คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 4275/2540

แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา

ย่อสั้น

หนังสือแจ้งให้โจทก์ไปรับเงินมีข้อความว่า เรื่องขอเชิญไปติดต่อขอรับเงินค่าทดแทนโดยการทำสัญญา และตอนท้ายของหนังสือระบุว่า ในการติดต่อขอรับเงินค่าทดแทนนี้โจทก์มีสิทธิที่จะตกลงทำสัญญารับเงินค่าทดแทนโดยสงวนสิทธิหรือไม่สงวนสิทธิอุทธรณ์ต่อรัฐมนตรีว่าการกระทรวงมหาดไทย พร้อมทั้งสิ่งที่ส่งมาด้วยมีรายการเอกสารที่ต้องใช้ในการทำสัญญารับเงินค่าทดแทน ซึ่งข้อความดังกล่าวเป็นเหตุให้เข้าใจได้ว่าเป็นหนังสือแจ้งให้มาทำสัญญาตกลงซื้อขายและกำหนดจำนวนเงินค่าทดแทนกันตามมาตรา 10 แห่งพระราชบัญญัติว่าด้วยการเวนคืนอสังหาริมทรัพย์ พ.ศ. 2530 เมื่อการกระทำทางปกครองของเจ้าหน้าที่ไม่มีความชัดแจ้ง จึงต้องตีความให้เกิดความชอบธรรมแก่ผู้ถูกกระทำคือประชาชนมิให้เสียสิทธิโดยไม่เป็นธรรม กรณีเช่นนี้จึงถือได้ว่าหนังสือดังกล่าวมิใช่หนังสือแจ้งให้มารับเงินค่าทดแทนตามมาตรา 25 วรรคหนึ่งแห่งพระราชบัญญัติว่าด้วยการเวนคืนอสังหาริมทรัพย์ พ.ศ. 2530
หนังสือเอกสารหมาย จ.5 เป็นเพียงหนังสือเชิญโจทก์ไปติดต่อขอทำสัญญารับเงินค่าทดแทนเท่านั้น ดังนั้น เมื่อผู้รับมอบหมายจากจำเลยทั้งสองมีหนังสือลงวันที่7 กรกฎาคม 2535 แจ้งให้โจทก์รับเงินค่าทดแทนที่วางไว้ที่ธนาคารออมสินตามหนังสือเอกสารหมาย จ.16 เมื่อโจทก์ไม่พอใจย่อมมีสิทธิอุทธรณ์ต่อรัฐมนตรีว่าการกระทรวงมหาดไทยภายใน 60 วันนับแต่วันที่ได้รับหนังสือเอกสารหมาย จ.6 และเมื่อโจทก์ยื่นอุทธรณ์วันที่ 30 กรกฎาคม 2535 จึงเป็นการยื่นอุทธรณ์ภายในเวลาที่กฎหมายกำหนดไว้ โจทก์ย่อมมีอำนาจฟ้อง
ค่าแผงรั้ว ประตูอัลลอยย์ และรั้วกับช่องระเบียง เมื่อปรากฏว่าโจทก์ได้ฟ้องเรียกค่าทดแทนความเสียหายในส่วนนี้ไว้ต่างหากแล้วในคดีของศาลแพ่งตามสำเนาคำพิพากษาท้ายฎีกาของโจทก์ ซึ่งเป็นคดีที่โจทก์ในคดีนี้ฟ้องจำเลยที่ 1 และที่ 2 ในคดีนี้เรียกค่าทดแทนที่ดินและสิ่งปลูกสร้างที่ถูกเวนคืนเพิ่มขึ้น คดีดังกล่าวเป็นการเวนคืนรายเดียวกันกับคดีนี้และยังอยู่ระหว่างการพิจารณาของศาลฎีกาเช่นกัน ศาลฎีกาจึงไม่วินิจฉัยถึงความเสียหายในส่วนนี้ให้ในคดีนี้
คดีนี้โจทก์ฟ้องเรียกร้องเฉพาะค่าทดแทนไม้ยืนต้นเพิ่มขึ้นจากที่ฝ่ายจำเลยกำหนดอีกเป็นเงิน 266,200 บาท ทั้งโจทก์ได้ฟ้องเรียกค่าทดแทนในส่วนที่เป็นสนามหญ้าเพิ่มขึ้นไว้แล้วในคดีของศาลแพ่ง ดังนั้นสำหรับคดีนี้จึงมีปัญหาที่จะวินิจฉัยเฉพาะค่าทดแทนไม้ยืนต้นเท่านั้น
ที่โจทก์ฎีกาขอให้คิดดอกเบี้ยตั้งแต่วันที่ 1 มกราคม 2531 ซึ่งเป็นวันที่พระราชกฤษฎีกากำหนดเขตที่ดินในบริเวณที่ที่จะเวนคืนในท้องที่อำเภอปากเกร็ด…พ.ศ. 2530 ใช้บังคับ เมื่อคดีนี้ปรากฏว่าไม่มีการตกลงทำสัญญาซื้อขายอสังหาริมทรัพย์กันตามมาตรา 10 จึงไม่มีวันที่ต้องมีการจ่ายเงินค่าทดแทนตามมาตรา 11 ดังนั้นวันเริ่มต้นนับดอกเบี้ยจึงต้องนับแต่วันที่วางเงินค่าทดแทนตามมาตรา 26 วรรคสาม และโจทก์มีสิทธิได้รับดอกเบี้ยจากเงินค่าทดแทนที่ศาลให้จำเลยทั้งสองชำระเพิ่มขึ้นในอัตราสูงสุดของดอกเบี้ยเงินฝากประเภทฝากประจำของธนาคารออมสิน แต่ไม่เกินอัตราตามคำขอของโจทก์

