คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 44/2515

แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา

ย่อสั้น

เอกสารพินัยกรรม นอกจากมีหัวข้อข้างบนระบุว่าเป็นหนังสือพินัยกรรมแล้วยังมีข้อความว่า “ขอทำพินัยกรรม” อีกด้วย ย่อมเข้าใจว่าเจตนายกทรัพย์สมบัติให้เมื่อตายแล้ว การยกทรัพย์ให้เมื่อยังมีชีวิตอยู่ สามัญชนทั่วไปหาใช้คำว่าพินัยกรรมไม่ เอกสารดังกล่าวถือได้ว่าเป็นพินัยกรรมตามกฎหมาย
บุคคลสองคนมีกรรมสิทธ์ร่วมกันในที่ดิน แสดงว่ามีสิทธิ์ฝ่ายละครึ่ง ต่างฝ่ายมีสิทธิจะเรียกให้แบ่งทรัพย์สินส่วนของตนออกมาได้ ฉะนั้น การที่ผู้มีกรรมสิทธิ์ร่วมผู้หนึ่งทำพินัยกรรมยกที่ดินส่วนของตนให้ผู้อื่น จึงไม่ใช่กรณีที่ทรัพย์สินที่ยกให้โดยพินัยกรรมระบุไว้ไม่ชัดแจ้งจนไม่อาจจะทราบแน่นอนได้ ข้อกำหนดในพินัยกรรมดังนี้หาเป็นโมฆะไม่

