แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา
ย่อสั้น
การที่จำเลยซึ่งเป็นพระภิกษุแสดงตนเป็นโจทก์ขึ้นในที่ประชุมสงฆ์เมื่อมีพระภิกษุต้องหาว่าประพฤติผิดพระวินัย เป็นการปฏิบัติตามพระธรรมวินัยโดยมีมูลให้จำเลยเชื่อโดยสุจริตใจ ไม่ใช่กระทำเพื่อกลั่นแกล้งใส่ความโดยไม่มีมูลแล้วจำเลยย่อมได้รับความคุ้มครองตามมาตรา 329(1) ประมวลกฎหมายอาญายังไม่เป็นความผิดฐานหมิ่นประมาทใส่ความ
ย่อยาว
โจทก์ฟ้องว่าเมื่อวันที่ ๕ มิถุนายน ๒๕๐๙ เวลากลางวันจำเลยสมคบกันหมิ่นประมาทใส่ความโจทก์ โดยกล่าวหาว่าโจทก์ทำผิดพระวินัยสงฆ์เสพเมถุนธรรมกับหญิงซึ่งต้องด้วยอาบัติปฐมปาราชิก โดยจำเลยกล่าวในที่ประชุมสงฆ์ซึ่งมีภิกษุสามเณรร่วมประชุมในอุโบสถวัดอินทรวิหารประมาณ ๒๐ องค์ แล้วจำเลยที่ ๒ เป็นผู้ยื่นเอกสารบันทึกว่าโจทก์เสพเมถุนธรรมกับหญิงโดยจำเลยทั้งหมดกับสามเณรบุญปันเป็นผู้ร่วมลงนามรับรอง บันทึกนั้นและพระมหาพรหม ธัมมทินโน เป็นผู้อ่านบันทึกนั้นให้ที่ประชุมสงฆ์ฟัง การกระทำของจำเลยทำให้โจทก์เสียหรือน่าจะเสียชื่อเสียง ถูกดูหมิ่น ถูกเกลียดชัง ข้อความที่จำเลยกับพวกสมคบกันหมิ่นประมาทใส่ความโจทก์ไม่เป็นความจริง ทำให้โจทก์ถูกไล่ออกจากวัด เหตุเกิดที่วัดอินทรวิหาร ตำบลบางขุนพรหม อำเภอพระนคร จังหวัดพระนคร ขอให้ลงโทษตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา ๓๒๖, ๓๒๘, ๘๓
ศาลชั้นต้นไต่สวนมูลแล้วสั่งคดีมีมูลประทับฟ้อง
จำเลยทั้งหมดให้การปฏิเสธ
ศาลชั้นต้นพิจารณาแล้วเห็นว่าจะฟังว่าโจทก์เสพเมถุนกับหญิงยังไม่ได้จำเลยมิได้กลั่นแกล้งโจทก์ จำเลยกระทำโดยสุจริต เข้าลักษณะเป็นการแสดงความคิดเห็นหรือข้อความโดยสุจริตตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา ๓๒๙ (๑) จึงไม่ผิดฐานหมิ่นประมาทพิพากษายกฟ้อง
โจทก์อุทธรณ์โดยผู้พิพากษาศาลชั้นต้นอนุญาตให้อุทธรณ์ในปัญหาข้อเท็จจริง
ศาลอุทธรณ์เห็นว่าจำเลยกระทำโดยเจตนาไม่สุจริต จึงไม่เป็นการแสดงความคิดเห็นหรือข้อความโดยสุจริตตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา ๓๒๙(๑) พิพากษากลับว่าจำเลยมีความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา ๓๒๖ ปรับจำเลยรูปละ ๑๐๐ บาท
จำเลยทั้งหมดฎีกาว่าการกระทำของจำเลยเป็นการแสดงความคิดเห็นหรือข้อความโดยสุจริต เพื่อความชอบธรรมตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา ๓๒๙(๑)