ย่อยาว

โจทก์ฟ้องว่า โจทก์เป็นเจ้าของที่ดินโฉนดเลขที่ 25490, 25818 และ 25819พร้อมสิ่งปลูกสร้างบ้านเลขที่ 94/8 – 9 อาคารคอนกรีตเสริมเหล็ก ป้อมยามคอนกรีตเสริมเหล็ก รั้วคอนกรีตเสริมเหล็ก ถนน ท่อระบายน้ำ สนามหญ้า ไม้ยืนต้นและอื่น ๆได้มีพระราชกฤษฎีกากำหนดเขตที่ดินในบริเวณที่ที่จะเวนคืน ในท้องที่อำเภอปากเกร็ดอำเภอเมืองนนทบุรี จังหวัดนนทบุรี… พ.ศ. 2530 เพื่อสร้างทางพิเศษสายแจ้งวัฒนะ -บางโคล่ และสายพญาไท – ศรีนครินทร์ มีจำเลยที่ 2 เป็นเจ้าหน้าที่เวนคืน เมื่อวันที่ 2กุมภาพันธ์ 2532 มีประกาศสำนักงานนายกรัฐมนตรีกำหนดให้การเวนคืนอสังหาริมทรัพย์ดังกล่าวเป็นกรณีเร่งด่วนเพื่อให้เจ้าหน้าที่มีอำนาจเข้าครอบครองหรือใช้อสังหาริมทรัพย์ตามพระราชบัญญัติว่าด้วยการเวนคืนอสังหาริมทรัพย์ พ.ศ. 2530 ได้ ที่ดินและสิ่งปลูกสร้างของโจทก์ดังกล่าวถูกเวนคืนทั้งหมด จำเลยที่ 2 มีหนังสือลงวันที่ 11กันยายน 2533 ให้โจทก์ไปรับเงินค่าทดแทน 4,183,315.37 บาท และมีหนังสือลงวันที่3 กรกฎาคม 2534 แจ้งให้โจทก์ทราบว่า ไม่ได้กำหนดเงินค่าทดแทนค่าบ้านเพราะไม่ได้เวนคืนบ้านทั้งหลัง โจทก์จึงอุทธรณ์ขอให้เวนคืนบ้านทั้งหลัง ต่อมารัฐมนตรีว่าการกระทรวงมหาดไทยได้วินิจฉัยอุทธรณ์ให้เวนคืนบ้านทั้งหลัง จำเลยที่ 2 ได้มีหนังสือลงวันที่6 กุมภาพันธ์ 2535 ให้โจทก์ไปรับเงินค่าทดแทนบ้านเป็นเงิน 11,007,555.16 บาท ต้นไม้เป็นเงิน 33,800 บาท เนื่องจากเงินค่าทดแทนต่ำจึงตกลงกันไม่ได้ จำเลยที่ 1 ได้นำเงินค่าทดแทนจำนวนดังกล่าวไปฝากไว้ที่ธนาคารออมสิน สาขานนทบุรี เพื่อชำระหนี้แก่โจทก์ วันที่ 30 กรกฎาคม 2535 โจทก์ได้อุทธรณ์เงินค่าทดแทนบ้านและต้นไม้ต่อรัฐมนตรีว่าการกระทรวงมหาดไทยขอเงินค่าทดแทนเพิ่มอีก 33,258,644.84 บาท แต่ไม่ได้รับการวินิจฉัยให้ โจทก์ขอคิดดอกเบี้ยในอัตราร้อยละเจ็ดครึ่งต่อปี นับแต่วันที่ 1มกราคม 2531 จนถึงวันฟ้องเป็นเงิน 12,232,802.97 บาท รวมเป็นเงินทั้งหมด45,491,447.81 บาท ขอให้บังคับจำเลยทั้งสองชำระเงิน 45,491,447.81 บาทพร้อมดอกเบี้ยอัตราร้อยละเจ็ดครึ่งต่อปี ในต้นเงิน 33,258,644.84 บาท นับถัดจากวันฟ้องเป็นต้นไปจนกว่าจะชำระให้โจทก์เสร็จ

