แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา
ย่อสั้น
เมื่อศาลอนุญาตให้โจทก์ฟ้องอย่างคนอนาถาได้ การที่โจทก์จะขอแก้ฟ้องในภายหลังได้หรือไม่นั้น ต้องอยู่ในบังคับแห่งประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 179 คือคำฟ้องเดิมและคำฟ้องหลังจะต้องเกี่ยวข้องกันพอที่จะรวมการพิจารณาและชี้ขาดตัดสินเข้าด้วยกันได้ เมื่อศาลเห็นว่าเป็นคำฟ้องที่เกี่ยวข้องกัน ซึ่งอนุญาตให้แก้ฟ้องได้แล้ว ก็หาจำเป็นที่ศาลจะต้องไต่สวนเพื่อมีคำสั่งอนุญาตให้ฟ้องอย่างคนอนาถาสำหรับคำฟ้องภายหลังอีกไม่ เพราะถือได้ว่า ยังคงเป็นคำฟ้องในคดีเดียวกัน ซึ่งศาลได้ไต่สวนและมีคำสั่งอนุญาตไว้แล้ว
ตามคำฟ้องเดิม โจทก์ฟ้องว่า โจทก์กังจำเลยทำสัญญากันให้จำเลยชำระหนี้แทนโจทก์ และรับโอนที่ดินประทานบัตรของโจทก์ไว้เพื่อจัดตั้งบริษัทร่วมทุนระหว่างโจทก์จำเลยประกอบกิจการทำเหมืองแร่ จำเลยไม่ปฏิบัติตามสัญญา ไม่จัดตั้งบริษัทขึ้น แต่กลับขุดเอาแร่ของโจทก์ไปขายเป็นประโยชน์ส่วนตัว เป็นทั้งผิดสัญญาและละเมิด คำร้องขอแก้ฟ้องของโจทก์กล่าวความเดิมที่จำเลยผิดสัญญาและโจทก์บอกเลิกสัญญาแล้วขอให้ศาลพิพากษาให้คู่สัญญากลับคืนสู่ฐานะเดิม โดยให้จำเลยชำระหนี้ที่ออกให้แทนโจทก์ไป และโอนประทานบัตรพิพาทคืนให้โจทก์ ดังนี้ ย่อมเป็นคำฟ้องที่เกี่ยวข้องกันพอที่จะรวมการพิจารณาและชี้ขาดตัดสินเข้าด้วยกันลบล้างสัญญาฉบับแรก เพื่อใช้ขู่เจ้าหนี้ของโจทก์ให้ยอมรับชำระหนี้และโอนที่ดินประทานบัตรซึ่งเป็นประกันคืนโดยโจทก์จำเลยมิได้มีเจตนาผูกพันกันจริงจัง ดังนี้ สัญญาฉบับหลังหามีผลเป็นการยกเลิกสัญญาฉบับแรกไม่
ตามสัญญาที่โจทก์กับจำเลยที่ 1 ทำไว้ต่อกัน จำเลยจะต้องชำระหนี้แทนโจทก์และรับโอนที่ดินประทานบัตรของโจทก์เพื่อจัดตั้งบริษัทร่วมทุนระหว่างโจทก์กับจำเลยที่ 1 ประกอบกิจการทำเหมืองแร่แต่จำเลยที่ 2 โดยจำเลยที่ 1 ซึ่งเป็นกรรมการผู้จัดการ ได้เข้าปฏิบัติการชำระหนี้ให้แก่เจ้าหนี้และรับโอนประทานบัตรของโจทก์มาในนามจำเลยที่ 2 ถือได้ว่าการชำระหนี้และรับโอนประทานบัตรดังกล่าวจำเลยที่ 2 กระทำในฐานะเป็นตัวแทนของจำเลยที่ 1
