แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา
ย่อสั้น
หนังสือกระทรวงการคลังที่ขอยกเว้นให้สถาบันการเงินที่เปลี่ยนเป็นรัฐวิสาหกิจไม่ต้องปฏิบัติตามคำสั่ง กฎ ระเบียบ และมติคณะรัฐมนตรีที่ใช้บังคับแก่รัฐวิสาหกิจทั่วไปซึ่งคณะรัฐมนตรีลงมติเห็นชอบแล้ว ระบุให้สถาบันการเงินที่เป็นรัฐวิสาหกิจเนื่องจากกองทุนเพื่อการฟื้นฟูและพัฒนาระบบสถาบันการเงินเข้าแทรกแซง คงได้รับเงินเดือน สวัสดิการ และผลประโยชน์ตอบแทนของพนักงานตามหลักเกณฑ์หรือเงื่อนไขการจ้างเดิมของสถาบันการเงินนั้น ไม่ต้องถือปฏิบัติตามระเบียบของทางราชการที่รัฐวิสาหกิจอิงมาใช้ แต่ไม่ปรากฏว่าก่อนที่ธนาคารจำเลยที่ 1 จะเปลี่ยนไปเป็นรัฐวิสาหกิจ จำเลยที่ 1 ได้กำหนดให้มีการจ่ายค่าชดเชยแก่พนักงานสูงกว่าสิทธิที่พนักงานรัฐวิสาหกิจพึงได้รับตามระเบียบคณะกรรมการรัฐวิสาหกิจสัมพันธ์ เรื่อง มาตรฐานของสิทธิประโยชน์ของพนักงานรัฐวิสาหกิจ พ.ศ. 2534 ข้อ 45 การที่จำเลยที่ 1 จ่ายค่าชดเชยเท่ากับอัตราค่าจ้างสุดท้ายจำนวน 180 วัน ให้แก่โจทก์ซึ่งเป็นลูกจ้างประจำตาม พ.ร.บ. พนักงานรัฐวิสาหกิจสัมพันธ์ พ.ศ. 2534 มาตรา 11 (1) และมาตรา 11 วรรคสอง ประกอบระเบียบคณะกรรมการรัฐวิสาหกิจสัมพันธ์ เรื่อง มาตรฐานของสิทธิประโยชน์ของพนักงานรัฐวิสาหกิจ พ.ศ. 2534 ข้อ 45 (3) จึงเป็นการจ่ายที่ชอบแล้ว
ตาม ป.พ.พ. มาตรา 582 วรรคหนึ่ง หากเป็นสัญญาจ้างแรงงานที่มิได้มีกำหนดระยะเวลา นายจ้างหรือลูกจ้างมีสิทธิบอกเลิกสัญญาจ้างได้ด้วยการบอกกล่าวให้อีกฝ่ายทราบ การที่จำเลยใช้สิทธิบอกเลิกสัญญาจ้างด้วยการเลิกจ้างโจทก์ซึ่งเป็นการใช้สิทธิตามกฎหมาย จึงมิใช่เป็นการผิดสัญญา เพียงแต่อาจต้องจ่ายสินจ้างแทนการบอกกล่าวล่วงหน้าให้แก่โจทก์ตาม ป.พ.พ. มาตรา 582 วรรคสอง และเมื่อจำเลยมีสิทธิเลิกสัญญาด้วยการเลิกจ้างโจทก์ได้ตามกฎหมาย ย่อมมิใช่เป็นการจงใจหรือประมาทเลินเล่อทำต่อบุคคลอื่นโดยผิดกฎหมายตาม ป.พ.พ. มาตรา 420 จำเลยจึงมิได้กระทำละเมิดต่อโจทก์
จำเลยเลิกจ้างโจทก์เนื่องจากโจทก์ปฏิบัติหน้าที่บกพร่อง ขาดการควบคุมดูแลและการปฏิบัติงานเรื่องการยืมและการคืนทะเบียนรถยนต์ที่ใช้เป็นหลักประกันของผู้ใต้บังคับบัญชาให้เป็นไปอย่างรอบคอบและรัดกุม จนทำให้จำเลยเสียหายแต่ไม่ร้ายแรง และโจทก์ฝ่าฝืนระเบียบข้อบังคับเกี่ยวกับการทำงานของจำเลย แต่มิใช่กรณีร้ายแรง จำเลยมิได้กลั่นแกล้งเลิกจ้างโจทก์ จึงมิใช่การเลิกจ้างไม่เป็นธรรม