จำเลยทั้งสองให้การว่า จำเลยที่ 2 ได้มีหนังสือแจ้งให้โจทก์ไปรับเงินค่าทดแทนวันที่ 6 กุมภาพันธ์ 2535 โจทก์จะต้องอุทธรณ์ภายใน 60 วัน นับแต่วันได้รับหนังสือแจ้งแต่โจทก์ยื่นอุทธรณ์เมื่อวันที่ 30 กรกฎาคม 2535 เกินกำหนดระยะเวลาดังกล่าวจึงไม่มีอำนาจฟ้อง การกำหนดเงินค่าทดแทนบ้านและต้นไม้ให้แก่โจทก์เป็นไปตามขั้นตอนของทางราชการและหลักเกณฑ์ที่กฎหมายกำหนดโดยถูกต้องและเป็นธรรมแล้ว จำเลยทั้งสองไม่ต้องรับผิดเรื่องดอกเบี้ย ขอให้ยกฟ้อง

ศาลชั้นต้นพิพากษายกฟ้อง

โจทก์อุทธรณ์

ศาลอุทธรณ์พิพากษายืน

โจทก์ฎีกา

ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า ข้อเท็จจริงรับฟังเป็นยุติได้ว่า โจทก์เป็นเจ้าของที่ดินโฉนดเลขที่ 25490, 25818 และ 25819 พร้อมสิ่งปลูกสร้างคือบ้านเลขที่ 94/8-9 ซึ่งปลูกอยู่บนที่ดินโฉนดเลขที่ 25818 และ 25490 ได้มีการประกาศใช้พระราชกฤษฎีกากำหนดเขตที่ดินในบริเวณที่ที่จะเวนคืน ในท้องที่อำเภอปากเกร็ด อำเภอเมืองนนทบุรี จังหวัดนนทบุรี และเขตบางเขน เขตดุสิต เขตพญาไท เขตปทุมวัน เขตบางรัก เขตยานนาวาเขตห้วยขวาง เขตบางกะปิ เขตพระโขนง กรุงเทพมหานคร พ.ศ. 2530 มีผลให้ที่ดินและสิ่งปลูกสร้างดังกล่าวของโจทก์จะถูกเวนคืนเพื่อสร้างทางพิเศษสายแจ้งวัฒนะ – บางโคล่ ได้กำหนดให้จำเลยที่ 2 เป็นเจ้าหน้าที่เวนคืนอสังหาริมทรัพย์ตามพระราชกฤษฎีกาต่อมาจำเลยที่ 1 ได้มีหนังสือฉบับลงวันที่ 6 กุมภาพันธ์ 2535 ถึงโจทก์แจ้งให้ทราบว่าคณะกรรมการกำหนดราคาเบื้องต้นซึ่งได้รับแต่งตั้งจากรัฐมนตรีว่าการกระทรวงมหาดไทยได้ทำการประกาศราคาเบื้องต้นของอสังหาริมทรัพย์ของโจทก์ที่จะถูกเวนคืน คิดเป็นเงินค่าทดแทนได้ดังนี้ สิ่งปลูกสร้างบ้านพักอาศัยเลขที่ 94/8-9 เป็นเงิน 11,007,555.16บาท และไม้ยืนต้นเป็นเงิน 33,800 บาท รวมเป็นเงิน 11,041,355.16 บาท ดังนั้น จึงขอให้โจทก์ติดต่อขอรับเงินค่าทดแทนจำนวนดังกล่าวภายในกำหนด 60 วัน นับแต่วันที่ได้รับหนังสือฉบับนั้นในการติดต่อขอรับเงินค่าทดแทนนี้โจทก์มีสิทธิที่จะตกลงทำสัญญารับเงินค่าทดแทนโดยสงวนสิทธิหรือไม่สงวนสิทธิอุทธรณ์ต่อรัฐมนตรีว่าการกระทรวงมหาดไทย หากโจทก์ไม่ไปติดต่อขอรับเงินค่าทดแทนภายในระยะเวลาดังกล่าวจำเลยที่ 1 จะดำเนินการวางเงินค่าทดแทนตามกฎหมายต่อไป ปรากฏตามเอกสารหมายจ.15 โจทก์ได้รับหนังสือจำเลยที่ 1 จึงมีหนังสือลงวันที่ 7 กรกฎาคม 2535 มาถึงโจทก์แจ้งการวางเงินค่าทดแทนว่า จำเลยที่ 1 ได้นำเงินค่าทดแทนสิ่งปลูกสร้างและไม้ยืนต้นจำนวนที่ระบุไว้ข้างต้นไปฝากไว้ที่ธนาคารออมสิน สาขานนทบุรี ในนามของโจทก์เพื่อชำระหนี้ตามกฎหมายแล้ว ขอให้โจทก์ไปรับได้ ปรากฏตามเอกสารหมาย จ.16 ต่อมาวันที่ 30 กรกฎาคม 2535 โจทก์จึงได้อุทธรณ์เงินค่าทดแทนสิ่งปลูกสร้างบ้านเลขที่94/8-9 และไม้ยืนต้นต่อรัฐมนตรีว่าการกระทรวงมหาดไทย แต่รัฐมนตรีว่าการกระทรวง-มหาดไทย มิได้วินิจฉัยอุทธรณ์ของโจทก์ โจทก์จึงฟ้องคดีนี้

