คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 227/2513

แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา

ย่อสั้น

การที่จำเลยสมคบกันปลอมพินัยกรรมขึ้น แล้วนำพินัยกรรมปลอมไปใช้ ย่อมทำให้โจทก์ซึ่งเป็นผู้รับพินัยกรรมฉบับที่แท้จริงได้รับความเสียหาย โจทก์จึงเป็นผู้เสียหายตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา ย่อมมีอำนาจฟ้องจำเลยได้
ในชั้นแรก แม้จะได้ฟ้องบุคคลใดบุคคลหนึ่งเป็นจำเลยร่วมกับจำเลยอื่นไว้ แต่โจทก์ได้ถอนฟ้องคนเหล่านี้ไปก่อนที่จะลงมือสืบพยานโจทก์ ขณะที่เบิกความเป็นพยานโจทก์ บุคคลดังกล่าวไม่ได้อยู่ในฐานะเป็นจำเลย กรณีไม่ต้องด้วยประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 232
โจทก์บรรยายฟ้องว่า จำเลยร่วมกันปลอมแปลงพินัยกรรมเอกสารฝ่ายเมือง แต่ทางพิจารณาปรากฏว่าพินัยกรรมฉบับแท้จริงไม่ได้กระทำโดยกรมการอำเภอ ตามกฎหมายพินัยกรรมนั้น จึงไม่ใช่เป็นเอกสารฝ่ายเมือง ก็เป็นข้อแตกต่างที่ไม่ใช่สารสำคัญ ศาลจะยกฟ้องของโจทก์ตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 192 วรรค 2 หาได้ไม่

