คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 261/2510

แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา

ย่อสั้น

คดีอาญาที่โจทก์ขอให้ลงโทษจำเลยซึ่งมีอัตราโทษจำคุกถึง 10 ปี เมื่อศาลชั้นต้นมิได้สอบถามจำเลยในเรื่องทนายความ และพิพากษาลงโทษจำคุก ทำให้จำเลยเสียเปรียบในการดำเนินคดี ย่อมเป็นการจำเป็นที่จะให้ศาลชั้นต้นทำการพิจารณาพิพากษาใหม่ ตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 208 (2)

ย่อยาว

คดีนี้ โจทก์ฟ้องว่าจำเลยนำเอารถยนต์ซึ่งขาดการต่ออายุเสียภาษีมาใช้ขับขี่บนถนนหลวง จำเลยขับโดยประมาทและด้วยความเร็วสูง รถของจำเลยจึงชนเฉียดรถจักรยานยนต์ของนายสงครามล้มลง เป็นเหตุให้นายสงครามถึงแก่ความตาย และนายโปจ๋ายได้รับอันตรายสาหัส ขอให้ลงโทษจำเลยตามพระราชบัญญัติจราจรทางบก พ.ศ. ๒๔๗๗ มาตรา ๒๙, ๖๖ (ฉบับที่ ๔) พ.ศ. ๒๕๐๘ มาตรา ๗, ๑๓ ประมวลกฎหมายอาญา มาตรา ๒๙๑, ๓๐๐, ๙๐
จำเลยให้การรับสารภาพและโจทก์จำเลยไม่สืบพยาน
ศาลชั้นต้นพิพากษาว่า จำเลยมีความผิดตามพระราชบัญญัติจราจรทางบก พ.ศ. ๒๔๗๗ มาตรา ๒๙, ๖๖ (ฉบับที่ ๔) พ.ศ. ๒๕๐๘ มาตรา ๗, ๑๓ ประมวลกฎหมายอาญา มาตรา ๒๙๑, ๓๐๐, ๙๐ ลดโทษแล้วคงจำคุกจำเลย ๑ ปี ๖ เดือน
จำเลยอุทธรณ์ขอให้ลดโทษและรอการลงโทษ
ศาลอุทธรณ์วินิจฉัยว่า ฟ้องของโจทก์ขอให้ลงโทษจำเลยตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา ๒๙๑ ซึ่งมีอัตราโทษจำคุกถึง ๑๐ ปีด้วย แต่ศาลชั้นต้นมิได้สอบถามจำเลยเรื่องทนายความและดำเนินการพิจารณาคดีไปโดยไม่มีทนาย แล้วพิพากษาลงโทษจำเลยนั้น เป็นการฝ่าฝืนบทกฎหมาย ไม่ชอบที่จะกระทำได้ ศาลอุทธรณ์จึงพิพากษาให้ยกคำพิพากษาของศาลชั้นต้น ให้ศาลชั้นต้นดำเนินกระบวนพิจารณาเสียให้ถูกต้อง แล้วพิพากษาใหม่ตามรูปคดี
โจทก์ฎีกาว่า การที่ศาลอุทธรณ์พิพากษาให้ยกคำพิพากษาศาลชั้นต้นแล้วพิพากษาใหม่ตามรูปคดีนั้น เป็นการพิพากษาโดยอาศัยอำนาจตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา ๒๐๘ (๒) จึงเป็นปัญหาว่า กรณีไหนที่ควรใช้อำนาจดังกล่าว และกรณีไหนที่ไม่จำเป็นต้องใช้ ซึ่งคดีนี้โจทก์เห็นว่าจำเลยให้การรับสารภาพ และโจทก์จำเลยต่างแถลงไม่สืบพยาน แม้ศาลชั้นต้นจะดำเนินกระบวนพิจารณาบกพร่องในเรื่องทนายตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา ๑๗๓ โจทก์ก็เห็นว่าจำเลยมิได้เสียความยุติธรรมหรือเสียเปรียบในการดำเนินคดีประการใด จึงถือได้ว่าไม่เป็นการจำเป็น ชอบที่ศาลอุทธรณ์จะวินิจฉัยอุทธรณ์ของจำเลยไป ไม่ต้องย้อนสำนวนให้ศาลชั้นต้นพิพากษาใหม่
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า กรณีเช่นใดจะถือว่าเป็นการจำเป็นต้องตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา ๒๐๘ (๒) นั้น ศาลฎีกาเห็นว่าจำต้องพิจารณาแต่ละเรื่องละรายไป แล้วแต่ความจำเป็นเพื่อประโยชน์แห่งความยุติธรรม ซึ่งจะทำให้จำเลยเสียเปรียบหรือไม่ สำหรับคดีนี้ศาลชั้นต้นพิพากษาลงโทษจำคุกจำเลย โดยที่ศาลชั้นต้นมิได้สอบถามจำเลยเรื่องทนายเสียก่อน จึงเห็นได้ว่าจำเลยเสียเปรียบในการดำเนินคดี ย่อมเป็นการจำเป็นที่จะให้ศาลชั้นต้นดำเนินกระบวนพิจารณาเสียใหม่ให้ถูกต้อง เพราะถ้าศาลชั้นต้นได้สอบถามจำเลยในเรื่องทนายเสียก่อนและจำเลยมีทนาย ทนายก็อาจดำเนินคดีรักษาประโยชน์ให้จำเลยมาแต่แรกซึ่งเป็นผลดีแก่จำเลยได้ และคดีนี้ศาลฎีกาเห็นเป็นการจำเป็นที่จะให้ศาลชั้นต้นทำการพิจารณาพิพากษาใหม่ตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา ๒๐๘(๒)
พิพากษายืน.

Share