มีปัญหาที่ต้องวินิจฉัยตามฎีกาของโจทก์ประการแรกว่า โจทก์มีอำนาจฟ้องหรือไม่โจทก์ฎีกาว่า หนังสือฉบับลงวันที่ 6 กุมภาพันธ์ 2535 ตามเอกสารหมาย จ.15 มิใช่หนังสือแจ้งให้โจทก์มารับเงินค่าทดแทนตามมาตรา 25 แห่งพระราชบัญญัติว่าด้วยการเวนคืนอสังหาริมทรัพย์ พ.ศ. 2530 เป็นเพียงหนังสือเชิญให้โจทก์ไปติดต่อขอรับเงินค่าทดแทนโดยการทำสัญญาเท่านั้น สิทธิในการอุทธรณ์ของโจทก์ต่อรัฐมนตรีว่าการกระทรวงมหาดไทยต้องนับตั้งแต่วันที่โจทก์ได้รับหนังสือแจ้งการวางเงินค่าทดแทนตามเอกสารหมาย จ.16 ซึ่งไม่เกินกำหนด 60 วัน โจทก์จึงมีอำนาจฟ้องคดีนี้ เห็นว่า หนังสือตามเอกสารหมาย จ.15 มีข้อความว่าเรื่องขอเชิญไปติดต่อขอรับเงินค่าทดแทนโดยการทำสัญญา และตอนท้ายของหนังสือระบุว่า ในการติดต่อขอรับเงินค่าทดแทนนี้ท่านมีสิทธิที่จะตกลงทำสัญญารับเงินค่าทดแทนโดยสงวนสิทธิหรือไม่สงวนสิทธิอุทธรณ์ต่อรัฐมนตรีว่าการกระทรวงมหาดไทยพร้อมทั้งสิ่งที่ส่งมาด้วยมีรายการเอกสารที่ต้องใช้ในการทำสัญญารับเงินค่าทดแทน ซึ่งข้อความดังกล่าวเป็นเหตุให้เข้าใจได้ว่าเป็นหนังสือแจ้งให้มาทำสัญญาตกลงซื้อขายและกำหนดจำนวนเงินค่าทดแทนกันตามมาตรา 10 แห่งพระราชบัญญัติว่าด้วยการเวนคืนอสังหาริมทรัพย์ พ.ศ. 2530 เมื่อการกระทำทางปกครองของเจ้าหน้าที่ไม่มีความชัดแจ้ง ต้องตีความให้เกิดความชอบธรรมแก่ผู้ถูกกระทำคือประชาชนมิให้เสียสิทธิโดยไม่เป็นธรรม กรณีเช่นนี้จึงถือได้ว่าหนังสือเอกสารหมาย จ.15 มิใช่หนังสือแจ้งให้มารับเงินค่าทดแทนตามมาตรา 25วรรคหนึ่ง แห่งพระราชบัญญัติว่าด้วยการเวนคืนอสังหาริมทรัพย์ พ.ศ. 2530 นอกจากนี้นายสมชัย ดวงประเสริฐสุข ผู้อำนวยการกองจัดกรรมสิทธิ์ที่ดิน 3 ในฐานะผู้ได้รับมอบหมายจากเจ้าหน้าที่เวนคืนอสังหาริมทรัพย์ ซึ่งเป็นผู้ลงลายมือชื่อในหนังสือเอกสารหมาย จ.15 ได้มาเบิกความเป็นพยานโจทก์สนับสนุนว่า หนังสือเอกสารหมาย จ.15เป็นเพียงหนังสือเชิญโจทก์ไปติดต่อขอทำสัญญารับเงินค่าทดแทนเท่านั้น ดังนั้น เมื่อผู้รับมอบหมายจากจำเลยทั้งสองมีหนังสือลงวันที่ 7 กรกฎาคม 2535 แจ้งให้โจทก์รับเงินค่าทดแทนที่วางไว้ที่ธนาคารออมสินตามหนังสือเอกสารหมาย จ.16 โจทก์ไม่พอใจย่อมมีสิทธิอุทธรณ์ต่อรัฐมนตรีว่าการกระทรวงมหาดไทยภายใน 60 วันนับแต่วันที่ได้รับหนังสือฉบับนี้ เมื่อโจทก์ยื่นอุทธรณ์วันที่ 30 กรกฎาคม 2535 จึงเป็นการยื่นอุทธรณ์ภายในเวลาที่กฎหมายกำหนดไว้ โจทก์ย่อมมีอำนาจฟ้อง

