แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา
ย่อสั้น
ความว่า จำเลยที่ 2 ยื่นคำร้องอุทธรณ์คำสั่งศาลอุทธรณ์ที่ไม่อนุญาตให้ปล่อยจำเลยที่ 2 ชั่วคราวระหว่างอุทธรณ์ศาลชั้นต้นสั่งว่า จำเลยที่ 2 ไม่ใช่ผู้ร้องที่ยื่นขอประกันและไม่ใช่ผู้ฟังคำสั่งศาลอุทธรณ์ จะขออุทธรณ์คำสั่งไปศาลฎีกาไม่ได้จึงไม่รับคำร้องนี้
จำเลยที่ 2 เห็นว่า ในการยื่นคำร้องขอให้ปล่อยชั่วคราวในระหว่างการพิจารณาของศาลอุทธรณ์นั้น จำเลยที่ 2 เป็นผู้ลงลายมือชื่อในฐานะผู้ร้องและผู้เรียงตามที่บัญญัติไว้ในประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 106 เมื่อศาลอุทธรณ์มีคำสั่งไม่อนุญาตให้ปล่อยจำเลยที่ 2 ชั่วคราวแล้ว จำเลยที่ 2ในฐานะผู้ร้องขอให้ปล่อยชั่วคราวย่อมมีสิทธิยื่นคำร้องอุทธรณ์คำสั่งของศาลอุทธรณ์ต่อศาลฎีกาได้ตามที่บัญญัติไว้ในประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 119 ทวิ โปรดมีคำสั่งให้รับคำร้องอุทธรณ์คำสั่งศาลอุทธรณ์ที่ไม่อนุญาตให้ปล่อยจำเลยที่ 2ชั่วคราวระหว่างอุทธรณ์ และมีคำสั่งตามคำร้องดังกล่าวของจำเลยที่ 2 ต่อไป
หมายเหตุ โจทก์ยังไม่ได้รับสำเนาคำร้อง
ศาลชั้นต้นพิพากษาว่า ฯลฯ จำเลยที่ 2 มีความผิดฐานพาอาวุธมีดไปในเมืองโดยไม่มีเหตุอันสมควรตามประมวลกฎหมายอาญามาตรา 371 ปรับ 100 บาท ฐานชิงทรัพย์โดยมีอาวุธและร่วมกันตั้งแต่สองคนขึ้นไปตามมาตรา 339 วรรค 2 จำคุก 10 ปี รวมจำคุกจำเลยที่ 2 มีกำหนด 10 ปี ปรับ 100 บาท ฯลฯ
จำเลยที่ 1 ที่ 2 อุทธรณ์ เฉพาะจำเลยที่ 2 ยื่นคำร้องให้ปล่อยชั่วคราวระหว่างอุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์มีคำสั่งว่า พิเคราะห์ข้อหาและพฤติการณ์แห่งคดีแล้วไม่มีเหตุสมควรที่จะปล่อยชั่วคราวในระหว่างอุทธรณ์ ไม่อนุญาต ให้ยกคำร้อง
จำเลยที่ 2 ยื่นคำร้องอุทธรณ์คำสั่งศาลอุทธรณ์ ศาลชั้นต้นมีคำสั่งดังกล่าว
จำเลยที่ 2 จึงยื่นคำร้องนี้
คำสั่ง
พิเคราะห์แล้ว คำร้องขอให้ปล่อยชั่วคราว จำเลยที่ 2 กับนายประกันได้ลงลายมือร่วมกัน แม้นายประกันจะมาฟังคำสั่งขอให้ปล่อยชั่วคราวชั้นอุทธรณ์เพียงคนเดียว จำเลยที่ 2 ซึ่งเป็นผู้ยื่นขอให้ปล่อยชั่วคราวด้วย ย่อมมีสิทธิที่จะอุทธรณ์คำสั่งได้ จึงให้รับอุทธรณ์ของจำเลยที่ 2 และอนุญาตให้ปล่อยชั่วคราวนายสุพัฒน์จำเลยที่ 2 ในระหว่างอุทธรณ์ ตีราคาหลักประกันสามแสนบาท ให้ศาลชั้นต้นพิจารณาหลักทรัพย์และดำเนินการต่อไป