แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา
ย่อสั้น
ความว่า จำเลยได้ยื่นฎีกาเมื่อวันที่ 16 เมษายน 2536 คดีอยู่ในระหว่างการพิจารณาของศาลฎีกา จำเลยมีความประสงค์ขอแก้ไขคำฟ้องฎีกาในแผ่นที่ 5 ด้านหลังบรรทัดที่ 13 และ 14 นับจากด้านบนลงล่าง ข้อความที่ว่า “หมายถึงการใส่ความผู้อื่นต่อบุคคลที่ 3 อันเป็นความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 393 ซึ่งต่างกับความผิดฐานดูหมิ่นซึ่งหน้า ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 326” ขอแก้เป็นว่า “หมายถึงการใส่ความผู้อื่นต่อ บุคคลที่ 3อันเป็นความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 326 ซึ่งต่างกับความผิดฐานดูหมิ่นซึ่งหน้า ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 393″และจำเลยขอแก้ไขในคำฟ้องฎีกาโดยขอเพิ่มเติมข้อความ ตามที่ปรากฏรายละเอียดในคำร้อง นอกจากที่ได้ขอแก้ไขและเพิ่มเติมดังกล่าวมาแล้ว จำเลยขอถือเอาตามคำฟ้องฎีกาและคำร้องขอแก้ไข ฎีกาเดิมที่ได้ยื่นต่อศาลไว้แล้ว โปรดอนุญาต
หมายเหตุ โจทก์ได้รับสำเนาคำร้องแล้ว (อันดับ 92)
ศาลชั้นต้นพิพากษาให้โจทก์และจำเลยหย่าขาดจากการเป็น สามีภรรยากัน
ศาลอุทธรณ์พิพากษายืน
จำเลยฎีกา และยื่นคำร้องขอแก้ไขฎีกา (อันดับ 82,86)
คดีอยู่ระหว่างการพิจารณาของศาลฎีกา
จำเลยยื่นคำร้องดังกล่าว (อันดับ 91)
คำสั่ง
พิเคราะห์แล้ว ข้อความที่จำเลยขอแก้ไขในแผ่นที่ 5 ด้านหลัง บรรทัดที่ 13 และที่ 14 ตามฎีกาของจำเลยที่ยื่นไว้ลงวันที่ 16เมษายน 2536 นั้นเป็นการแก้ไขข้อความที่จำเลย ยกขึ้นอ้างอิงไว้แล้วให้ถูกต้องตามบทกฎหมายที่บัญญัติ จึงอนุญาต ส่วนข้อความ ตามคำร้องของจำเลยลงวันที่ 20 กันยายน 2536 นอกจากที่อนุญาตแล้ว เห็นว่า เป็นข้อความที่จำเลยกล่าวอ้างขึ้นมาใหม่ภายหลังที่พ้นกำหนดระยะเวลาฎีกาแล้ว ไม่อนุญาต