การให้สัตยาบันตาม ป.พ.พ. มาตรา 823 หมายถึงตัวแทนได้กระทำการอันใดอันหนึ่งโดยปราศจากอำนาจก็ดี หรือทำนอกเหนือขอบอำนาจก็ดี ต่อมาตัวการรู้ถึงการกระทำที่ทำโดยปราศจากอำนาจหรือทำนอกอำนาจของตัวแทนแล้วตัวการได้ให้การรับรองการกระทำดังกล่าวของตัวแทน แม้จำเลยจะรับเอาผลประโยชน์จากการกู้เงินที่เกิดจากการกระจายหนี้ แต่ไม่ปรากฏว่าขณะที่จำเลยรับเอาผลประโยชน์ จำเลยได้รู้ถึงการกระทำนอกขอบอำนาจของโจทก์หรือไม่ เช่นนี้ไม่อาจถือว่าเป็นการให้สัตยาบันในการกระจายหนี้ของโจทก์
ที่โจทก์ฝ่าฝืนระเบียบข้อบังคับเกี่ยวกับการทำงานของจำเลย แม้จำเลยไม่ทักท้วงก็ไม่อาจถือว่าการกระทำดังกล่าวกลายเป็นการกระทำที่ชอบขึ้นมาได้ การที่จำเลยไม่ทักท้วงหรือกล่าวหาลงโทษโจทก์ อาจเป็นเพราะยังไม่ทราบการกระทำผิดหรือยังไม่เกิดความเสียหายจากการกระทำผิดเท่านั้น เมื่อจำเลยเลิกจ้างโจทก์ด้วยเหตุที่โจทก์กระทำผิด จำเลยมิได้กลั่นแกล้งเลิกจ้างโจทก์ จึงมิใช่เป็นการเลิกจ้างไม่เป็นธรรม
โจทก์ปฏิบัติหน้าที่บกพร่องเกี่ยวกับการควบคุมดูแลการปฏิบัติงานเกี่ยวกับการยืมและการคืนทะเบียนรถยนต์ที่ใช้เป็นหลักประกันของผู้ใต้บังคับบัญชาให้เป็นไปอย่างรอบคอบและรัดกุมจนเป็นเหตุให้จำเลยเสียหาย ถือว่าเป็นการทำประการอื่นอันไม่สมแก่การปฏิบัติหน้าที่ของตนให้ลุล่วงไปโดยถูกต้องและสุจริตตาม ป.พ.พ. มาตรา 583 และที่โจทก์ฝ่าฝืนระเบียบข้อบังคับเกี่ยวกับการทำงานของจำเลยด้วยการกระจายหนี้เป็นการจงใจขัดคำสั่งของนายจ้างอันชอบด้วยกฎหมายอีกเช่นกัน จำเลยเลิกจ้างโจทก์ด้วยเหตุทั้งสองประการดังกล่าว จึงไม่ต้องบอกกล่าวล่วงหน้าและไม่ต้องจ่ายสินจ้างแทนการบอกกล่าวล่วงหน้าแก่โจทก์
ย่อยาว
โจทก์ฟ้องขอให้บังคับจำเลยทั้งสองจ่ายสินจ้างแทนการบอกกล่าวล่วงหน้า ค่าชดเชยพิเศษตามมาตรา 121 และมาตรา 122 เงินโบนัสประจำปี ค่าชดเชย และค่าเสียหายจากการกระทำละเมิด ผิดสัญญาจ้างแรงงานและเลิกจ้างไม่เป็นธรรม พร้อมดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 15 ต่อปี นับแต่วันเลิกจ้างจนกว่าจะชำระเสร็จแก่โจทก์ กับเงินเพิ่มกรณีไม่จ่ายค่าชดเชยโดยปราศจากเหตุผลอันสมควรอัตราร้อยละ 15 ทุกระยะ เวลา 7 วัน ตามมาตรา 9 เป็นเวลา 268 วัน อีกเป็นเงิน 51,037 บาท และให้จำเลยทั้งสองออกหนังสือรับรองการทำงานให้แก่โจทก์