ส่วนประเด็นปัญหาอื่นที่ศาลล่างทั้งสองยังมิได้วินิจฉัยนั้น เนื่องจากคดีนี้ได้มีการสืบพยานเสร็จสิ้นแล้ว ศาลฎีกาเห็นสมควรวินิจฉัยไปเลยโดยไม่ต้องย้อนสำนวนไปให้ศาลชั้นต้นพิพากษาใหม่

ปัญหาที่ต้องวินิจฉัยประการต่อไปมีว่า ค่าทดแทนสิ่งปลูกสร้างเลขที่ 94/8-9และค่าทดแทนไม้ยืนต้นควรเป็นเท่าใดศาลฎีกาเห็นว่า บ้านและบริเวณบ้านเลขที่ 94/8-9สร้างบนที่ดินโฉนดเลขที่ 25490, 25818, 25819 เนื้อที่ดินรวม 3 ไร่ 1 งาน 25 ตารางวาพื้นที่ที่ใช้ปลูกบ้านประมาณ 1 ไร่ โจทก์ก่อสร้างบ้านทั้งสองหลังนี้ไว้เป็นที่อยู่อาศัยของตนเองและครอบครัวโดยใช้เวลาก่อสร้างประมาณ 3 ปี และก่อสร้างเสร็จก่อนวันใช้บังคับพระราชกฤษฎีกากำหนดเขตที่ดินในบริเวณที่ที่จะเวนคืน ในท้องที่อำเภอปากเกร็ดพ.ศ. 2530 ไม่ถึง 1 ปี สภาพบ้านตามภาพถ่ายหมาย จ.19 เป็นตึกคอนกรีตเสริมเหล็ก2 ชั้นขนาดใหญ่ ลักษณะเป็นบ้านสมัยใหม่ใช้วัสดุก่อสร้างอย่างดี ก่อสร้างอย่างประณีตสวยงาม เห็นได้ว่าโจทก์ต้องเสียค่าใช้จ่ายต่าง ๆ ในการก่อสร้างบ้านดังกล่าวสูงกว่าเงินค่าทดแทนที่ฝ่ายจำเลยกำหนดโดยอาศัยข้อมูลดัชนีราคาวัสดุก่อสร้างในส่วนกลางเพื่อใช้สำหรับการถอดแบบคำนวณราคากลางของกรมเศรษฐกิจการพาณิชย์ กระทรวงพาณิชย์ และหลักเกณฑ์ค่าใช้จ่ายที่ใช้ในการก่อสร้างอาคารทั่ว ๆ ไป โจทก์ควรได้รับค่าทดแทนสิ่งปลูกสร้างเพิ่มขึ้นเท่ากับจำนวนความเสียหายอันเนื่องจากการดำเนินการเวนคืนซึ่งทำให้โจทก์ต้องรื้อถอนบ้านเลขที่ 94/8-9 และไม้ยืนต้นในส่วนที่ต้องเสียหายไปเพราะการเวนคืน ซึ่งก็คือค่าใช้จ่ายในการก่อสร้างบ้านเลขที่ 94/8-9 กับค่าใช้จ่ายในการปลูกต้นไม้ที่ต้องรื้อถอนออกไปเพราะการเวนคืนแต่เนื่องจากวัสดุที่ใช้ในการก่อสร้างหรือนำมาประกอบเป็นของใช้ในบ้านดังกล่าวบางรายการสามารถรื้อถอนและเคลื่อนย้ายได้โดยไม่เสียหายหรือเสียหายเป็นส่วนน้อย บางรายการรื้อถอนแล้วยังใช้การได้บางส่วนเสียหายไม่หมด จึงต้องนำราคาค่าวัสดุในส่วนนี้มาหักออกจากค่าใช้จ่ายของโจทก์ดังกล่าวแล้วบวกค่ารื้อถอนกับค่าขนย้ายวัสดุดังกล่าวซึ่งจะได้วินิจฉัยไปตามลำดับของค่าใช้จ่ายที่โจทก์สรุปไว้ในเอกสารหมาย จ.20 แต่เฉพาะค่าตกแต่งสวนทั้งหมด และค่าก่อสร้างบ้านจะวินิจฉัยในลำดับหลัง และวินิจฉัยรับฟังข้อเท็จจริงดังนี้

