คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 6957/2540

แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา

ย่อสั้น

ที่จำเลยที่ 2 ฎีกาว่า การรับฟังพยานหลักฐานของศาลอุทธรณ์คลาดเคลื่อนเพราะสัญญากู้ยืมเงิน 80,000 บาท มิได้มีการกู้ยืมเงินกันจริงมูลหนี้เดิมเป็นการซื้อขายทองรูปพรรณ หาใช่เป็นการกู้ยืมเงินไม่นั้น เป็นการฎีกาในข้อเท็จจริงต้องห้ามมิให้ฎีกา
จำเลยที่ 2 ยอมรับไว้ว่าได้ลงลายมือชื่อไว้เป็นผู้ค้ำประกันตามสัญญาค้ำประกันเอกสารหมาย จ.2 อีกทั้งจำเลยที่ 2 ได้เสียค่าอ้างเอกสารตามสัญญาค้ำประกันเอกสารหมาย ล.4 แล้ว ซึ่งเป็นเอกสารเรื่องเดียวกันและคู่ความทั้งสองฝ่ายมีสิทธิที่จะอ้างอิงพยานหลักฐานร่วมกันได้ตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 91 ดังนี้ ที่ศาลชั้นต้นและศาลอุทธรณ์รับฟังเอกสารดังกล่าวจึงชอบแล้ว

ย่อยาว

โจทก์ฟ้องว่า เมื่อวันที่ 19 สิงหาคม 2535 จำเลยที่ 1 ทำสัญญากู้ยืมเงิน 120,000บาท ในสัญญาไม่มีกำหนดเวลาให้คืนเงินซึ่งยืมไป ตกลงให้ดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 15 ต่อปี โดยมีจำเลยที่ 2 ทำสัญญาเป็นผู้ค้ำประกัน จำเลยที่ 1 รับเงินจำนวนดังกล่าวจากโจทก์แล้ว จำเลยที่ 1 ชำระดอกเบี้ยแก่โจทก์เพียง 10,000 บาท โดยไม่ชำระต้นเงินและดอกเบี้ยอีกเลย โจทก์ทวงถามแล้ว แต่จำเลยทั้งสองเพิกเฉย จำเลยทั้งสองต้องร่วมกันชำระต้นเงิน 120,000 บาท และดอกเบี้ยค้างชำระอัตราร้อยละ 15 ต่อปี ของต้นเงินจำนวนดังกล่าว นับแต่วันที่ 19 สิงหาคม 2535 ถึงวันฟ้องเป็นเวลา 3 ปี เป็นเงินดอกเบี้ย54,000 บาท หักเงินที่จำเลยที่ 1 ชำระดอกเบี้ย 10,000 บาทแล้ว คงเหลือค่าดอกเบี้ยที่ค้างชำระ 44,000 บาท รวมเป็นเงินที่ต้องชำระทั้งสิ้น 164,000 บาท ขอให้บังคับจำเลยทั้งสองร่วมกันชำระเงิน 164,000 บาท แก่โจทก์ พร้อมดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 15 ต่อปี ของต้นเงิน 120,000 บาท นับตั้งแต่วันฟ้องจนกว่าชำระเสร็จ

จำเลยทั้งสองให้การว่า นางสำเนียง โป่งทองคำ ซื้อทองรูปพรรณ หนัก 5 บาท จากโจทก์ในราคา 30,000 บาท ผ่อนชำระราคาเป็นรายวัน วันละ 300 บาท เป็นเวลา 9 เดือน แต่นางสำเนียงไม่ชำระราคาทองให้โจทก์ โจทก์จึงให้นางสำเนียงทำสัญญากู้ยืมเงินจากโจทก์ 80,000 บาท โดยจำเลยที่ 1 ลงลายมือชื่อเป็นผู้ค้ำประกัน ซึ่งรวมดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 20 ต่อเดือนเข้าด้วย และในวันเดียวกันโจทก์ให้จำเลยที่ 1 ทำสัญญากู้เงินอีก 1 ฉบับ โดยสัญญากู้ยืมเงินดังกล่าวยังไม่กรอกข้อความ ต่อมาวันที่ 19สิงหาคม 2535 โจทก์แจ้งให้จำเลยที่ 1 และนางสำเนียงชำระเงิน 80,000 บาท แต่นางสำเนียงไม่ชำระ โจทก์จึงให้จำเลยที่ 2 กรอกสัญญากู้เงินยืมเงิน 120,000 บาทจำเลยที่ 2 ได้ลงลายมือชื่อเป็นผู้ค้ำประกัน ตามสัญญาลงวันที่ 19 สิงหาคม 2535 ได้ลงรายละเอียดในสัญญากู้ยืมเงิน 120,000 บาทจริง โจทก์คิดดอกเบี้ยสูงกว่าที่กฎหมายกำหนดจึงเรียกไม่ได้สัญญากู้ยืมเงินมีมูลหนี้เพียง 30,000 บาท เป็นการรับสภาพหนี้นับถึงวันฟ้องเกิน 2 ปี ฟ้องโจทก์จึงขาดอายุความ จำเลยที่ 2 เคยนำเงินไปชำระให้โจทก์30,000 บาทแล้ว ขอให้ยกฟ้อง

