คำสั่งคำร้องที่ 1013/2536

แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา

ย่อสั้น

ความว่า จำเลยที่ 1 ฎีกา ศาลชั้นต้นสั่งว่า ฎีกาของจำเลยข้อ 2 ประการแรกและประการที่ 2 เป็นฎีกาข้อเท็จจริงไปสู่ข้อกฎหมาย ส่วนฎีกาประการที่ 3 เป็นฎีกาข้อเท็จจริงเมื่อศาลอุทธรณ์พิพากษายืน ศาลชั้นต้นลงโทษจำคุกจำเลยที่ 1ไม่เกินห้าปี จึงต้องห้ามฎีกาข้อเท็จจริงตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 218 วรรคแรก ประกอบพระราชบัญญัติจัดตั้งศาลแขวงฯ มาตรา 4 จึงไม่รับฎีกา จำเลยที่ 1 เห็นว่า ฎีกาของจำเลยที่ 1 ข้อ 2 เป็นปัญหาข้อกฎหมายว่า โจทก์ร่วมทั้งหกเป็นผู้เสียหายโดยนิตินัยหรือไม่และคดีโจทก์ขาดอายุความหรือไม่ โปรดมีคำสั่งให้รับฎีกาของจำเลยที่ 1 ดังกล่าวด้วย หมายเหตุ โจทก์และโจทก์ร่วมทั้งหกต่างได้รับสำเนาคำร้องแล้ว (อันดับ 232 แผ่นที่ 2,277 แผ่นที่ 2 ที่ 3,279 แผ่นที่ 2, 286 แผ่นที่ 3 ที่ 5,287 แผ่นที่ 2) คดีของศาลชั้นต้นหมายเลขแดงที่ 2285/2534 นี้ ศาลชั้นต้นพิจารณาพิพากษารวมกับอีกคดีหนึ่ง โดยเรียกจำเลยทั้งสองในคดีนี้ว่า จำเลยที่ 1 ที่ 2 ตามเดิม เรียกจำเลยในอีกคดีหนึ่งว่า จำเลยที่ 3 ระหว่างพิจารณา นายทวี ยมวรรณ กับพวกรวม 6 คนผู้เสียหายขอเข้าเป็นโจทก์ร่วม ศาลชั้นต้นอนุญาต ศาลชั้นต้นพิพากษาว่า จำเลยทั้งสามมีความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 341,83,91 ฯลฯ ลงโทษจำเลยที่ 1จำเลยที่ 2 และจำเลยที่ 3 จำคุกคนละ 4 เดือนจำเลยทั้งสามกระทำความผิด 7 กรรมต่างกัน เรียงกระทงลงโทษ รวมแล้วลงโทษจำเลยทั้งสามจำคุกคนละ 28 เดือน ฯลฯ ศาลอุทธรณ์พิพากษาแก้เป็นว่า จำเลยที่ 2 และที่ 3 มีความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 341,83,91 ที่แก้ไขแล้วเพียง 6 กรรมต่างกัน เรียงกระทงลงโทษคงจำคุกจำเลยที่ 2และที่ 3 ไว้คนละ 24 เดือน ให้จำเลยทั้งสามร่วมกันคืนหรือใช้เงิน ฯลฯ นอกจากที่แก้คงให้เป็นไปตามคำพิพากษาศาลชั้นต้น จำเลยที่ 1 ฎีกา ศาลชั้นต้นมีคำสั่งดังกล่าว (อันดับ 261) จำเลยที่ 1 จึงยื่นคำร้องนี้ (อันดับ 263)

คำสั่ง พิเคราะห์แล้ว ที่จำเลยที่ 1 ฎีกาว่าโจทก์ร่วมทั้งหกและนายจำเนียรพงษ์สวัสดิ์ ผู้เสียหายยอมเสียเงินให้จำเลยเพื่อฝากงานให้แก่พวกของผู้เสียหาย เท่ากับผู้เสียหายรู้ว่าเพื่อให้ผู้ใหญ่กระทำหรือไม่กระทำที่มิชอบด้วยหน้าที่ ถือว่าผู้เสียหายมีส่วนร่วมในการกระทำที่ไม่ชอบด้วยกฎหมาย นั้นแต่ในข้อนี้ศาลอุทธรณ์ฟังว่าไม่ปรากฏว่าผู้เสียหายทั้งเจ็ดให้เงินไปเพื่อให้จำเลยนำไปให้เจ้าพนักงานเพื่อจูงใจให้กระทำ โดยไม่ชอบด้วยหน้าที่ ฎีกาของจำเลยที่ 1 เป็นฎีกาข้อเท็จจริง อันนำไปสู่ปัญหาข้อกฎหมาย จึงถือเป็นฎีกาในปัญหาข้อเท็จจริง สำหรับฎีกาของจำเลยที่ 1 ที่ว่า โจทก์ร่วมทั้งหกและนายจำเนียรพงษ์สวัสดิ์ รู้เรื่องการถูกหลอกลวงก่อนที่จะมาทวงเงิน เท่ากับจำเลยที่ 1 ฎีกาโต้เถียงเรื่องโจทก์ร่วมทั้งหกและนายจำเนียรพงษ์สวัสดิ์ รู้เรื่องถูกหลอกลวงเมื่อใด ซึ่งเป็นฎีกาในปัญหาข้อเท็จจริงเช่นเดียวกันฎีกาของจำเลยที่ 1 ดังกล่าวจึงต้องห้ามตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 218 วรรคแรกศาลชั้นต้นสั่งไม่รับฎีกาของจำเลยที่ 1 ชอบแล้ว ให้ยกคำร้อง

Share