คำสั่งคำร้องที่ 183/2530

แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา

ย่อสั้น

ความว่า จำเลยฎีกา ศาลชั้นต้นสั่งว่า ล้วนเป็นฎีกาข้อเท็จจริงต้องห้ามฎีกาตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 218จึงไม่รับฎีกาจำเลย
จำเลยเห็นว่า จำเลยฎีกาข้อ 2.1,2.2,2.4 ว่าจ่าเอกสมบูรณ์ศักดิ์ทองศาสตรา ไม่ใช่ผู้เสียหาย และการกระทำของจำเลยขาดเจตนาพิเศษ จึงไม่ครบองค์ประกอบความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 157 ตลอดจนการที่จำเลยรับเฝ้ารถจักรยานยนต์ ที่ถูกลักไปนั้น ก็มิใช่เป็นการปฏิบัติหน้าที่ราชการ และข้อ 2.3 เป็นการฎีกาการกระทำของจำเลยจากข้อเท็จจริงที่ศาลอุทธรณ์รับฟัง เป็นยุติแล้ว และไม่มีข้อความตอนใดโต้แย้งข้อเท็จจริงดังกล่าว จึงเป็นปัญหาข้อกฎหมาย ส่วนข้อ 3 จำเลยขอให้ศาลฎีการอการลงโทษให้ เหล่านี้ล้วนเป็นปัญหาข้อกฎหมายทั้งสิ้น มิใช่ข้อเท็จจริง โปรดมีคำสั่งให้รับฎีกาของจำเลยไว้พิจารณาต่อไป
หมายเหตุ โจทก์ได้รับสำเนาคำร้องแล้ว (อันดับ 53)
ศาลอุทธรณ์พิพากษายืน จำเลยมีความผิดตามประมวลกฎหมายอาญามาตรา 157 ฯลฯ จำคุก 2 ปี
จำเลยฎีกา ศาลชั้นต้นมีคำสั่งไม่รับดังกล่าว (อันดับ 51)
จำเลยจึงยื่นคำร้องนี้ (อันดับ 53)

