แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา
ย่อสั้น
จำเลยซึ่งเป็นคนขับรถบรรทุกมีฐานะเพียงแต่เป็นผู้ถูกใช้ให้ขนทรัพย์ไปตามคำสั่งของเจ้าของทรัพย์เท่านั้น ฉะนั้นความยึดถือครอบครองในทรัพย์นั้นยังคงอยู่กับเจ้าของทรัพย์ เมื่อจำเลยเอาทรัพย์ไป จึงเป็นการเอาทรัพย์ของผู้อื่นไปโดยทุจริต เป็นความผิดฐานลักทรัพย์ไม่ใช่ความผิดฐานยักยอก
ย่อยาว
โจทก์ฟ้องว่า จำเลยทั้ง ๕ สมคบร่วมกันลักทรัพย์ หรือรับของโจร ขอให้ลงโทษตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา ๓๓๕ (๑) (๗), ๓๕๗, ๘๓
จำเลยทั้ง ๕ ให้การปฏิเสธ
ศาลชั้นต้นพิพากษาว่า จำเลยทั้ง ๕ มีความผิดฐานลักทรัพย์ตามฟ้อง จำคุกไว้คนละ ๕ ปี จำเลยที่ ๑ รับสารภาพในชั้นสอบสวน ลดโทษให้ ๑ ใน ๓ คงจกคุกจำเลยที่ ๑ ไว้ ๓ ปี ๔ เดือน
จำเลยทั้ง ๕ อุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์พิพากษายืน
จำเลยทั้ง ๕ ฎีกา
ศาลชั้นต้นสั่งรับฎีกาจำเลยที่ ๑ เฉพาะข้อ ๒ (๓) และฎีกาจำเลยที่ ๒ เฉพาะข้อ (๒) และ (๓) ซึ่งเป็นปัญหาข้อกฎหมาย ส่วนจำเลยที่ ๓, ๔, ๕ ยื่นฎีกาโดยมิได้ลงลายมือชื่อในฎีกา แม้แต่ทนายผู้รับมอบอำนาจให้อุทธรณ์ฎีกาแทนจำเลย ก็มิได้ลงลายมือชื่อเป็นผู้ฎีกาแทนจำเลย จึงเป็นฎีกาไม่ชอบด้วยกฎหมาย ศาลชั้นต้นสั่งไม่รับฎีกา
ศาลฎีกาพิจารณาฎีกาข้อกฎหมายของจำเลยที่ ๑ และ ๒ แล้วสรุปฎีกาว่า
๑. เมื่อจำเลยที่ ๑ รับเอาทรัพย์ของกลางจากหน่วยจัสแม็กสัตหีบแล้วทรัพย์ของกลางย่อมอยู่ในความครอบครองของจำเลยที่ ๑ โดยชอบด้วยกฎหมาย หากมีเจตนาทุจริตเอาไปภายหลัง ก็ควรมีความผิดฐานยักยอกตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา ๓๕๒
๒. การที่ศาลชั้นต้นและศาลอุทธรณ์นำเอาคำรับสารภาพชั้นสอบสวนของจำเลยที่ ๑ ซึ่งซัดทอดจำเลยอื่นมาลงโทษจำเลยที่ ๒ เป็นการไม่ชอบด้วยกฎหมาย
ศาลฎีกาวินิจฉัยปัญหาข้อที่ ๑ ว่า หน่วยส่งบำรุงกำลังที่ ๙ เป็นหน่วยย่อยของหน่วยที่ปรึกษาทางการทหารขอสหรัฐอเมริกาประจำประเทศไทย (หน่วยจัสแม็ค) มีหน้าที่ควบคุมรับผิดชอบขนส่งสินค้าขึ้นจากเรือ แล้วจัดมอบให้กับหน่วยทหารต่าง ๆ ที่อยู่ในประเทศไทย โดยจัดส่งทางรถยนต์ขององค์การ ร.ส.พ. จำเลยที่ ๑ เป็นคนขับขององค์การ ร.ส.พ. ได้ขับรถบรรทุกทรัพย์ของกลางจากหน่วยจัสแม็คสัตหีบ เพื่อส่งไปให้หน่วยเนวีเอกซเชนจ์ที่ท่าเรือคลองเตยกรุงเทพ ฯ ดังนี้จะถือว่าหน่วยจัสแม็คผู้เป็นเจ้าของได้มอบหมายการครอบครองในทรัพย์ของกลางให้กับจำเลยที่ ๑ ไม่ได้ เพราะจำเลยที่ ๑ มีฐานะเพียงแค่เป็นผู้ถูกใช้ให้ขนไปตามคำสั่งของเจ้าของ ความยึดถือครอบครองในทรัพย์ของกลางยังคงอยู่กับหน่วยจัสแม็คผู้เป็นเจ้าของตามเดิม เมื่อจำเลยที่ ๑,๒,๓,๔,๕ เอาทรัพย์รายนี้ไป จึงเป็นการรวมกันเอาทรัพย์ของผู้อื่นไปโดยทุจริต เป็นความผิดฐานลักทรัพย์ ไม่ใช่ความผิดฐานยักยอก
ส่วนปัญหาตามฎีกาข้อ ๒ นั้น ข้ออ้างของจำเลยที่ ๒ ที่ว่าศาลชั้นต้นและศาลอุทธรณ์อาศัยคำรับชั้นสอบสวนของจำเลยที่ ๑ ซึ่งซัดทอดจำเลยอื่นอย่างเดียวมาลงโทษจำเลยที่ ๒ ไม่เป็นความจริง เพราะโจทก์มีพยานหลักฐานอื่นด้วย ศาลฎีกาไม่จำต้องวินิจฉัยปัญหาฎีกาข้อนี้
พิพากษายืน