คำสั่งคำร้องที่ 2676/2537

แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา

ย่อสั้น

ความว่า โจทก์ฎีกา ศาลชั้นต้นสั่งว่า คดีโจทก์ศาลชั้นต้นและศาลอุทธรณ์ยกฟ้อง จึงต้องห้ามฎีกา ตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณา ความอาญา มาตรา 220 ไม่รับฎีกา
โจทก์เห็นว่า กรณีต้องห้ามฎีกาตามมาตรา 220 ที่แก้ไขใหม่ ไม่น่าจะบัญญัติขึ้นเพื่อที่จะบังคับใช้กับกรณีการยกฟ้อง ตามมาตรา 167 ด้วย คงมีความหมายและบังคับใช้กับการพิพากษา ยกฟ้องในคดี ตามมาตรา 185 เท่านั้น การที่ศาลชั้นต้นสั่งไม่รับ ฎีกาของโจทก์โดยอ้างเหตุตามมาตรา 220 จึงเป็นคำสั่งที่ ผิดพลาดคลาดเคลื่อนต่อกฎหมาย โปรดมีคำสั่งให้รับฎีกาของโจทก์ ไว้พิจารณาต่อไปด้วย
หมายเหตุ ทนายจำเลยได้รับสำเนาคำร้องแล้ว (อันดับ 57)
คดีสองสำนวนนี้ โจทก์เป็นบุคคลเดียวกัน ศาลชั้นต้นพิจารณา พิพากษารวมกัน โดยเรียกนางวิไลวิลัยเกษตร จำเลยในสำนวนแรกว่าจำเลยที่ 1 นายวน วิลัยเกษตร จำเลยในสำนวนหลัง ว่าจำเลยที่ 2
โจทก์ฟ้องขอให้ลงโทษจำเลยทั้งสองตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 177
ศาลชั้นต้นไต่สวนมูลฟ้องแล้ว เห็นว่าคดีของโจทก์ไม่มีมูลพิพากษายกฟ้อง
ศาลอุทธรณ์ภาค 3 พิพากษายืน
โจทก์ฎีกา ศาลชั้นต้นมีคำสั่งไม่รับฎีกาดังกล่าว (อันดับ 56)
โจทก์จึงยื่นคำร้องนี้ (อันดับ 57)

คำสั่ง
พิเคราะห์แล้ว ประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 216 บัญญัติว่า “ภายใต้บังคับแห่งมาตรา 217 ถึง 221 คู่ความมีอำนาจ ฎีกาคัดค้านคำพิพากษาหรือคำสั่งศาลอุทธรณ์” และมาตรา 220บัญญัติว่า “ห้ามมิให้คู่ความฎีกาในคดีที่ศาลชั้นต้นและ ศาลอุทธรณ์พิพากษายกฟ้องโจทก์” บทบัญญัติทั้งสองมาตรานี้ บัญญัติไว้ในภาค 4 ลักษณะ 2 หมวด 1 แห่ง ประมวลกฎหมายวิธีพิจารณา ความอาญา ซึ่งว่าด้วยเรื่องหลักทั่วไป เกี่ยวกับฎีกา ดังนั้น จึงต้องใช้บังคับกับบรรดาคดีอาญาทุกคดี ที่คู่ความฎีกาต่อศาลฎีกา ไม่ว่าจะเป็นกรณียกฟ้องตาม มาตรา 167 หรือมาตรา 185 แห่ง ประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา ศาลชั้นต้นสั่งไม่รับฎีกา ชอบแล้ว ให้ยกคำร้อง

Share