ค่าหินอ่อนและค่าแรง ค่าใช้จ่ายของโจทก์ในส่วนนี้ทั้งหมดเป็นส่วนหนึ่งของความเสียหายของโจทก์อันพึงได้รับค่าทดแทนเต็มตามจำนวน 1,203,488.86 บาท ส่วนค่าแผงรั้ว ประตูอัลลอยย์และรั้วกับช่องระเบียงที่โจทก์เห็นว่าฝ่ายจำเลยกำหนดค่าทดแทนสิ่งปลูกสร้างบ้านเลขที่ 94/8-9 ให้แก่โจทก์ โดยมิได้รวมความเสียหายในส่วนแผงรั้ว ประตูอัลลอยย์และรั้วที่โจทก์นำสืบนี้ไว้เป็นรายการความเสียหายของบ้านเลขที่94/8-9 ทั้งโจทก์ได้ฟ้องเรียกค่าทดแทนความเสียหายในส่วนนี้ไว้ต่างหากแล้วในคดีหมายเลขดำที่ ปค.73/2535 คดีหมายเลขแดงที่ ปค.93/2537 ของศาลแพ่ง ตามสำเนาคำพิพากษาท้ายฎีกาของโจทก์ซึ่งเป็นคดีที่โจทก์ในคดีนี้ฟ้องจำเลยที่ 1 และที่ 2 ในคดีนี้เช่นกัน เรียกค่าทดแทนที่ดินและสิ่งปลูกสร้างที่ถูกเวนคืนเพิ่มขึ้น คดีดังกล่าวเป็นการเวนคืนรายเดียวกันกับคดีนี้ และยังอยู่ระหว่างการพิจารณาของศาลฎีกาเช่นกัน ดังนั้นสำหรับคดีนี้จึงไม่วินิจฉัยถึงความเสียหายในส่วนนี้ให้ ค่าระบบไฟหรี่และค่าติดตั้งอุปกรณ์ต่าง ๆ เห็นควรกำหนดความเสียหายในส่วนนี้ของโจทก์ร้อยละ 40 ของเงิน278,500 บาท เป็นเงิน 111,400 บาท ค่าอุปกรณ์ไฟฟ้า ดวงไฟประดับและค่าแรงติดตั้งเห็นว่า ค่าเดินท่อร้อยสายไฟฟ้าภายในและภายนอกอาคารไฟสนามไฟเครื่องปรับอากาศเป็นเงิน 255,000 บาท เฉพาะส่วนค่าใช้จ่ายในการติดตั้งไฟสนาม โจทก์ได้ฟ้องเรียกค่าทดแทนเพิ่มขึ้นไว้แล้วในคดีหมายเลขแดงที่ ปค.93/2537 ของศาลแพ่ง ซึ่งโจทก์อ้างว่าความเสียหายในส่วนนี้เป็นเงิน 100,000 บาท จึงต้องหักค่าใช้จ่ายในส่วนที่เป็นไฟสนามออกจากความเสียหายส่วนนี้ กับหักค่าโคมไฟช่อประดับ โคมไฟ ปลั๊ก และสวิตซ์ออกแล้วความเสียหายสำหรับอุปกรณ์ไฟฟ้า ดวงไฟประดับ และค่าแรงติดตั้งเป็นเงิน 820,000บาท ค่าเครื่องปรับอากาศ อุปกรณ์และค่าแรงติดตั้ง ความเสียหายรายการนี้เป็นเงิน303,700 บาท ค่าติดตั้งห้องครัว เห็นควรกำหนดความเสียหายสำหรับรายการนี้ เป็นเงิน175,800 บาท ค่าตกแต่งกับเฟอร์นิเจอร์ และค่ากระจก เห็นว่า เมื่อโจทก์ไม่ได้นำสืบความเสียหายในส่วนนี้ให้ชัดแจ้ง ความเสียหายในส่วนนี้จึงกำหนดตามความเสียหายในเอกสารรายละเอียดการประเมินราคาค่าทดแทนสิ่งปลูกสร้างบ้านเลขที่ 94/8-9รายการเฟอร์นิเจอร์ที่จำเลยทั้งสองส่งต่อศาลไว้ โดยไม่รวมส่วนที่น่าจะซ้ำซ้อนกับความเสียหายที่กำหนดไปแล้วในรายการค่าติดตั้งห้องครัวและหักจำนวนค่าเสียหายในรายการค่ากระจกออกแล้ว ความเสียหายในส่วนค่าตกแต่งและเฟอร์นิเจอร์เป็นเงิน 964,576.17บาท ค่าโทรศัพท์และค่าแรงติดตั้ง เห็นว่า ความเสียหายในส่วนนี้มีเฉพาะค่าติดตั้งกับอุปกรณ์เป็นเงิน 14,669 บาท