จำเลยที่ 1 ให้การ ขอให้ยกฟ้อง
จำเลยที่ 2 ให้การว่า จำเลยที่ 2 เป็นกรรมการผู้จัดการใหญ่ของจำเลยที่ 1 ลงนามตามคำสั่งของจำเลยที่ 1 จำเลยที่ 2 ไม่ต้องรับผิดต่อโจทก์เป็นการส่วนตัว ขอให้ยกฟ้อง
ระหว่างพิจารณา โจทก์ขอถอนฟ้องจำเลยที่ 2 ศาลแรงงานกลางอนุญาตให้จำหน่ายคดีเฉพาะจำเลยที่ 2
ศาลแรงงานกลางพิจารณาแล้ว พิพากษาให้จำเลยที่ 1 จ่ายสินจ้างแทนการบอกกล่าวล่วงหน้าแก่โจทก์เป็นเงิน 33,100 บาท คำขออื่นให้ยก
โจทก์และจำเลยที่ 1 อุทธรณ์ต่อศาลฎีกา
ศาลฎีกาแผนกคดีแรงงานพิเคราะห์แล้ว คดีมีปัญหาต้องวินิจฉัยตามอุทธรณ์ข้อแรกของโจทก์ว่า จำเลยที่ 1 ต้องรับผิดจ่ายค่าชดเชยให้แก่โจทก์เพียงใด เห็นว่า หนังสือกระทรวงการคลังที่ขอยกเว้นให้สถาบันการเงินที่เปลี่ยนเป็นรัฐวิสาหกิจไม่ต้องปฏิบัติตามคำสั่ง กฎระเบียบและมติคณะรัฐมนตรีที่ใช้บังคับกับรัฐวิสาหกิจทั่วไปซึ่งคณะรัฐมนตรีลงมติเห็นชอบแล้วระบุว่า “ให้สถาบันการเงินดังกล่าวได้รับยกเว้นไม่ต้องปฏิบัติตามระเบียบของทางราชการ ในเรื่องเงินเดือน สวัสดิการ และผลประโยชน์ค่าตอบแทนของพนักงาน โดยให้เป็นไปตามหลักเกณฑ์และหรือเงื่อนไขในการจ้างเดิมของสถาบันการเงินนั้น สำหรับสถาบันการเงินที่ต้องควบรวมกิจการกับธนาคารกรุงไทย จำกัด (มหาชน) ให้คณะกรรมการธนาคารกรุงไทย ฯ เป็นผู้พิจารณาเรื่องดังกล่าวตามความเหมาะสม” หมายความว่า ให้สถาบันการเงินที่เป็นรัฐวิสาหกิจเนื่องจากกองทุนเพื่อการฟื้นฟูและพัฒนาระบบสถาบันการเงินเข้าแทรกแซงนั้นคงได้รับเงินเดือน สวัสดิการและผลประโยชน์ตอบแทนของพนักงานตามหลักเกณฑ์หรือเงื่อนไขการจ้างเดิมของสถาบันการเงินนั้น ไม่ต้องถือปฏิบัติตามระเบียบของทางราชการที่รัฐวิสาหกิจอิงมาใช้ แต่ข้อเท็จจริงไม่ปรากฏว่าก่อนที่จำเลยที่ 1 จะเปลี่ยนไปเป็นรัฐวิสาหกิจ จำเลยที่ 1 ได้กำหนดให้มีการจ่ายค่าชดเชยแก่พนักงานสูงกว่าสิทธิที่พนักงานรัฐวิสาหกิจพึงได้รับตามระเบียบคณะกรรมการรัฐวิสาหกิจสัมพันธ์ เรื่อง มาตรฐานของสิทธิประโยชน์ของพนักงานรัฐวิสาหกิจ พ.ศ. 2534 ข้อ 45 ดังนั้น การที่จำเลยที่ 1 จ่ายค่าชดเชยเท่ากับอัตราค่าจ้างสุดท้ายจำนวน 180 วัน ให้แก่โจทก์ตาม พ.ร.บ. พนักงานรัฐวิสาหกิจสัมพันธ์ พ.ศ. 2534 มาตรา 11 (1) และมาตรา 11 วรรคสอง ประกอบระเบียบคณะกรรมการรัฐวิสาหกิจสัมพันธ์ เรื่อง มาตรฐานของสิทธิประโยชน์ของพนักงานรัฐวิสาหกิจ พ.ศ. 2534 ข้อ 45 (3) จึงเป็นการจ่ายที่ชอบแล้ว