ย่อยาว

โจทก์ฟ้องว่า โจทก์ที่ ๒ กับนางบุญนาค น้อยวรรณ มีชื่อถือกรรมสิทธิ์ร่วมกันในที่ดินโฉนดที่ ๖๔๗๙ พร้อมสิ่งปลูกสร้าง คือ เรือน ๒ หลัง ครัว ๑ หลัง นางบุญนาค น้อยวรรณ ถึงแก่กรรม ที่ดินและสิ่งปลูกสร้างส่วนของนางบุญนาค น้อยวรรณ ตกเป็นมรดกแก่โจทก์ที่ ๒ ผู้เป็นบุตรแต่ฝ่ายเดียว ต่อมาโจทก์ที่ ๒ ได้โอนที่ดินและสิ่งปลูกสร้างส่วนของโจทก์ที่ ๒ เดิมให้โจทก์ที่ ๑ แต่ในโฉนดยังมีชื่อโจทก์ที่ ๑ และนางบุญนาค น้อยวรรณ จำเลยที่ ๑ ที่ ๒ และที่ ๓ อาศัยอยู่ในที่ดินและสิ่งปลูกสร้างดังกล่าว และอาศัยอยู่ในเรือนหมาย ก. ข. และ ค. ตามลำดับ ตามแผนที่สังเขปท้ายฟ้อง เมื่อนางบุญนาค น้อยวรรณถึงแก่กรรม จำเลยอ้างว่ามีกรรมสิทธิ์ร่วมกันเหนือที่ดินและสิ่งปลูกสร้างดังกล่าว โจทก์แจ้งให้จำเลยและบริวารออกไป จำเลยขัดขืน จึงขอให้ศาลพิพากษาว่าส่วนที่เป็นของนางบุญนาค น้อยวรรณ เป็นกรรมสิทธิ์ของโจทก์ที่ ๒ ห้ามมิให้จำเลยเกี่ยวข้อง ให้จำเลยที่ ๓ รื้อบ้านและเรือน และสิ่งปลูกสร้างหมาย ค. ออกไปจากที่ดินโจทก์ และให้จำเลยทั้งสามใช้ค่าสินไหมทดแทนให้โจทก์เดือนละ ๘๐๐ บาท นับแต่วันฟ้องจนกว่าจะเลยและบริวารจะออกไปพ้นที่ดินและสิ่งปลูกสร้าง
จำเลยทั้งสามให้การว่า ใบมอบอำนาจของโจทก์ที่ ๒ ให้โจทก์ที่ ๑ ดำเนินคดีนั้นปลอม ลายมือชื่อที่มอบอำนาจไม่ใช่ลายมือแท้จริงของโจทก์ที่ ๒ ที่ดินที่เป็นกรรมสิทธิ์ของนางบุญนาค น้อยวรรณ กับโจทก์ที่ ๒ นั้น นางบุญนาค น้อยวรรณ กับโจทก์ที่ ๒ได้พินัยกรรมยกที่ดินทั้งแปลงพร้อมด้วยบ้านเลขที่ ๒๙๘ ให้จำเลยทั้งสามตามสำเนาพินัยกรรมท้ายคำให้การแล้ว ขอให้ยกฟ้อง
คู่ความรับกันว่าที่ดินโฉนดพิพาทมีชื่อโจทก์ที่ ๑ และนางบุญนาคถือกรรมสิทธิ์ร่วมกันและโต้เถียงกันในส่วนของนางบุญนาค ว่าเป็นของโจทก์ที่ ๒ ในฐานะผู้รับมรดก หรือเป็นของจำเลยในฐานผู้รับพินัยกรรม โดยรับกันอีกว่านางบุญนาคได้ถึงแก่กรรมเมื่อวันที่ ๑๓ ธันวาคม ๒๕๑๐ โจทก์ที่ ๒ เป็นบุตรนางบุญนาค ศาลชั้นต้นเห็นว่าคดีมีประเด็นว่าด้วยพินัยกรรมที่จำเลยอ้างมีอยู่จริงหรือไม่ และจะบังคับตามกฎหมายได้หรือไม่ กำหนดให้จำเลยเป็นฝ่ายนำสืบก่อนต่อมาค่อยสืบพยาน จำเลยแถลงรับว่าใบมอบอำนาจที่โจทก์ที่ ๒ มอบอำนาจให้โจทก์ที่ ๑ ฟ้องคดี เป็นใบมอบอำนาจอันแท้จริง โจทก์รับว่าพินัยกรรมที่จำเลยอ้าง เป็นพินัยกรรมที่แก้จริงซึ่งนางบุญนาคทำไว้ แต่จะบังคับได้เพียงใดหรือไม่ขอให้ศาลวินิจฉัย โดยทั้งสองฝ่ายไม่ติดใจสืบพยานต่อไป
ศาลชั้นต้นพิจารณาแล้วเห็นว่า พินัยกรรมฉบับนี้เป็นการแสดงเจตนาของเจ้าของทรัพย์ให้กรรมสิทธิ์ในทรัพย์โอนไปเมื่อตายแล้ว เป็นแบบพินัยกรรมที่ใช้ได้ตามกฎหมาย พิพากษายกฟ้องโจทก์
โจทก์ทั้งสองอุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์พิพากษายืน
โจทก์ทั้งสองฎีกาว่า เอกสารที่จำเลยอ้างไม่เป็นพินัยกรรมและไม่สามารถบังคับได้ตามกฎหมาย
ศาลฎีกาเห็นว่า เอกสารพินัยกรรมที่จำเลยอ้าง นอกจากหัวข้อข้างบนระบุว่าเป็นพินัยกรรมแล้ว ยังมีข้อความว่านางบุญนาค “ขอทำพินัยกรรม” ตามความหมายของถ้อยคำย่อยเข้าใจได้ว่าเจตนาจะยกทรัพย์สมบัติให้เมื่อตายแล้ว อันเป็นการกำหนดการเมื่อตายแล้ว การยกทรัพย์ให้เมื่อยังมีชีวิตอยู่สามัญชนทั่วไปหาใช้คำว่า พินัยกรรมไม่ ศาลฎีกาเห็นว่าเอกสารดังกล่าวเป็นพินัยกรรมตามกฎหมายแล้ว
ส่วนที่โจทก์ฎีกาว่านางบุญนาค และโจทก์ที่ ๒ มีกรรมสิทธิ์ร่วมกันในที่ดินตามฟ้อง ไม่ทราบว่าที่ดินและโรงเรือนตรงไหนเป็นของใคร เป็นทรัพย์สินที่ระบุไว้ไม่ชัดแจ้ง ข้อกำหนดในพินัยกรรมจึงเป็นโมฆะ ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา ๑๗๐๖ (๓) นั้น ศาลฎีกาเห็นว่าตามพินัยกรรมดังกล่าวระบุว่านางบุญนาคและโจทก์ที่ ๒ มีกรรมสิทธิ์ร่วมกันในที่ดิน แสดงว่ามีสิทธิฝ่ายละครึ่งซึ่งต่างฝ่ายมีสิทธิจะเรียกให้แบ่งทรัพย์สินส่วนของตนออกมาได้ จึงไม่ใช่กรณีทรัพย์สินที่ยกให้โดยพินัยกรรมระบุไว้ไม่ชัดแจ้งจนไม่อาจทราบแน่นอนได้ดังที่โจทก์อ้างมา ข้อกำหนดพินัยกรรมดังกล่าวหาเป็นโมฆะไม่
พิพากษายืน

Share