ค่าเครื่องปรับปรุงคุณภาพน้ำใช้กับบ้านและค่าติดตั้ง เห็นว่า ความเสียหายในส่วนนี้เป็นเงิน 74,560.50 บาท ค่ามุ้งลวดกันแมลง เห็นสมควรกำหนดความเสียหายในส่วนนี้ให้ 100,000 บาท สำหรับความเสียหายเกี่ยวกับค่าตกแต่งสวนทั้งหมดและค่าไม้ยืนต้น คดีนี้โจทก์ฟ้องเรียกร้องเฉพาะค่าทดแทนไม้ยืนต้นเพิ่มขึ้นจากที่ฝ่ายจำเลยกำหนดอีกเป็นเงิน 266,200 บาท ทั้งโจทก์ได้ฟ้องเรียกค่าทดแทนในส่วนที่เป็นสนามหญ้าเพิ่มขึ้นไว้แล้วในคดีหมายเลขแดงที่ ปค.93/2537 ของศาลแพ่ง ดังนั้นสำหรับคดีนี้จึงมีปัญหาที่จะวินิจฉัยเฉพาะค่าทดแทนไม้ยืนต้นเท่านั้น ปัญหานี้โจทก์นำสืบไม่ชัดแจ้งว่าไม้ยืนต้นที่อยู่ในบริเวณที่ดินที่ถูกเวนคืนมีชนิด ขนาดและจำนวนเท่าใด รวมกันแล้วเป็นจำนวนเงินเท่าใด ส่วนจำเลยทั้งสองนำสืบว่า ไม้ยืนต้นที่ถูกเขตทางมีจำนวน 62 รายการเป็นเงิน 33,800 บาท มีรายละเอียดตามเอกสารสำเนารายการประเมินราคาค่าทดแทนไม้ยืนต้นที่จำเลยทั้งสองส่งต่อศาลไว้ จึงเชื่อว่าไม้ยืนต้นของโจทก์ที่ต้องถูกรื้อถอนออกไปอันเนื่องจากการเวนคืนนั้นมีชนิด ขนาด และจำนวน ตามที่ปรากฏในสำเนาเอกสารรายการประเมินค่าทดแทนไม้ยืนต้นที่จำเลยทั้งสองส่งต่อศาลไว้ แต่ราคาของไม้ยืนต้นในเอกสารดังกล่าวซึ่งเทียบราคาตามบัญชีราคาค่าทดแทนไม้ยืนต้นที่จัดทำโดยกองส่งเสริมพืชพันธ์ กรมส่งเสริมการเกษตรนั้น บางชนิดมีราคาต่ำกว่าราคาที่ปรากฏในเอกสารหมาย จ.23 ซึ่งโจทก์นำสืบว่าเป็นค่าใช้จ่ายในการตกแต่งสวนหลายเท่าตัวนอกจากนี้ฝ่ายจำเลยไม่ได้กำหนดค่าใช้จ่ายในการปลูกต้นไม้ดังกล่าวให้แก่โจทก์จึงเห็นได้ว่าความเสียหายในส่วนนี้ของโจทก์มีมากกว่าค่าทดแทนจำนวน 33,800 บาท ที่ฝ่ายจำเลยกำหนด อย่างไรก็ตาม โจทก์ก็นำสืบไม่ได้ความชัดแจ้งว่าความเสียหายในส่วนนี้เป็นเงินจำนวนเท่าใด ทั้งพื้นที่จัดสวนที่ปรากฏตามเอกสารหมาย จ.23รวมทั้งหมด 10,700 ตารางเมตร มากกว่าพื้นที่ของที่ดินโจทก์ที่ถูกเวนคืน 721 ตารางวาหรือ 2,884 ตารางเมตร ศาลฎีกาจึงกำหนดค่าทดแทนไม้ยืนต้นให้เป็นเงิน 100,000 บาท ปัญหาต่อไปค่าก่อสร้างบ้าน เห็นว่า บ้านเลขที่ 94/8-9 