คดีมีปัญหาต้องวินิจฉัยตามอุทธรณ์ข้อสองของโจทก์ว่า การที่จำเลยที่ 1 เลิกจ้างโจทก์เป็นการทำผิดสัญญาจ้างแรงงานและเป็นการกระทำละเมิดต่อโจทก์ ต้องชดใช้ค่าเสียหายในส่วนนี้ให้แก่โจทก์หรือไม่ เพียงใด เห็นว่า ศาลแรงงานกลางรับฟังข้อเท็จจริงว่าโจทก์เป็นลูกจ้างของจำเลยที่ 1 โดยมิได้มีกำหนดระยะเวลา ซึ่ง ป.พ.พ. มาตรา 582 วรรคหนึ่ง กำหนดว่า หากเป็นสัญญาจ้างแรงงานที่มิได้มีกำหนดระยะเวลา นายจ้างหรือลูกจ้างมีสิทธิบอกเลิกสัญญาจ้างได้ด้วยการบอกกล่าวให้อีกฝ่ายทราบ การที่จำเลยที่ 1 ใช้สิทธิบอกเลิกสัญญาจ้างด้วยการเลิกจ้างโจทก์ซึ่งเป็นการใช้สิทธิตามบทกฎหมายดังกล่าวนั้น จึงมิใช่เป็นการผิดสัญญา และไม่ต้องรับผิดชดใช้ค่าเสียหายจากการผิดสัญญาให้แก่โจทก์ เพียงแต่อาจต้องจ่ายสินจ้างแทนการบอกกล่าวล่วงหน้าให้แก่โจทก์ตามหลักเกณฑ์ใน ป.พ.พ. มาตรา 582 วรรคสอง และเมื่อจำเลยที่ 1 มีสิทธิเลิกสัญญาด้วยการเลิกจ้างโจทก์ได้ตามกฎหมาย ย่อมมิใช่เป็นจงใจหรือประมาทเลินเล่อทำต่อบุคคลอื่นโดยผิดกฎหมายตาม ป.พ.พ. มาตรา 420 จำเลยที่ 1 จึงมิได้กระทำละเมิดต่อโจทก์ ไม่ต้องรับผิดชดใช้ค่าเสียหายกรณีละเมิดให้แก่โจทก์เช่นกัน
คดีมีปัญหาต้องวินิจฉัยตามอุทธรณ์ข้อสามของโจทก์ว่า จำเลยที่ 1 เลิกจ้างโจทก์เป็นการเลิกจ้างไม่เป็นธรรมหรือไม่ และโจทก์เสียหายหรือไม่ เพียงใด ศาลแรงงานกลางรับฟังข้อเท็จจริงว่า จำเลยที่ 1 เลิกจ้างโจทก์เนื่องจากโจทก์ปฏิบัติหน้าที่บกพร่อง ขาดการควบคุมดูแลและการปฏิบัติงานเรื่องการยืมและการคืนทะเบียนรถยนต์ที่ใช้เป็นหลักประกันของผู้ใต้บังคับบัญชาให้เป็นไปอย่างรอบคอบและรัดกุม จนทำให้จำเลยที่ 1 เสียหาย แต่ไม่ร้ายแรง และโจทก์ฝ่าฝืนระเบียบข้อบังคับเกี่ยวกับการทำงานของจำเลยที่ 1 จนเกิดความเสียหายแก่จำเลยที่ 1 แต่มิใช่กรณีร้ายแรง โจทก์อุทธรณ์ว่า การที่โจทก์อนุมัติหนี้เงินกู้รายนายเกียรติศักดิ์และนายไพโรจน์เป็นการกระทำเพื่อประโยชน์ของจำเลยที่ 1 จำเลยที่ 1 ก็ไม่ทักท้วงและยอมรับเอาผลประโยชน์จากการฝ่าฝืนของโจทก์ ถือว่าจำเลยที่ 1 ให้สัตยาบันแก่การกระทำของโจทก์ดังกล่าวแล้วตาม ป.พ.