คำสั่งคำร้องที่ 1242/2530

แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา

ย่อสั้น

ความว่า โจทก์ฎีกา ศาลชั้นต้นสั่งว่า คดีนี้ศาลชั้นต้นยกฟ้องจำเลยทั้งสาม ส่วนศาลอุทธรณ์พิพากษาแก้ให้จำเลยที่ 1 รับผิดชดใช้เงินให้แก่โจทก์ ส่วนจำเลยที่ 2 และ 3 คงยกฟ้องเช่นเดิมและโจทก์ฎีกาให้จำเลยที่ 2 และ 3 รับผิดมาแต่ปัญหาข้อเท็จจริงทั้งสิ้น จึงไม่รับฎีกาของโจทก์ตามมาตรา 248 แห่งประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง
โจทก์เห็นว่า แม้คดีนี้มีทุนทรัพย์ที่พิพาทเพียง 26,952.51 บาทแต่ศาลชั้นต้นพิพากษายกฟ้อง ศาลอุทธรณ์พิพากษาแก้ให้จำเลยที่ 1รับผิดต่อโจทก์เป็นการแก้ไขมาก จึงไม่ต้องห้ามฎีกาในปัญหาข้อเท็จจริงตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 248อีกทั้งปัญหาว่า โจทก์จะต้องนำสืบถึงเงื่อนไขในการรับผิดของจำเลยที่ 3 ตามกรมธรรม์ประกันภัยที่จำเลยที่ 3 ยกขึ้นเป็นข้อต่อสู้หรือไม่ เป็นปัญหาข้อกฎหมาย โปรดมีคำสั่งให้รับฎีกาของโจทก์ด้วย
หมายเหตุ จำเลยที่ 2 ที่ 3 แถลงคัดค้าน (อันดับ 140,141)
โจทก์ฟ้องขอให้บังคับจำเลยทั้งสามร่วมกันและแทนกันชดใช้ค่าเสียหายแก่โจทก์เป็นเงิน 26,952.51 บาท และดอกเบี้ยอัตราร้อยละเจ็ดครึ่งต่อปีนับแต่วันทำละเมิดถึงวันฟ้องจำนวน 2,004.48บาท รวมเป็นเงิน 28,956.99 บาท และดอกเบี้ยในอัตราร้อยละเจ็ดครึ่งต่อปีในต้นเงิน 26,952.51 บาท นับถัดจากวันฟ้องจนกว่าจะชำระเสร็จ
ศาลชั้นต้นพิพากษายกฟ้องโจทก์
ศาลอุทธรณ์พิพากษาแก้เป็นว่า ให้จำเลยที่ 1 ใช้เงินจำนวน26,952.51 บาท พร้อมด้วยดอกเบี้ยอัตราร้อยละเจ็ดครึ่งต่อปีในต้นเงินดังกล่าว นับแต่วันที่ 3 พฤษภาคม 2525 จนกว่าจะชำระเสร็จแก่โจทก์ นอกจากที่แก้ให้เป็นไปตามคำพิพากษาศาลชั้นต้น
โจทก์ฎีกา ศาลชั้นต้นมีคำสั่งดังกล่าว (อันดับ 136)
โจทก์จึงยื่นคำร้องนี้ (อันดับ 138)

คำสั่ง
พิเคราะห์แล้ว คดีนี้ศาลชั้นต้นพิพากษายกฟ้องโจทก์ ศาลอุทธรณ์ก็ยังคงพิพากษายกฟ้องโจทก์ สำหรับจำเลยที่ 2 และจำเลยที่ 3ดังนั้นคดีสำหรับจำเลยที่ 2 ที่ 3 จึงถือได้ว่าศาลอุทธรณ์พิพากษายืนตามคำพิพากษาศาลชั้นต้น คู่ความฎีกาในปัญหาข้อเท็จจริงสำหรับจำเลยที่ 2 ที่ 3 ไม่ได้ ต้องห้ามตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 248 ศาลอุทธรณ์วินิจฉัยว่าคดีฟังไม่ได้ว่าจำเลยที่ 1เป็นลูกจ้างของจำเลยที่ 2 และได้กระทำไปในทางการที่จ้างส่วนจำเลยที่ 3 นั้นโจทก์นำสืบเพียงว่าจำเลยที่ 3 ได้รับประกันภัยรถยนต์คันเกิดเหตุจากจำเลยที่ 2 เท่านั้น ส่วนเงื่อนไขในการรับผิดไม่ได้นำสืบ ฝ่ายจำเลยที่ 3 นำสืบว่าตนไม่ต้องรับผิดตามเงื่อนไขในกรมธรรม์ประกันภัยเอกสารหมาย ล.2 ข้อ 2.1,2.2คือไม่ต้องรับผิดต่อความเสียหายที่เกิดจากการสั่นสะเทือนหรือน้ำหนักบรรทุกของรถยนต์ จึงฟังได้ตามที่จำเลยที่ 3 นำสืบจำเลยที่ 2 ที่ 3 จึงไม่ต้องรับผิดต่อโจทก์ โจทก์ฎีกาว่าจำเลยที่ 2 ที่ 3 ต้องรับผิดต่อโจทก์ เพราะจำเลยที่ 1 เป็นลูกจ้างของจำเลยที่ 2 และกระทำการในทางการที่จ้าง ส่วนจำเลยที่ 3นั้น ฎีกาโจทก์อ้างเหตุผลทำนองว่าโจทก์ไม่ต้องนำสืบถึงเงื่อนไขในกรมธรรม์ประกันภัยที่จำเลยที่ 3 ยกเป็นข้อต่อสู้ โจทก์นำสืบแต่เพียงว่าจำเลยที่ 3 รับประกันภัยรถคันเกิดเหตุไว้ตามเอกสารหมาย ล.2ก็เพียงพอแล้ว เช่นนี้เท่ากับโจทก์ฎีกาคัดค้านว่าที่ศาลอุทธรณ์ฟังข้อเท็จจริงตามที่จำเลยที่ 3 นำสืบนั้นโจทก์ไม่เห็นพ้องด้วยฎีกาของโจทก์สำหรับจำเลยที่ 2 ที่ 3 จึงเป็นฎีกาในปัญหาข้อเท็จจริงต้องห้ามตามบทกฎหมายดังกล่าว ศาลชั้นต้นไม่รับฎีกาโจทก์นั้นชอบแล้วให้ยกคำร้อง ค่าคำร้องเป็นพับ

Share