ตามสัญญาที่ทำไว้ โจทก์กับจำเลยที่ 1 จะต้องตั้งบริษัทขึ้น เพื่อประกอบกิจการทำเหมืองแร่ในที่ดินประทานบัตรของโจทก์ที่โอนให้จำเลย โดยโจทก์จำเลยต่างเป็นผู้ถือหุ้นตามเงื่อนไขที่กำหนดไว้ แต่เมื่อบริษัทยังมิได้จัดตั้งขึ้นตามสัญญา จำเลยจะถือสิทธิเข้าไปทำเหมืองแร่ในที่ดินประทานบัตรนั้นโดยลำพังหาได้ไม่ เพราะผิดข้อตกลงที่ทำไว้ การที่จำเลยที่ 1 เข้าดำเนินการและในฐานะที่จำเลยที่1 เป็นกรรมการผู้จัดการและผู้แทนของจำเลยที่ 2 ซึ่งเป็นนิติบุคคลยินยอมให้จำเลยที่ 2 เข้าร่วมดำเนินการขุดหาแร่ โดยโจทก์มิได้รู้เห็นยินยอมหรือเกี่ยวข้องด้วยย่อมเป็นการใช้สิทธิไม่สุจริต และเป็นการผิดสัญญาที่จำเลยที่ 1 ทำไว้กับโจทก์ โจทก์มีสิทธิบอกเลิกสัญญาเสียได้
การที่จำเลยทั้งสองเข้าดำเนินการขุดเอาแร่ในที่ดินประทานบัตรของโจทก์ไปเป็นประโยชน์ของตนฝ่ายเดียว จำเลยต้องร่วมกันรับผิดต่อโจทก์ โดยจำเลยที่ 1 ต้องรับผิดในฐานผิดสัญญาของข้อตกลง ส่วนจำเลยที่ 2 ซึ่งไม่มีสิทธิอย่างใดในการขุดเอาแร่ในที่ดินประทานบัตรของโจทก์ ต้องรับผิดฐานละเมิด
ตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 161 ศาลมีอำนาจใช้ดุลพินิจ พิพากษาให้คู่ความฝ่ายใดฝ่ายหนึ่งเป็นผู้เสียค่าฤชาธรรมเนียมทั้งปวง หรือจะให้เป็นพับกันไปก็ได้
ย่อยาว
คดีนี้ศาลชั้นต้นอนุญาตให้โจทก์ฟ้องอย่างอนาถา ต่อมาโจทก์ได้ร้องขอเพิ่มเติมฟ้องและทุนทรัพย์ ศาลชั้นต้นสั่งอนุญาต โดยมิได้มีการไต่สวนอนาถาอีก ตามฟ้องและฟ้องเพิ่มเติมมีในความว่า โจทก์กับจำเลยที่ ๑ ได้ทำสัญญากัน โดยจำเลยที่ ๑ จะชำระหนี้ตามคำพิพากษาจำนวน ๘ แสนบาทเศษให้แก่บริษัทเรือขุดแร่จุติ จำกัด แทนโจทก์ โจทก์ตกลงโอนที่ดินประทานบัตรเลขที่ ๖๐๘๑,๑๐๑๔๖ ให้จำเลยที่ ๑ เป็นประกัน และโจทก์ตกลงจำนองจำนำทรัพย์แก่จำเลยที่ ๑ ด้วย และจำเลยที่ ๑ ตกลงชำระเงินที่โจทก์กู้ ๑ล้านบาทเศษพร้อมดอกเบี้ยให้แก่บริษัทเรือขุดแร่จุติ จำกัด อีก โดยให้โจทก์โอนที่ดินประทานบัตรซึ่งโจทก์โอนให้แก่บริษัทเรือขุดแร่จุติ จำกัด เป็นประกันไว้ให้แก่จำเลยที่ ๑ รวม ๓ แปลง คือประทานบัตร เลขที่ ๖๐๔๒,๖๐๘๔ และ ๖๐๘๕ แล้วโจทก์กับจำเลยที่ ๑ ตกลงกกันจะจัดตั้งบริษัทจำกัดขึ้น