พ. มาตรา 823 เห็นว่า การให้สัตยาบันตามบทกฎหมายดังกล่าวหมายถึงตัวแทนได้กระทำการอันใดอันหนึ่งโดยปราศจากอำนาจก็ดี หรือทำนอกเหนือขอบอำนาจก็ดี ต่อมาตัวการรู้ถึงการกระทำที่ทำโดยปราศจากอำนาจหรือทำนอกอำนาจของตัวแทน แล้วตัวการได้ให้การรับรองการกระทำดังกล่าวของตัวแทน คดีนี้แม้จำเลยที่ 1 จะรับเอาผลประโยชน์จากการกู้เงินที่เกิดจากการกระจายหนี้ แต่ไม่ปรากฏข้อเท็จจริงว่า ขณะที่จำเลยที่ 1 รับเอาผลประโยชน์นั้นได้รู้ถึงการกระทำนอกขอบอำนาจของโจทก์หรือไม่ การรับเอาไว้โดยไม่รู้เช่นนี้ไม่อาจถือว่าเป็นการให้สัตยายันในการกระจายหนี้ของโจทก์ ส่วนที่โจทก์อุทธรณ์ว่า จำเลยที่ 1 ตลอดจนผู้บังคับบัญชาอื่นก็ไม่เคยทักท้วงหรือกล่าวหาว่าการกระทำของโจทก์เป็นการกระทำผิด ถือว่าจำเลยที่ 1 ยินยอมสมัครใจยอมรับความเสียหายนั้นเอง และถือเป็นการกระทำโดยปกติประเพณีของจำเลยที่ 1 การกระทำของโจทก์จึงไม่เป็นความผิดนั้น เห็นว่า การที่โจทก์ฝ่าฝืนระเบียบข้อบังคับเกี่ยวกับการทำงานของจำเลยที่ 1 นั้น แม้จำเลยที่ 1 จะไม่ทักท้วง ก็ไม่อาจถือว่าการกระทำดังกล่าวกลายเป็นการกระทำที่ชอบขึ้นมาได้ การที่จำเลยที่ 1 ไม่ทักท้วงหรือกล่าวหาลงโทษโจทก์อาจเป็นเพราะยังไม่ทราบการกระทำผิดหรือยังไม่เกิดความเสียหายจากการกระทำผิดเท่านั้น เมื่อจำเลยที่ 1 เลิกจ้างโจทก์และมิได้กลั่นแกล้งเลิกจ้างโจทก์ จึงมิใช่เป็นการเลิกจ้างไม่เป็นธรรม
ส่วนปัญหาว่า จำเลยที่ 1 ต้องจ่ายสินจ้างแทนการบอกกล่าวล่วงหน้าให้แก่โจทก์ตามที่ศาลแรงงานกลางพิพากษาหรือไม่ เห็นว่า โจทก์ปฏิบัติหน้าที่บกพร่องเกี่ยวกับการควบคุมดูแลการปฏิบัติงานเกี่ยวกับการยืมและการคืนทะเบียนรถยนต์ที่ใช้เป็นหลักประกันของผู้ใต้บังคับบัญชาให้เป็นไปอย่างรอบคอบและรัดกุมจนเป็นเหตุให้จำเลยที่ 1 เสียหาย ซึ่งการที่โจทก์ปฏิบัติหน้าที่บกพร่องจนเป็นเหตุให้นายจ้างเสียหายเช่นนี้ ถือว่าเป็นการทำประการอื่นอันไม่สมแก่การปฏิบัติหน้าที่ของตนให้ลุล่วงไปโดยถูกต้องและสุจริตตาม ป.พ.พ. มาตรา 583 และที่โจทก์ฝ่าฝืนระเบียบข้อบังคับเกี่ยวกับการทำงานของจำเลยที่ 1 ด้วยการกระจายหนี้รายนายเกียรติศักดิ์และนายไพโรจน์นั้น ย่อมเป็นการที่โจทก์ซึ่งเป็นลูกจ้างจงใจขัดคำสั่งของนายจ้างอันชอบด้วยกฎหมาย จำเลยที่ 1 เลิกจ้างโจทก์ด้วยเหตุทั้งสองประการดังกล่าว จึงไม่ต้องบอกกล่าวล่วงหน้าและไม่ต้องจ่ายสินจ้างแทนการบอกกล่าวล่วงหน้าแก่โจทก์ ตามบทกฎหมายดังกล่าว
พิพากษาแก้เป็นว่า ให้ยกฟ้องในส่วนของสินจ้างแทนการบอกกล่าวล่วงหน้าเสียด้วย นอกจากที่แก้ให้เป็นไปตามคำพิพากษาศาลแรงงานกลาง.