ศาลฎีกาพิจารณาแล้วสำหรับข้อเท็จจริงว่าโจทก์เสพเมถุนกับหญิงหรือไม่ เป็นอันยุติว่าโจทก์มิได้เสพเมถุนกับหญิงปัญหามีเพียงว่าการกระทำของจำเลยเป็นการแสดงข้อความหรือความคิดเห็น โดยสุจริตเพื่อความชอบธรรมป้องกันตนหรือป้องกันส่วนได้เสียเกี่ยวกับตนตามคลองธรรม ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา ๓๒๙(๑) หรือไม่ เห็นว่าตามฟ้องโจทก์กล่าวหาว่าจำเลยได้กล่าวหมิ่นประมาทโจทก์ต่อหน้าที่ประชุมสงฆ์ในโบสถ์วัดอินทรวิหารว่า โจทก์ทำผิดวินัยสงฆ์โดยเสพเมถุนธรรมกับหญิงตามบันทึกเอกสารท้ายฟ้องที่จำเลยลงนามรับรองไว้ แต่ทางพิจารณาเป็นเรื่องที่เจ้าอาวาสได้รับบัตรสนเท่ห์กล่าวหาโจทก์ และเจ้าอาวาสได้ให้พระอ่านบัตรสนเท่ห์นั้นในที่ประชุมสงฆ์ฟังในโบสถ์แล้วได้สอบถามที่ประชุมว่ามีโจทก์หรือไม่ พระไพฑูรย์ว่ามี คือ พระจำเลยทั้ง ๑๑ รูปกับสามเณรบุญปันว่ารู้เห็นเหตุการณ์ตามบันทึกที่จำเลยที่ ๒ ส่งให้พระมหาพรหมอ่าน พฤติการณ์เช่นนี้เป็นเรื่องที่เจ้าอาวาสกับพระจำเลยกระทำตามพระธรรมวินัยด้วยการโจทก์ขึ้นท่ามกลางที่ประชุมสงฆ์ เมื่อมีภิกษุใดต้องหาว่ากระทำผิดพระวินัยและวันต่อมาเจ้าอาวาสได้ตั้งกรรมการสอบสวนโจทก์โดยเรียกโจทก์จำเลยทั้ง ๑๑ รูปไปให้การตามเอกสาร จ.๑๗ แล้วเจ้าอาวาสมีคำสั่งให้โจทก์ออกไปจากวัด ซึ่งโจทก์ก็ยอมขอผัดเวลาออกจากวัดตามคำสั่งของเจ้าอาวาสและคณะกรรมการสงฆ์ผู้ดูแลทรัพย์สินของวัด มีพระซึ่งเป็นกรรมการสอบสวนอยู่ด้วยแสดงว่าข้อกล่าวหาพอมีมูลในเรื่องที่หญิงมาให้โจทก์ดูหมอหรือพยากรณ์ที่กุฏิ โจทก์ตามลำพัง โจทก์ก็รับงว่าในการพยากรณ์บางคราวโจทก์อยู่กับผู้มาขอให้พยากรณ์สองต่อสองซึ่งอาจเป็นผู้หญิงก็ได้ ผู้ชายก็เคยและรับว่าภิกษุนั่งกับหญิงในที่ลับตาหรือลับหูสองต่อสองนั้นต้องอาบัติปาจิตตีย์ และมูลเหตุที่จะเกิดเรื่องนี้เกิดจากพระมหาสัมฤทธิ์จำเลยที่ ๒ ซึ่งไม่มีสาเหตุอะไรกับโจทก์เป็นผู้เห็นเหตุการณ์ที่หญิงมาให้โจทก์ดูหมอในห้องของโจทก์ก่อนซึ่งเป็นที่ผิดสังเกต ๓-๔ ครั้ง แล้วจึงชวนพระอื่น ๆ ในวัดมาแอบดูด้วยกันอีกหลายครั้ง โดยเจาะรูหน้าต่างห้องจำเลยที่ ๒ กับรูที่ฝาห้องครัวใช้เป็นที่แอบดู โดยศาลชั้นต้นได้ไปตรวจสถานที่แล้วสามารถมองห็นตรงช่องประตูห้องที่โจทก์ดูหมอได้ชัดแจ้ง เชื่อได้ว่าพระจำเลยกับพวกได้แอบดูพฤติการณ์ของโจทก์และหญิงที่มาดูหมอตามลำพังสองต่อสองจริงในลักษณะที่ผิดสังเกตและไม่ถูกต้องตามวินัยสงฆ์ในการนั่งกับหญิงสองต่อสองในที่ลับหู อันเป็นเหตุให้พระจำเลยกับพวกในวัดเดียวกันเข้าใจไปในทางเสื่อมเสียแก่วัดและพระจำเลยซึ่งเป็นภิกษุวัดเดียวกับโจทก์ได้โดยสุจริต และการที่จำเลยแสดงตนเป็นโจทก์ขึ้นที่ประชุมสงฆ์เมื่อมีภิกษุใดต้องหาว่าประพฤติผิดพระวินัยนั้นก็เป็นการปฏิบัติตามพระธรรมวินัยอยู่แล้ว โดยมีมูลให้จำเลยเชื่อโดยสุจริตใจเช่นนั้นไม่ใช่กระทำเพื่อกลั่นแกล้งใส่ความโจทก์โดยไม่มีมูลเสียเลย จำเลยจึงได้รับความคุ้มครองตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา ๓๒๙(๑) ไม่มีความผิดฐานหมิ่นประมาท ฎีกาจำเลยฟังขึ้น
พิพากษากลับคำพิพากษาอุทธรณ์ให้ยกฟ้องโจทก์