คำสั่งคำร้องที่ 1979/2541

แหล่งที่มา : เนติบัณฑิตยสภา

ย่อสั้น

โจทก์ทั้งห้าฟ้องคดีในฐานะผู้จัดการมรดกของ ส.ตามพินัยกรรม ต่อมาโจทก์ที่ 1 และที่ 2 ถึงแก่ความตายจึงมีเหตุขัดข้องในการจัดการมรดก และศาลได้มีคำสั่งตั้งโจทก์ที่ 3 ที่ 4 และที่ 5 ร่วมกันเป็นผู้จัดการมรดกของ ส.โจทก์ที่ 3 ถึงที่ 5 จึงมีสิทธิและหน้าที่ในการจัดการมรดกต่อไปได้ การที่โจทก์ที่ 3 ถึงที่ 5 ยื่นคำร้องขอดำเนินคดีนี้ในฐานะผู้จัดการมรดกของ ส. ต่อไปนั้น กรณีตามคำร้องมิใช่เป็นเรื่องขอเข้าเป็นคู่ความ แทนที่โจทก์ที่ 1 และที่ 2 ผู้มรณะ ศาลจึงอนุญาต ให้โจทก์ที่ 3 ถึงที่ 5 ในฐานะผู้จัดการมรดกของ ส. ดำเนินคดีต่อไปได้ตามคำร้อง

ย่อยาว

ศาลชั้นต้นพิพากษาให้เพิกถอนการจดทะเบียนการได้มา โดยการครอบครองปรปักษ์ของจำเลยในที่ดินพิพาทโฉนดเลขที่ 2196 เลขที่ 1 หน้าสำรวจ 302 หน้า 96 ตำบลทุ่งกระพังโหม อำเภอกำแพงแสนจังหวัดนครปฐม ซึ่งปัจจุบันมีชื่อจำเลยเป็นเจ้าของกรรมสิทธิ์กลับคืนในนามสมเด็จพระนางเจ้าอินทรศักดิศจี หากจำเลยขัดขืน ให้ถือเอาคำพิพากษาเป็นการแสดงเจตนา ของจำเลยและให้จำเลยชำระค่าเสียหายแก่โจทก์ทั้งห้าปีละ 10,000 บาท นับแต่วันฟ้องเป็นต้นไปจนกว่าจะจดทะเบียน เพิกถอนที่ดินพิพาทเสร็จ คำขออื่นนอกจากนี้ให้ยก
ศาลอุทธรณ์ภาค 3 พิพากษายืน
จำเลยฎีกา
ในระหว่างการพิจารณาของศาลฎีกา โจทก์ที่ 2 ถึงแก่กรรม นางสาวโสภนา สุจริตกุล ยื่นคำร้องขอเข้าเป็นคู่ความแทนโจทก์ที่ 2 ผู้มรณะ ศาลฎีกาอนุญาต
คดีอยู่ระหว่างนัดฟังคำพิพากษาศาลฎีกา
โจทก์ที่ 3 ที่ 4 และที่ 5 ยื่นคำร้องนี้ว่า คดีนี้โจทก์ทั้งห้าฟ้องคดีในฐานะผู้จัดการมรดกของสมเด็จพระนางเจ้าอินทรศักดิศจีเนื่องจากในระหว่างการพิจารณาคดีของศาลฎีกา โจทก์ที่ 2 และโจทก์ที่ 1ถึงแก่ความตายเมื่อวันที่ 19 พฤษภาคม 2540 และวันที่ 22 มิถุนายน 2540 ตามลำดับ ในส่วนของโจทก์ที่ 2 มีนางสาวโสภนา สุจริตกุล บุตรของโจทก์ที่ 2 ยื่นคำร้องขอดำเนินคดีนี้แทนโจทก์ที่ 2 และศาลฎีกาอนุญาตแล้วบัดนี้ โจทก์ที่ 3 ที่ 4 และโจทก์ที่ 5 ในฐานะผู้จัดการมรดกของสมเด็จพระนางเจ้าอินทรศักดิศจีที่ยังมีชาติ อยู่ยื่นคำร้องขอเป็นผู้จัดการมรดกต่อไปและศาลแพ่งมีคำสั่งให้โจทก์ที่ 3 โจทก์ที่ 4 และโจทก์ที่ 5 เป็นผู้จัดการมรดกของสมเด็จพระนางเจ้าอินทรศักดศจี แล้ว โจทก์ที่ 3 โจทก์ที่ 4 และโจทก์ที่ 5 จึงมีความประสงค์จะดำเนินคดีนี้ในฐานะ ผู้จัดการมรดกของสมเด็จพระนางเจ้าอินทรศักดิศจีต่อไป
ศาลฎีกามีคำสั่งว่า “โจทก์ทั้งห้าฟ้องคดีในฐานะผู้จัดการมรดกของสมเด็จพระนางเจ้าอินทรศักดิศจี เมื่อโจทก์ที่ 1 และโจทก์ที่ 2 ถึงแก่ความตาย จึงมีเหตุขัดข้องในการจัดการมรดก จนกระทั่งต่อมาศาลได้มีคำสั่งตั้งโจทก์ที่ 3 ที่ 4 และที่ 5 ร่วมกันเป็นผู้จัดการมรดก โจทก์ที่ 3 ที่ 4 และที่ 5 จึงมีสิทธิและหน้าที่ในการจัดการมรดกต่อไป กรณีตามคำร้อง มิใช่เป็นเรื่องขอเข้าเป็นคู่ความแทนที่ผู้มรณะตามที่จำเลย ยื่นคำร้องคัดค้าน
อนุญาตให้โจทก์ที่ 3 ที่ 4 และที่ 5 ในฐานะผู้จัดการมรดกของสมเด็จพระนางเจ้าอินทรศักดิศจี ดำเนินคดีตามคำร้อง”

Share