เพื่อทำเหมืองแร่ในที่ดินประทานบัตรทั้ง ๕ แปลงนั้น กำหนดทุนจดทะเบียน ๕ ล้านบาท ให้จำเลยที่ ๑ ถือหุ้น ๖๐ เปอร์เซ็นต์ โจทก์ถือหุ้น ๕๐ เปอร์เซ็นต์ เพื่อแบ่งผลประโยชน์ตามส่วน โดยจำเลยที่ ๑ จะโอนที่ดินประทานบัตรทั้ง ๕ แปลง และทรัพย์ที่โจทก์จำนองจำนำให้เป็นทรัพย์สินของบริษัท
จำเลยที่ ๑ ได้ชำระหนี้รายแรกและรับโอนที่ดินประทานบัตร ๒ แปลงแรกแล้ว ส่วนที่ดินประทานบัตร ๓ แปลงหลัง โจทก์ฟ้องบริษัทขุดแร่จุติ จำกัด ให้รับชำระหนี้และโอนประทานบัตรคืน จำเลยที่ ๑ ได้ให้จำเลยที่ ๒ เช้าชำระหนี้และรับโอนที่ดินประทานบัตรแทน โดยจำเลยที่ ๑ รับรองจะปฏิบัติตามสัญญา ครั้นแล้วจำเลยกลับไม่ยอมจัดตั้งบริษัท และรับจำนองจำนำทรัพย์สินตามสัญญา และได้จงใจประมาทเลินเล่อทำให้โจทก์เสียหายโดยไม่มีสิทธิที่จะทำได้ คือสบบกันขุดแร่ดีบุกในที่ดินประทานบัตรเลขที่ ๖๐๘๒ เอาไปขายเพื่อประโยชน์ของจำเลย เป็นการผิดสัญญาและผิดกฎหมาย โจทก์ได้บอกเลิกสัญญาไปยังจำเลยที่ ๑ แล้ว นอกจากนี้จำเลยยังได้เอาที่ดินประทานบัตรเลขที่ ๖๐๘๑ ไปให้บริษัทล่องเจริญเช่าขุดหาแร่ และจำเลยได้ระบายน้ำขุ่นข้นจากการทำเหมืองทับถมเครื่องมือเครื่องใช้ในการทำเหมืองของโจทก์เสียหาย ขอให้บังคับจำเลยทั้งสองร่วมกันใช้ค่าเสียหายในการขุดแร่ ๙,๐๐๐,๐๐๐ บาท และในการให้เช่าขุดแร่ ๑,๕๐๐,๐๐๐๑ พร้อมดอกเบี้ยและให้ใช้ค่าเสียหายในการทำให้เครื่องจักรของโจทก์จมน้ำ ๑,๐๐๐,๐๐๐ บาท กับชำระค่าเช่าแทนโจทก์อีก ๔๔,๐๐๐ บาท พร้อมดอกเบี้ย และพิพากษาว่าจำเลยผิดสัญญา โจทก์บอกเลิกสัญญาแล้ว
โจทก์จำเลยต้องกลับคืนสู่ฐานเดิม คือให้จำเลยทั้งสองชำระหนี้จากโจทก์ตามจำนวนที่จำเลยจ่ายชำระแทนโจทก์ โดยวิธีหักหนี้จากค่าเสียหายซึ่งจำเลยจะต้องชำระให้โจทก์ และให้จำเลยโอนประทานบัตรทั้งหมดคืนให้โจทก์
จำเลยทั้งสองต่อสู้ว่า มิได้ผิดสัญญาและมิได้ทำละเมิด สัญญาฉบับแรกได้ยกเลิกแล้วโดยสัญญาฉบับหลัง และสัญญาฉบับหลังได้ยกเลิกโดยบันทึกต่อท้ายสัญญา ทรัพย์ของโจทก์ไม่มีราคาพอ และสัญญาก็เลิกแล้ว จำเลยที่ ๑ จึงไม่รับจำนองจำนำ โจทก์ยอมโอนที่ดินประทานบัตรให้จำเลยที่ ๒ ตามสัญญายอมความในศาล