ศาลชั้นต้นพิพากษาให้จำเลยที่ 1 ชำระเงิน 154,000 บาท แก่โจทก์พร้อมดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 15 ต่อปี ของต้นเงิน 120,000 บาท นับถัดจากวันฟ้องจนกว่าจะได้ชำระเสร็จ เมื่อจำเลยที่ 1 ไม่ชำระจึงให้จำเลยที่ 2 ชำระเงินแทน

จำเลยที่ 2 อุทธรณ์

ศาลอุทธรณ์ภาค 3 พิพากษายืน

จำเลยที่ 2 ฎีกา

ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า คดีนี้จำนวนทุนทรัพย์ที่พิพาทกันในชั้นฎีกาไม่เกินสองแสนบาท ประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 248 ห้ามมิให้คู่ความฎีกาในปัญหาข้อเท็จจริง ที่จำเลยที่ 2 ฎีกาว่า การรับฟังพยานหลักฐานของศาลอุทธรณ์ภาค 3 คลาดเคลื่อน เพราะสัญญากู้ยืมเงิน 80,000 บาท ก็มิได้มีการกู้ยืมเงินกันจริง มูลหนี้เดิมเป็นการซื้อขายทองรูปพรรณ หาใช่เป็นการกู้ยืมเงินไม่ ฎีกาข้อนี้ เมื่อจำเลยที่ 2 นำสืบรับข้อเท็จจริงว่า จำเลยที่ 2 ได้ทำสัญญาค้ำประกันไว้ตามเอกสารหมาย จ.2 ซึ่งเป็นสัญญาฉบับเดียวกันกับเอกสารหมาย ล.4 โดยจำเลยที่ 2 เป็นผู้เขียนลงรายละเอียดในสัญญากู้ยืมเงิน 120,000 บาทจริง แต่หนี้ดังกล่าวสืบเนื่องมาจากหนี้จำนวน 80,000 บาท และจำเลยที่ 2 เคยชำระหนี้แทนไปแล้ว 30,000 บาท จำเลยที่ 2 จึงไม่ต้องรับผิดต่อโจทก์ตามที่จำเลยที่ 2 ฎีกาดังกล่าว จึงเป็นการฎีกาในข้อเท็จจริงต้องห้ามมิให้ฎีกา ส่วนที่จำเลยที่ 2 ฎีกาเรื่องอายุความโดยอ้างว่ากรณีคดีนี้เป็นเรื่องการซื้อขายมีอายุความ 2 ปี และได้ให้การไว้ว่าเป็นการรับสารภาพหนี้นับถึงวันฟ้องเกิน 2 ปี ฟ้องโจทก์จึงขาดอายุความ ศาลฎีกาเห็นว่าเมื่อข้อเท็จจริงฟังเป็นยุติว่า จำเลยที่ 2 ทำสัญญาค้ำประกันการกู้เงิน กรณีจึงต้องใช้อายุความ 10 ปี ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์มาตรา 193/30 ตามที่ศาลอุทธรณ์ภาค 3 วินิจฉัยชอบแล้ว ที่จำเลยที่ 2 ฎีกาปัญหาข้อกฎหมายข้อสุดท้ายเรื่องโจทก์ไม่ได้เสียค่าอ้างเอกสารตามสัญญากู้ยืมเงินตามเอกสารหมาย จ.1 และสัญญาค้ำประกันตามเอกสารหมาย จ.2 ในชั้นศาลชั้นต้น แต่เสียค่าอ้างเอกสารชั้นอุทธรณ์ภายหลังที่จำเลยที่ 2 อุทธรณ์แล้ว การที่ศาลชั้นต้นรับฟังพยานหลักฐานเอกสารหมาย จ.1 และ จ.2 โดยไม่เสียค่าอ้างไม่ชอบ และการที่ศาลอุทธรณ์ภาค 3 ว่าเมื่อโจทก์เสียค่าอ้างในชั้นอุทธรณ์แล้ว จึงรับฟังเอกสารได้นั้น จำเลยที่ 2 เห็นว่าเป็นการรับฟังในชั้นอุทธรณ์ หาใช่เป็นการรับฟังในศาลชั้นต้นไม่ การรับฟังในส่วนนี้จึงมิชอบและมิอยู่ในประเด็น เหตุผลตามฎีกาข้อนี้ของจำเลยที่ 2 ศาลฎีกาเห็นว่า การที่จำเลยที่ 2 ยอมรับไว้ว่าได้ลงลายมือชื่อไว้เป็นผู้ค้ำประกันตามสัญญาค้ำประกันเอกสารหมาย จ.2 อีกทั้งจำเลยที่ 2 ได้เสียค่าอ้างเอกสารตามสัญญาค้ำประกันเอกสารหมาย ล.4 แล้ว ซึ่งก็เป็นเอกสารเรื่องเดียวกัน และคู่ความทั้งสองฝ่ายมีสิทธิที่จะอ้างอิงพยานหลักฐานร่วมกันได้ ตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 91 ศาลชั้นต้นและศาลอุทธรณ์ภาค 3 พิพากษาชอบแล้ว

พิพากษายืน

Share