คำสั่งคำร้องที่ 1027/2538

แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา

ย่อสั้น

ความว่า จำเลยทั้งสองฎีกา ศาลชั้นต้นมีคำสั่งว่าผู้พิพากษาที่จำเลยทั้งสองขอให้รับรองให้ฎีกาในปัญหาข้อเท็จจริง ไม่อนุญาตให้จำเลยทั้งสองฎีกาในปัญหาข้อเท็จจริงแล้ว ฎีกาตาม ข้อ 2 เป็นปัญหาข้อเท็จจริงจึงไม่รับฎีกา ส่วนฎีกาตามข้อ 3 ซึ่งอ้างว่าเป็นปัญหาข้อกฎหมายนั้น จำเลยทั้งสองมิได้ยกขึ้น ว่ากล่าวแต่ศาลชั้นต้นและศาลอุทธรณ์ ทั้งมิได้บรรยาย ให้ชัดเจนว่าหนี้ตามฟ้องขาดอายุความในเรื่องอะไร เพราะเหตุใด ประกอบกับเป็นปัญหาข้อกฎหมายที่ไม่เป็นสาระแก่คดีอันควรได้รับการวินิจฉัย จึงไม่รับฎีกาข้อกฎหมายเช่นกัน จำเลยทั้งสองเห็นว่า ฎีกาข้อ 2 ที่ว่า มูลหนี้ตามเช็คพิพาท ทั้งสี่ฉบับไม่อาจฟ้องบังคับชำระหนี้ได้ตามกฎหมายโจทก์จึงไม่มีอำนาจฟ้อง และฎีกาข้อ 3 ที่ว่าเช็คพิพาทขาดอายุความฟ้องร้องแล้ว เป็นปัญหาข้อกฎหมายเกี่ยวกับความสงบเรียบร้อยของประชาชน และมีสาระแก่คดีอันควรได้รับการวินิจฉัย จากศาลฎีกา โปรดมีคำสั่งรับฎีกาของจำเลยทั้งสองไว้พิจารณาด้วย หมายเหตุ โจทก์ได้รับสำเนาคำร้องแล้ว (อันดับ 107) ศาลชั้นต้นพิพากษาว่า จำเลยทั้งสองมีความผิดตามพระราชบัญญัติว่าด้วยความผิดอันเกิดจากการใช้เช็ค พ.ศ. 2534มาตรา 4 ประกอบประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 83 การกระทำของจำเลย ทั้งสองเป็นความผิดหลายกรรม เรียงกระทงลงโทษตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 91 ปรับจำเลยที่ 1 กระทงละ 50,000 บาท และจำคุก จำเลยที่ 2 กระทงละ 5 เดือน รวมสี่กระทง ปรับจำเลยที่ 1 จำนวน 200,000 บาท และจำคุกจำเลยที่ 2 มีกำหนด 20 เดือน หากจำเลยที่ 1 ไม่ชำระค่าปรับให้บังคับตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 29 ส่วนที่โจทก์ขอให้นับโทษจำเลยที่ 2 ในคดีนี้ต่อจากโทษของจำเลยที่ 2 ในคดีอาญาหมายเลขดำที่ 2835/2535, 2126/2536 และ 3652/2536 ของศาลนี้นั้น ไม่ปรากฏว่าศาลในคดีทั้งสาม สำนวนดังกล่าวมีคำพิพากษาแล้ว จึงไม่อาจนับโทษต่อได้ ให้ยกคำขอในส่วนนี้ ศาลอุทธรณ์ภาค 1 พิพากษายืน จำเลยทั้งสองฎีกา ศาลชั้นต้นมีคำสั่งไม่รับฎีกาดังกล่าว(อันดับ 105) จำเลยทั้งสองจึงยื่นคำร้องนี้ (อันดับ 107)

คำสั่ง พิเคราะห์แล้ว จำเลยทั้งสองฎีกาว่า มูลหนี้ตามเช็คพิพาท ไม่อาจฟ้องบังคับชำระหนี้ได้ตามกฎหมาย เพราะจำนวนหนี้ ตามเช็คพิพาทสูงกว่าจำนวนหนี้ที่มีอยู่จริงโจทก์จึงไม่มี อำนาจฟ้องนั้น เห็นว่า เป็นการเถียงข้อเท็จจริงซึ่งเป็นที่ ยุติและต้องห้ามฎีกาเพื่อนำไปสู่การวินิจฉัยปัญหาข้อกฎหมาย ย่อมมีผลอย่างเดียวกับการฎีกาในปัญหาข้อเท็จจริง ซึ่งต้อง ห้ามฎีกาตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 218 วรรคแรกส่วนฎีกาในข้อที่ว่า มิได้มีการใช้สิทธิฟ้องบังคับชำระหนี้ทางแพ่งและหนี้ดังกล่าวขาดอายุความแล้วก็เป็นข้อที่มิได้ยกขึ้นว่ากันมาแล้วแต่ในศาลชั้นต้นและศาลอุทธรณ์ ทั้งมิใช่ข้อกฎหมายเกี่ยวกับความสงบเรียบร้อยของประชาชน ต้องห้ามฎีกาตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 195 ประกอบด้วยมาตรา 225 และไม่มีเหตุสมควรจะวินิจฉัย ที่ศาลชั้นต้นสั่งไม่รับฎีกาของจำเลยทั้งสองชอบแล้ว ยกคำร้อง

Share