โดยจำเลยที่ ๒ ยอมชำระหนี้แทนโจทก์ จำเลยที่ ๑ จึงไม่มีความผูกพันต่อไป จำเลยที่ ๑มิได้ทำเหมืองแร่ในฐานะส่วนตัว แต่ทำในฐานะเป็นกรรมการของจำเลยที่ ๒ ซึ่งมีสิทธิทำได้จึงไม่ละเมิด โจทก์เรียกค่าเสียหายสูงกว่าความจริง และโจทก์เป็นฝ่ายผิดสัญญา ไม่มีสิทธิได้รับผลกำไรและค่าเสียหาย จำเลยขอตัดฟ้องว่า ฟ้องโจทก์เคลือบคลุม ไม่มีอำนาจฟ้องจำเลย และคดีขาดอายุความละเมิด เครื่องมือเครื่องจักรของโจทก์จมน้ำเป็นความผิดของโจทก์เอง โจทก์ไม่มีสิทธิบอกเลิกสัญญาและโจทก์ผิดสัญญา ประทานบัตรทุกฉบับตกเป็นสิทธิของจำเลยแล้ว
ศาลชั้นต้นวินิจฉัยว่า จำเลยทั้งสองเข้าขุดแร่ เป็นการผิดสัญญา โจทก์บอกเลิกสัญญาแล้วคู่สัญญาต้องกลับคืนสู่ฐานะเดิม เฉพาะค่าเสียหายของโจทก์เห็นควรให้หักลบกลบกันไปกับเงินที่จำเลยใช้แทนโจท์ พิพากษาให้จำเลยทั้งสองโอนที่ดินประทานบัตร ๕ แปลงคืนให้โจทกื ห้ามจำเลยขุดหาแร่ต่อไป ถ้ายังขุดหาแร่ต่อไป ให้จำเลยใช้ค่าเสียหายแก่โจทก์เดือนละ ๓๗๕,๘๕๐ บาท นับแต่วันพิพากษาจนกว่าจะหยุดดำเนินการ ให้จำเลยใช้ค่าฤชาธรรมเนียม ที่โจทก์ได้รับยกเว้น ค่าทนายให้เป็นพับคำขออื่นให้ยก
โจทก์จำเลยอุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์พิพากษาแก้ให้จำเลยร่วมกันใช้ค่าเสียหายแก่โจทก์ ๑,๒๐๒,๐๐๐ บาท และห้ามจำเลยขุดแร่ในที่ดินประทานบัตรทั้ง ๕ แปลงต่อไป นอกจากที่ดำเนินการอยู่แล้ว ๔ ราง นอกจากที่แก้คงให้เป็นไปตามคำพิพากษาศาลชั้นต้น
โจทก์จำเลยฎีกา
๑. จำเลยฎีกาว่า ศาลชั้นต้นอนุญาตให้โจทก์แก้ฟ้องครั้งที่ ๒ ได้ ไม่ชอบด้วยประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา ๑๗๙ ,๑๕๕ เพราะฟ้องเดิมเป็นฟ้องเรื่องละเมิด เมื่อได้รับอนุญาตให้ฟ้องอย่างคนอนาถาแล้ว โจทก์มาขอแก้ฟ้องตั้งรูปคดีใหม่ เป็นเรื่องผิดสัญญาเป็นคนละรูป ไม่เกี่ยวข้องกัน ทั้งศาลไม่ได้ไต่สวนและมีคำสั่งอนุญาตให้ฟ้องอนาถาในมูลผิดสัญญา