ย่อยาว

โจทก์ฟ้องว่า จำเลยที่ ๑ เป็นปลัดอำเภอ จำเลยที่ ๒ – ๓ เป็นเสมียนมหาดไทย จำเลยสามคนนี้มีหน้าที่เกี่ยวกับการจัดทำพินัยกรรมแบบเอกสารฝ่ายเมือง จำเลยทั้ง ๘ ได้สมคบกันทำความผิด คือ ได้ร่วมกันปลอมแปลงพินัยกรรมแบบเอกสารฝ่ายเมืองของนายโท มาดี มีข้อความว่า นายโท มาดี ได้ทำพินัยกรรมยกที่นาให้จำเลยที่ ๖ และที่ ๗ คนละแปลง ยกที่อยู่อาศัยพร้อมกับเรือนหนึ่งหลังให้นายอำพร โจทก์ที่ ๒ และระบุให้จำเลยที่ ๘ เป็นผู้จัดการมรดกตามพินัยกรรมนั้น จำเลยทั้งแปดได้สมคบกันลงลายมือชื่อนายโท มาดี ในพินัยกรรม อันเป็นลายมือปลอม จำเลยที่ ๑ ใช้ดวงตราและรอยตราประทับลงในพินัยกรรม ความจริงนายโท มาดี ได้ทำพินัยกรรมยกที่นาให้โจทก์ที่ ๑ หนึ่งแปลง ยกที่นาอีกแปลงหนึ่งให้โจทก์ที่ ๑ และที่ ๒ คนละครึ่ง ยกที่อยู่อาศัยพร้อมด้วยเรือนหนึ่งหลังให้แก่โจทก์ที่ ๒ และระบุให้นายแก้ว พิมพ์กุล เป็นผู้จัดการมรดก พินัยกรรมฉบับที่แท้จริงนี้ นายโท มาดี ได้มอบให้จำเลยที่ ๒ นำไปกรอกข้อความลงในสมุดทะเบียนพินัยกรรมของอำเภอและให้จำเลยที่ ๑ – ๒ – ๓ ดูแลรักษาตามหน้าที่ ต่อมาจำเลยทั้งแปดได้สมคบกันทำลาย ทำให้สูญหายซึ่งพินัยกรรมฉบับที่แท้จริง
แล้วจำเลยทั้งแปดได้สมคบกันปลอมทะเบียนพินัยกรรม โดยตัดข้อความและขีดฆ่าทะเบียนพินัยกรรมที่ระบุให้นายแก้ว พิมพ์กุล เป็นผู้จัดการมรดกออก เติมชื่อจำเลยที่ ๘ เป็นผู้จัดการมรดกแทน แล้วจำเลยที่ ๑ ได้เซ็นชื่อกำกับข้อความที่ขีดฆ่านั้น จำเลยทั้งแปดได้นำพินัยกรรมปลอมไปอ้างและใช้ประกาศรับมรดกของนายโท มาดีต่อเจ้าพนักงาน โดยจำเลยทั้งแปดรู้ว่าเป็นพินัยกรรมปลอม ขอให้ลงโทษจำเลย
ก่อนไต่สวนมูลฟ้อง โจทก์ยื่นคำร้องขอถอนฟ้องจำเลยที่ ๘ ศาลอนุญาต
ก่อนเริ่มสืบพยานโจทก์ โจทก์ยื่นคำร้องขอถอนฟ้องจำเลยที่ ๑ ที่ ๒ ที่ ๓ ที่ ๔ และที่ ๕ จำเลยทั้งห้าไม่คัดค้าน ศาลชั้นต้นอนุญาต
จำเลยที่ ๖ ที่ ๗ ให้การปฏิเสธ
ศาลชั้นต้นพิพากษาว่า จำเลยที่ ๖ – ๗ มีความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา ๒๖๔, ๒๖๖ (๒), ๒๖๘, ๘๓ แต่ให้ลงโทษจำเลยฐานใช้และอ้างพินัยกรรมปลอมตามมาตรา ๒๖๘ วรรค ๒ กระทงเดียว จำคุกคนละ ๔ ปี
จำเลยที่ ๖ – ๗ อุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์พิพากษายืน
จำเลยที่ ๖ – ๗ ฎีกาปัญหาข้อกฎหมายรวม ๔ ข้อ ศาลฎีกาวินิจฉัยปัญหาข้อกฎหมายตามลำดับ ดังนี้
(๑) การที่จำเลยสมคบกันปลอมพินัยกรรมขึ้นแล้วนำพินัยกรรมปลอมไปใช้ ย่อมทำให้โจทก์ซึ่งเป็นผู้รับพินัยกรรมฉบับที่แท้จริงได้รับความเสียหาย โจทก์จึงเป็นผู้เสียหายตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา ๒ (๔) และตามมาตรา ๒๘ ย่อมมีอำนาจฟ้องจำเลยได้
(๒) โจทก์ได้ยื่นฟ้องนายแสวง นายชัยวัฒน์และจ่าสิบตำรวจบุญเกิดเป็นจำเลยต่อมาได้ถอนฟ้องเสียก่อนสืบพยานโจทก์ ขณะที่บุคคลทั้งสามนี้เบิกความเป็นพยานโจทก์ ทั้งสามคนไม่ได้อยู่ในฐานะเป็นจำเลย กรณีจึงไม่ต้องด้วยประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา ๒๓๒
(๓) ฟ้องของโจทก์ไม่เคลือบคลุม
(๔) โจทก์บรรยายฟ้องว่า จำเลยร่วมกันปลอมแปลงพินัยกรรมเอกสารฝ่ายเมืองของนายโท มาดี แต่ทางพิจารณาปรากฏว่าพินัยกรรมฉบับที่แท้จริงของนายโทไม่ได้กระทำโดยกรมการอำเภอตามกฎหมายแม่พินัยกรรมของนายโทฉบับที่แท้จริงจะไม่ใช่แบบเอกสารฝ่ายเมือง ก็เป็นข้อแตกต่างที่ไม่ใช่สารสำคัญ ศาลจะยกฟ้องของโจทก์ตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา ๑๙๒ วรรค ๒ หาได้ไม่
พิพากษายืน

Share