗๐๖ ไม่จำเป็นต้องวินิจฉัยถึงความสามารถของนายผางในขณะที่ทำพินัยกรรม พิพากษาว่าโจทก์มีสิทธิได้ทรัพย์ตามฟ้องครึ่งหนึ่ง ให้จำเลยแบ่งหรือขายทอดตลาดเอาเงินแบ่งกันฝ่ายละครึ่ง ค่าฤชาธรรมเนียมและค่าทนายความเป็นพับ
จำเลยอุทธรณ์ ศาลอุทธรณ์พิพากษายืน
จำเลยฎีกา
ศาลฎีกาฟังข้อเท็จจริงว่าโจทก์จำเลยและนายผางเป็นบุตรนายลีนางพาร่วมบิดามารดาเดียวกัน โจทก์และจำเลยต่างมีบุตรคนละหลายคน นายผางไม่มีภรรยาและบุตร ก่อนนายผางตายนายผางได้ทำใบมอบพินัยกรรมไว้และวินิจฉัยว่าใบมอบพินัยกรรมมีข้อความว่า “ข้าพเจ้านายผาง…..ได้ยอมทำพินัยกรรมของข้าพเจ้าทั้งหมด คือ ๑. นา ๑ แปลง….. ๒. สวน ๑ แปลง….. ๓. เรือน ๑ หลัง…… ๔. วัว ๒ ตัว…… ข้าพเจ้าขอมอบให้นายเซ่ม แทนน้อย ไว้รักษาเพื่อให้บุตรหลานต่อไป……” เช่นนี้เห็นว่าเมื่อนายผางเจ้ามรดกไม่มีบุตร คำว่าหลานตามใบมอบพินัยกรรมเอกสารหมาย จ.ล.๑ จึงหมายถึงลูกของโจทก์จำเลยที่มีชีวิตอยู่ทุกคน อันเป็นการกำหนดบุคคลซึ่งอาจทราบตัวแน่นอนได้ ข้อกำหนดในใบมอบพินัยกรรมเอกสารหมาย จ.ล.๑ จึงไม่เป็นโมฆะตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์มาตรา ๑๗๐๖(๒) เทียบคำพิพากษาฎีกาที่ ๙๔๑/๒๕๑๖ แต่เมื่อศาลชั้นต้นยังไม่ได้วินิจฉัยประเด็นที่ว่านายผางได้แสดงเจตนาทำพินัยกรรมเอกสารหมาย จ.ล.๑ หรือไม่ ยังชี้ขาดไม่ได้ว่าผู้ใดจะมีสิทธิจะได้รับมรดกของนายผางบ้าง
พิพากษายกคำพิพากษาศาลอุทธรณ์ ให้ศาลชั้นต้นวินิจฉัยประเด็นดังกล่าวและพิพากษาใหม่

Share