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า เมื่อศาลอนุญาตให้โจทก์ฟ้องอย่างคนอนาถาได้ การที่โจทก์จะขอแก้ฟ้องในภายหลังได้หรือไม่นั้น ต้องอยู่ในบังคับแห่งประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา ๑๗๙ คือคำฟ้องเดิมและคำฟ้องหลังจะต้องเกี่ยวข้องกันพอที่จะรวมการพิจารณาและชี้ขาดตัดสินเข้าด้วยกันได้ เมื่อศาลเห็นว่าเป็นคำฟ้องที่เกี่ยวข้องกัน ซึ่งอนุญาตให้แก้ฟ้องได้แล้ว
ตามฟ้องเดิมและฟ้องเพิ่มเติมครั้งที่ ๑ ซึ่งจำเลยยอมให้ศาลอนุญาตให้โจทก์แก้ฟ้องได้เป็นเรื่องโจทก์หาว่า จำเลยเพิกเฉยไม่ปฏิบัติตามสัญญา คือไม่รับจำนองจำนำทรัพย์สิน และไม่จัดตั้งบริษัทขึ้น แล้วสมคบกับขุดเอาแร่ของโจทก์ เป็นผิดสัญญาและละเมิด คำร้องขอแก้ฟ้องครั้งที่ ๒ ซึ่งกล่าวท้าวความเดิมที่จำเลยทำผิดสัญญา และโจทก์บอกเลิกสัญญาแล้ว คู่สัญญาต้องกลับคืนสู่ฐานะเดิมตามกฎหมาย และขอให้ศาลพิพากษาว่า จำเลยผิดสัญญาท้ายฟ้อง เมื่อโจทก์บอกเลิกสัญญาแล้ว คู่สัญญาต้องกลับคืนสู่ฐานะเดิมตามกฎหมาย คือให้จำเลยรับชำระหนี้ที่ออกใช้แทนโจทก์ไป และให้จำเลยโอนประทานบัตรพิพาทคืนให้โจทก์ เห็นได้ว่า คำฟ้องภายหลังเป็นคำฟ้องที่เกี่ยวข้องกับฟ้องเดิมที่มีอยู่แล้ว พอจะรวมการพิจารณาและชี้ขาดตัดสินเข้าด้วยกันได้ ศาลชั้นต้นอนุญาตให้โจทก์แก้ฟ้องได้ชอบแล้ว
๒. จำเลยฎีกาว่า ฟ้องโจทก์เคลือบคลุม และการแก้ฟ้องไม่ทำให้ฟ้องที่ไม่เป็นฟ้องกลับดีขึ้นได้
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า ตามฟ้องเดิมของโจทก์ได้แสดงโดยชัดแจ้งซึ่งสภาพแห่งข้อหาและคำขอบังคับ ทั้งข้ออ้างที่อาศัยเป็นหลักแห่งข้อหาว่า โจทก์จำเลยทำสัญญาตกลงกันให้จำเลยชำระหนี้ที่ออกให้แทนโจทก์ โดยโจทก์ตกลงโอนที่ดินประทานบัตรเหมืองแร่ของโจทก์ให้จำเลย แล้วจะจัดตั้งบริษัทขึ้น โดยโจทก์จำเลยต่างเป็นผู้ถือหุ้นมีวัตถุประสงค์เพื่อดำเนินการทำเหมืองแร่ร่วมกันต่อไป โดยจำเลยจะโอนที่ดินประทานบัตรให้เป็นทรัพย์สินของบริษัทที่จะจัดตั้งขึ้น ต่อมาจำเลยเพิกเฉยไม่ปฏิบัติตามสัญญา และได้เข้าขุดแร่ในที่ดินประทานบัตรของโจทก์ เอาแร่ไปขายเอาเงินเป็นประโยชน์ส่วนตัวของจำเลยเสีย โดยโจทก์มิได้รู้เห็นยินยอมด้วย เป็นการทำให้โจทก์ต้องเสียหาย ขอให้จำเลยชดใช้ค่าเสียหายให้โจทก์ เป็นคำฟ้องที่ชอบด้วยประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่งมาตรา ๑๗๒ แล้ว หาเคลือบคลุมไม่
