คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 239/2514

แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา

ย่อสั้น

มัสยิดอาจได้กรรมสิทธิที่ดินตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 1382 ได้
ตามพระราชบัญญัติมัสยิดอิสลาม พ.ศ. 2490 มาตรา 5 ให้มัสยิดซึ่งได้จดทะเบียนต่อพนักงานเจ้าหน้าที่แล้ว เป็นนิติบุคคล ซึ่งหมายความว่า ให้เป็นนิติบุคคลตั้งแต่วันที่ได้จดทะเบียนเป็นต้นไป แต่ปรากฏว่ามัสยิดจำเลยร่วมจดทะเบียนเมื่อ 26 กรกฎาคม 2499 การที่จะถือว่า อ. ยกที่ดินพิพาทให้จำเลยตั้งแต่ พ.ศ. 2498 ย่อมเป็นไปไม่ได้ เพราะการให้ต้องมีผู้รับ แม้จะฟังว่าจำเลยร่วมครอบครองปรปักษ์ต่อมาหลังจากการยกให้ที่ไม่ถูกต้องตามกฎหมาย ก็ต้องนับการครอบครองแต่วันเป็นนิติบุคคลเป็นต้นไป แต่ถ้านับตั้งแต่วันที่ 26 กรกฎาคม 2499 จนถึงวันที่โจทก์ฟ้อง คือ วันที่ 15 กรกฎาคม 2509 แล้ว ก็เห็นได้ว่ายังไม่ครบ 10 ปี จึงไม่อาจได้กรรมสิทธิ์ตามมาตรา 1382

ย่อยาว

คดีนี้ โจทก์ฟ้องขอให้ศาลบังคับจำเลยและบริวารออกจากที่ดินโฉนดที่ ๑๒๖๕๖ ฯลฯ
จำเลยให้การสู้คดี
ก่อนสืบพยาน มัสยิดอัลฮิดายะห์โดยนายประสาน กูบกระบี่ ผู้รับมอบอำนาจร้องสอดเข้าเป็นจำเลยร่วมและให้ถือคำให้การจำเลยเป็นคำให้การผู้ร้องสอดด้วยศาลชั้นต้นอนุญาต
ศาลชั้นต้นพิพากษาให้จำเลย จำเลยร่วมและบริวารออกไปจากที่ดินแปลงพิพาท ฯลฯ
จำเลยและจำเลยร่วมอุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์พิพากษายืน
จำเลยและจำเลยร่วมฎีกา
ในชั้นฎีกา ศาลฎีกาวินิจฉัยข้อกฎหมายไว้ว่า การให้ที่ดินพิพาทมิได้ทำเป็นหนังสือและจดทะเบียนต่อพนักงานเจ้าหน้าที่ การให้จึงไม่สมบูรณ์ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา ๕๒๕ คงมีปัญหาต่อไปว่า แม้การยกที่ดินพิพาทให้จะไม่สมบูรณ์ดังกล่าวแต่เมื่อมัสยิดจำเลยร่วมได้ครอบครองที่ดินพิพาทโดยสงบเปิดเผยและเจตนาเป็นเจ้าของเป็นเวลาติดต่อกัน ๑๐ ปีแล้ว มัสยิดจำเลยร่วมก็ย่อมจะได้กรรมสิทธิ์ที่ดินพิพาทตามมาตรา ๑๓๘๒ แห่งประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ได้เหมือนกัน ศาลฎีกาเห็นว่า ตามพระราชบัญญัติมัสยิดอิสลาม พ.ศ. ๒๔๙๐ มาตรา ๕ ให้มัสยิดซึ่งได้จดทะเบียนต่อพนักงานเจ้าหน้าที่แล้วเป็นนิติบุคคล ซึ่งหมายความว่าให้เป็นนิติบุคคลตั้งแต่วันที่ได้จดทะเบียนเป็นต้นไป แต่เมื่อพิจารณาเอกสารหมาย ล.๑๖ ซึ่งจำเลยอ้างมาเองแล้ว ปรากฏว่ามัสยิดจำเลยร่วมจดทะเบียนเมื่อวันที่ ๒๖ กรกฎาคม ๒๔๙๙ ซึ่งหมายความว่าจำเลยร่วมเป็นนิติบุคคลตั้งแต่วันที่ ๒๖ กรกฎาคม ๒๔๙๙ นั่นเอง การจะถือว่าขุนอินทร์วราคมยกที่ดินพิพาทให้มัสยิดจำเลยร่วมมาตั้งแต่ พ.ศ. ๒๔๙๘ นั้น ย่อมเป็นไปไม่ได้ เพราะการให้ต้องมีบุคคลผู้รับ เมื่อผู้รับเป็นนิติบุคคลเมื่อวันที่ ๒๖ กรกฎาคม ๒๔๙๙ เสียแล้ว แม้จะฟังว่าจำเลยร่วมครอบครองปรปักษ์ต่อมาหลังจากการยกให้ที่ไม่ถูกต้องตามกฎหมาย ก็ต้องนับการครอบครองแต่วันเป็นนิติบุคคลเป็นต้นไป แต่ถ้านับตั้งแต่วันที่ ๒๖ กรกฎาคม ๒๔๙๙ จนถึงวันที่โจทก์ฟ้อง คือวันที่ ๑๕ กรกฎาคม ๒๕๐๙ แล้วก็เห็นได้ว่ายังไม่ครบ ๑๐ ปี จึงไม่อาจได้กรรมสิทธิ์ตามมาตรา ๑๓๘๒
พิพากษายืน

Share