แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา
ย่อสั้น
ศาลล่างทั้งสองฟังข้อเท็จจริงต้องกันว่า “โจทก์ได้ขอไถ่ที่ดินขายฝากจากจำเลยภายในกำหนด แล้วจำเลยหลีกเลี่ยไม่ยอมให้ไถ่” จำเลยฎีกามีใจความว่า โจทก์ไม่มีอำนาจนำคดีมาฟ้อง เพราะโจทก์ไม่ได้ใช้สิทธิไถ่ถอนภายในกำหนดตามประมวลกฎหมายแห่งและพาณิชย์ มาตรา 163, 496 ดังนี้ เป็นฎีกาในข้อเท็จจริง เมื่อคดีมีทุนทรัพย์ไม่เกิน 5,000 บาท ฎีกาจำเลยจึงต้องห้ามตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 248
ย่อยาว
โจทก์ฟ้องว่า โจทก์ทำสัญญาขายที่ดินไว้กับจำเลย โจทก์ไปขอไถ่จำเลยบ่ายเบี่ยงว่าไม่ว่าง จนพ้นกำหนดเวลาไถ่ แล้วต่อมาก็บิดพลิ้วไม่ยอมให้ไถ่ถอนโดยอ้างว่าหลุดเป็นสิทธิแล้ว ขอให้บังคับให้จำเลยรับไถ่ถอนการขายฝาก
จำเลยให้การว่า โจทก์ไม่เคยแจ้งให้จำเลยทราบว่าจะขอไถ่ถอนการขายฝาก เป็นแต่โจทก์ขอยืดกำหนดเวลาไถ่ถอนการขายฝากหลังจากสัญญาขายฝากสิ้นสุดลงแล้ว
ศาลชั้นต้นพิจารณาแล้วพิพากษาให้จำเลยยอมให้โจทก์ไถ่ถอนการขายฝาก
จำเลยอุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์พิพากษายืน
จำเลยฎีกา
ศาลฎีกาเห็นว่า ฎีกาของจำเลยที่ว่า “ตามข้อต่อสู้ของจำเลยที่ได้ยกขึ้นว่ากันมาแล้วในศาลชั้นต้นและศาลอุทธรณ์ว่าโจทก์ไม่มีอำนาจนำคดีมาฟ้อง เพราะโจทก์มิได้ใช้สิทธิไถ่ถอนที่นาที่ขายฝากไว้ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา ๑๖๓ และ ๔๙๖ ….. ขอให้ศาลฎีกาได้โปรดวินิจฉัยข้อกฎหมายเรื่องอำนาจฟ้องของโจทก์ เพราะจำเลยเห็นว่าโจทก์ไม่มีอำนาจนำคดีนี้มาฟ้อง” ตามบทกฎหมายที่จำเลยอ้าง เท่ากับจำเลยฎีกาว่าโจทก์ไม่ได้ใช้สิทธิไถ่ถอนภายในกำหนด คดีนี้มีประเด็นอยู่ประเด็นเดียวว่าโจทก์ได้ไปขอไถ่ภายในกำหนดเวลา แล้วจำเลยไม่ยอมให้ไถ่โดยบิดพลิ้วหรือไม่ ซึ่งศาลล่างทั้งสองพิพากษาฟังข้อเท็จจริงต้องกันว่า “โจทก์ได้ขอไถ่ที่ดินที่ขายฝากจากจำเลยภายในกำหนดแล้วจำเลยหลีกเลี่ยงไม่ยอมให้ไถ่” จึงเป็นฎีกาในข้อเท็จจริง เมื่อคดีมีทุนทรัพย์ไม่เกิน ๕,๐๐๐ บาทจึงฎีกาไม่ได้ตามปะมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา ๒๔๘
พิพากษายกฎีกาจำเลย.