๓.จำเลยฎีกาว่า สัญญาที่โจทก์จำเลยทำไว้เลิกกันแล้ว หรือหากจะฟังว่ายังไม่เลิกจำเลยที่ ๒ ก็มีสิทธิขุดแร่ในที่ดินประทานบัตร เลขที่ ๖๐๘๒ ได้ เพราะที่ดินประทานบัตรนี้ บริษัทเรือขุดแร่จุติ จำกัด โอนให้แก่จำเลยที่ ๒ ตามสัญญาประนีประนอมยอมความในคดีแพ่งแดงที่ ๑๔/๒๕๐๗ ของศาลจังหวัดตะกั่วป่า จำเลยที่ ๒ ไม่ใช่ตัวแทนจำเลยที่ ๑ และไม่ได้เป็นหุ้นส่วนกัน ทั้งจำเลยที่ ๒ มิได้เป็นคู่สัญญากับโจทก์ จำเลยที่ ๒ จึงไม่ต้องรับผิดฐานเป็นคู่สัญญา และจำเลยที่ ๑ ก็ไม่ได้ทำผิดสัญญา
ศาลฎีกาฟังข้อเท็จจริงว่า สัญญาลงวันที่ ๑๒ เมษายน ๒๕๐๗ หมาย ล.๒ ที่โจทก์กับจำเลยที่ ๑ ทำไว้ยังไม่เลิก ส่วนสัญญาลงวันที่ ๑๖ เมษายน ๒๕๐๗ หมาย ล. ๑ โจทก์จำเลยที่ได้๑ ทำขึ้นเพื่อขู่บริษัทหรือขุดแร่จุติ จำกัด ซึ่งโจทก์ฟ้องให้รับชำระหนี้เงินกู้ให้โจทก์เป็นหนี้อยู่ และโอนที่ดินประทานบัตรซึ่งเป็นประกันคืน บริษัทเรือขุดแร่จุติ จำกัด กลัวว่าอาจต้องใช้ค่าเสียหายให้โจทก์เดือนละเก้าแสนบาทตามข้อตกลงในสัญญาหมาย ล.๑ จึงยอมทำสัญญาประนีประนอมยอมความกันกับโจทก์ โจทก์จำเลยมิได้มีเจตนาผูกพันกันจริงจังตามสัญญาหมาย ล.๑ แต่คงยังผูกพันตามสัญญาหมาย ล.๒ ซึ่งมีข้อตกลงว่า โจทก์จำเลยที่ ๑ จะต้องจัดตั้งบริษัทขึ้น มีวัตถุประสงค์ในการทำเหมืองแร่ในที่ดินประทานบัตรตกลงว่า โจทก์กับจำเลยที่ ๑จะต้องจัดตั้งบริษัทขึ้น มีวัตถุประสงค์ในการทำเหมืองแร่ในที่ดินประทานบัตรของโจทก์ที่โอนให้จำเลย โดยโจทก์จำเลยต่างเป็นผู้ถือหุ้นตามเงื่อนไขต่าง ๆ ที่กำหนดไว้ แต่เมื่อบริษัทยังมิได้ตั้งขึ้น จำเลยจะถือสิทธิเข้าไปทำเหมืองแร่ในที่ดินประทานบัตรนั้นโดยลำพังหาได้ไม่ เมื่อจำเลยเข้าทำ ย่อมเป็นการใช้สิทธิไม่สุจริตและผิดสัญญา โจทก์บอกเลิกสัญญาได้
จำเลยที่ ๒ แม้มิใช่คู่สัญญาตามสัญญาหมาย ล.๒ แต่พฤติการณ์จำเลยที่ ๒ เข้าไปปฏิบัติการชำระหนี้ให้แก่เจ้าหนี้ของโจทก์ อันเป็นหน้าที่ของจำเลยที่ ๑ จะต้องปฏิบัติตามข้อตกลงในสัญญาหมาย ล.