คำสั่ง
พิเคราะห์แล้ว คดีนี้ศาลอุทธรณ์พิพากษายืนตามคำพิพากษาศาลชั้นต้นให้ลงโทษจำคุกจำเลย 2 ปี จึงเป็นคดีต้องห้ามฎีกาในปัญหาข้อเท็จจริงตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 218 ที่จำเลยฎีกาตามข้อ 2.1 และข้อ 2.4 ว่า ขณะคนร้ายลักรถจักรยานยนต์ รถจักรยานยนต์ยังเป็นกรรมสิทธิของบริษัทอิตัลไทยเครดิต จำกัด และอยู่ในความครอบครองของนายอนุสรณ์ เลียงพิบูลย์ ซึ่งเป็น ผู้รับโอนสิทธิการเช่าซื้อต่อจากจ่าเอกสมบูรณ์ศักดิ์ทองศาสตราจ่าเอกสมบูรณ์ศักดิ์ทองศาสตราจึงไม่ใช่ผู้เสียหายตาม ประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 2(4) ไม่มีอำนาจร้องทุกข์ กล่าวโทษจำเลยต่อพนักงานสอบสวนเพราะการกระทำของจำเลยไม่ได้ ทำให้จ่าเอกสมบูรณ์ศักดิ์เสียหายอันจะเป็นความผิดตาม ประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 157 และไม่มีการร้องทุกข์ตามขั้นตอนของกฎหมายนั้น เห็นว่าคดีนี้เป็นคดีอาญาแผ่นดิน ผู้เสียหายจะร้องทุกข์กล่าวโทษหรือไม่ก็ตามพนักงานสอบสวนก็มีอำนาจทำการสอบสวนได้คำฟ้องก็บรรยายว่าจำเลยบังอาจปฏิบัติและละเว้นปฏิบัติหน้าที่โดยมิชอบเพื่อก่อให้เกิดความเสียหายแก่เจ้าของรถและผู้เช่าซื้อรถนั้น ซึ่งตามทางพิจารณาเมื่อข้อเท็จจริงฟังได้ว่าการปฏิบัติและ ละเว้นปฏิบัติหน้าที่โดยมิชอบของจำเลยก่อให้เกิดความเสียหายแก่บริษัทอิตัลไทยเครดิต จำกัด ผู้เป็นเจ้าของกรรมสิทธิหรือนายอนุสรณ์ผู้ครอบครองรถจักรยานยนต์คันที่หาย ศาลก็พิพากษา ลงโทษจำเลยตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 157 ได้ ทั้งคำฟ้องก็ได้กล่าวไว้โดยแจ้งชัดว่าพนักงานสอบสวนสถานีตำรวจนครบาลคลองตัน ได้ทำการสอบสวนแล้ว จำเลยไม่ได้ต่อสู้ว่า การสอบสวนไม่ชอบดังนั้น ฎีกาของจำเลยข้อนี้ จึงเป็นปัญหาข้อกฎหมายที่ไม่เป็นสาระแก่คดีไม่ควรรับฎีกา
ฎีกาข้อ 2.2 ที่จำเลยฎีกาโดยยกประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 157มากล่าวและว่าความผิดตามมาตรานี้ต้องมีเจตนาพิเศษแล้วสรุปว่าจำเลยมุ่งหมายที่จะช่วยผู้เสียหายโดยเฝ้ารถให้ผู้เสียหายนั้นเห็นว่าเป็นฎีกาที่ต้องวินิจฉัยว่าจำเลยมีเจตนาเฝ้ารถให้ผู้เสียหายหรือไม่ เป็นฎีกาในปัญหาข้อเท็จจริง ฎีกาข้อ 2.3 ที่จำเลยฎีกาว่าสถานที่พบรถจักรยานยนต์ที่หายอยู่ในเขตท้องที่สถานีตำรวจนครบาลคลองตัน จำเลยเป็นเจ้าพนักงานตำรวจสถานีตำรวจนครบาลพระโขนงซึ่งอยู่นอกท้องที่เกิดเหตุ จำเลยไปรับประทานอาหารไม่ได้เข้าเวรยามจึงไม่ใช่เจ้าหน้าที่โดยตรงที่จะต้องปฏิบัตินำรถจักรยานยนต์ที่ถูกลักไปส่งพนักงานสอบสวนนั้น เห็นว่าจำเลยมิได้ยกข้อเท็จจริงที่ยุติแล้วตามคำพิพากษาศาลอุทธรณ์มากล่าวทั้งหมด โดยเว้นไม่กล่าวข้อเท็จจริงที่ว่าขณะนั้น จำเลยเป็นผู้ครอบครองรถจักรยานยนต์คันที่หายอยู่และจำเลยแจ้งกับสิบตำรวจตรีบรรเจิด ลบล้ำเลิศว่าได้ติดตามคนร้ายลักรถจักรยานยนต์คันดังกล่าวมาแต่แรกและรับจัดการเองแล้วรถจักรยานยนต์ได้หายไปขณะอยู่ในความครอบครองของจำเลยจึงเป็นการโต้เถียงข้อเท็จจริงที่ยุติแล้วว่าข้อเท็จจริงเป็นดังจำเลยฎีกาเพื่อนำไปสู่ปัญหาข้อกฎหมายที่จำเลยอ้างเป็นฎีกาในปัญหาข้อเท็จจริง และฎีกาข้อ 3 ที่จำเลยฎีกาขอให้รอการลงโทษเป็นฎีกาดุลยพินิจของศาลเป็นฎีกาในปัญหาข้อเท็จจริงเช่นกันที่ศาลชั้นต้นสั่งไม่รับฎีกาชอบแล้ว ยกคำร้อง

Share