๒ แล้วรับโอนประทานบัตรของโอนมาในนามจำเลยที่ ๒ โดยจำเลยที่ ๑ ซึ่งเป็นกรรมการผู้จัดการและผู้แทนของจำเลยที่ ๒ เป็นผู้เข้าดำเนินการในนามของจำเลยที่ ๒ ถึงจำเลยที่ ๒ จะเป็นนิติบุคคล ก็ถือได้ว่า การชำระหนี้และการรับโอนประทานบัตรของโจทก์ที่จำเลยที่ ๒ กระทำไปดังกล่าวเป็นการกระทำในฐานตัวแทนของจำเลยที่ ๑ และข้อเท็จจริงฟังได้ว่า การตกลงยอมให้จำเลยที่ ๒ กระทำแทนนั้น เพราะจำเลยที่ ๑บอกโจทก์ว่าไม่มีเงินพอ ต้องให้จำเลยที่ ๒ กระทำแทน เมื่อตั้งบริษัทตามสัญญาหมาย ล.๒ แล้ว จะจัดการโอนประทานบัตรคืนให้บริษัทที่จะจัดตั้งขึ้นต่อไป หาใช่โอนให้เป็นสิทธิแก่จำเลยที่ ๒ โดยไม่มีข้อตกลงว่าโอนเป็นเป็นประกันหรือข้อแม้ไม่
เมือข้อเท็จจริงฟังได้ว่า สัญญาหมาย ล.๒ ยังไม่เลิก และจำเลยที่ ๒ เข้าเกี่ยวข้องชำระหนี้แทนโจทก์ แลับรับโอนประทานบัตรของโจทก์มาเป็นการกระทำในฐานะตัวแทนของจำเลยที่ ๑ แล้ว การที่จำเลยทั้งสองดำเนินการขุดเอาแร่ไป จะเถียงว่าจำเลยที่ ๑ ไม่ได้ทำผิดสัญญาหาได้ไม่ ส่วนจำเลยที่ ๒ ก็ไม่มีสิทธิอย่างใดที่จะขุดเอาแร่ในประทานบัตรของโจทก์ไป จำเลยทั้งสองจึงต้องร่วมกันรับผิดต่อโจทก์ในการที่ขุดเอาแร่ไปเป็นประโยชน์ตนฝ่ายเดียวเสีย โดยจำเลยที่ ๑ ต้องรับผิดในฐานผิดสัญญาและข้อตกลงดังกล่าว จำเลยที่ ๒ ต้องรับผิดฐานละเมิด
๔. ฎีกาจำเลยข้อนี้และฎีกาข้อ ๑ ของโจทก์ เป็นปัญหาเดียวกันเรื่องค่าเสียหายที่โจทก์ควรได้รับ ศาลฎีกาเห็นพ้องกับศาลอุทธรณ์ว่า โจทก์ควรได้รับค่าเสียหายเป็นเงิน ๑,๒๐๐,๐๐๐ บาท
๒. โจทก์ฎีกาว่าจำเลยทำละเมิดให้เครื่องจักรเครื่องมือต่าง ๆ ของโจทก์จมน้ำเสียหาย
ศาลฎีกาฟังข้อเท็จจริงว่า จำเลยไม่ได้ทำ จึงไม่ต้องรับผิด
๓. โจทก์ฎีกาว่า ศาลชั้นต้นพิพากษาให้ค่าทนายโจทก์เป็นพับแก่โจทก์ ไม่ชอบด้วยกฎหมาย
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า ตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา ๑๖๑ ให้อำนาจศาลใช้ดุลพินิจพิพากษาให้คู่ความฝ่ายใดฝ่ายหนึ่งเป็นผู้เสียหายค่าฤชาธรรมเนียมทั้งปวงหรือจะให้เป็นพับก็ได้ ไม่จำเป็นจะต้องให้ฝ่ายแพ้คดีเป็นฝ่ายเสียค่าฤชาธรรมเนียมเสมอไป ฉะนั้นที่ศาลใช้ดุลพินิจพิพากษาให้ค่าทนายโจทก์เป็นพับแก่โจทก์ จะถือว่าเป็นการพิพากษาไม่ชอบด้วยกฎหมายไม่ได้
พิพากษายืน