เป็นบ้านคอนกรีตเสริมเหล็ก2 ชั้นขนาดใหญ่ ก่อสร้างในพื้นที่ประมาณ 1 ไร่ เฉพาะพื้นที่อาคาร 1,421.83 ตารางเมตรใช้เวลาก่อสร้างในส่วนโครงสร้างบ้านนานกว่า 2 ปี วัสดุที่ใช้ในการก่อสร้างเป็นวัสดุอย่างดี ออกแบบและก่อสร้างอย่างประณีต สวยงาม ค่าใช้จ่ายในการก่อสร้างบ้าน13,602,243 บาท มีค่าใช้จ่ายหลายรายการที่ฝ่ายจำเลยทั้งสองไม่ได้นำไปประกอบการกำหนดค่าทดแทนให้ เช่น ค่าถมทรายใต้พื้น ค่ากำจัดปลวก แต่ก็มีค่าใช้จ่ายในส่วนที่นอกเหนือจากตัวโครงสร้างบ้านรวมอยู่ด้วย คือ ค่าใช้จ่ายในการสร้างถนนภายในและท่อระบายน้ำถนนรวมเป็นเงิน 18,040 บาท ความเสียหายเฉพาะส่วนนี้โจทก์ได้ฟ้องเรียกค่าทดแทนแยกเป็นอีกส่วนหนึ่งไว้ในคดีหมายเลขแดงที่ ปค.93/2537 ของศาลแพ่ง แล้วดังนั้น เฉพาะค่าใช้จ่ายในการก่อสร้างบ้านซึ่งไม่รวมค่าใช้จ่ายในการสร้างถนนภายในและท่อระบายน้ำถนนที่โจทก์นำสืบเป็นเงิน 13,414,203 บาท เป็นค่าใช้จ่ายที่สมเหตุสมผลแต่อย่างไรก็ตาม วัสดุที่ใช้ในการก่อสร้างบ้านส่วนหนึ่งใช้วัสดุที่เป็นไม้ เช่น ประตูหน้าต่าง บันได และอุปกรณ์สำหรับประตูหน้าต่างซึ่งเป็นโลหะหลายชนิดรวมกันแล้วกว่า 1 ล้าน และวัสดุอย่างอื่นอีกหลายรายการ ซึ่งรื้อถอนแล้วเสียหายไม่หมด วัสดุที่เหลือจากการรื้อถอนบ้านนี้ยังมีค่าและราคาอยู่บ้าง น่าจะพอกับค่าใช้จ่ายในการรื้อถอนทุกรายการทั้งหมดสำหรับบ้านเลขที่ 94/8-9 และค่าขนย้ายวัสดุต่าง ๆ ดังนั้นความเสียหายเฉพาะค่าก่อสร้างตัวบ้านดังกล่าวหักราคาค่าวัสดุที่เหลือจากการรื้อถอนบวกค่ารื้อถอนทุกรายการทั้งหมดกับค่าขนย้ายวัสดุต่าง ๆ แล้วเป็นเงิน 13,404,203บาท

สรุปความเสียหายตามฟ้องโจทก์รวมเป็นเงินทั้งสิ้น 17,365,891.93 บาทคณะกรรมการกำหนดราคาเบื้องต้นได้กำหนดค่าทดแทนสิ่งปลูกสร้างบ้านเลขที่ 94/8-9กับไม้ยืนต้นรวมเป็นเงิน 11,041,355.16 บาท ดังนั้น ค่าทดแทนสิ่งปลูกสร้างบ้านเลขที่ 94/8-9 กับไม้ยืนต้นที่ศาลฎีกากำหนดเพิ่มขึ้นจากที่คณะกรรมการกำหนดราคาเบื้องต้นได้กำหนดไว้จึงเป็นเงิน 6,324,536.77 บาท

ปัญหาสุดท้ายจำเลยทั้งสองต้องรับผิดเสียดอกเบี้ยแก่โจทก์เพียงใด โจทก์ฎีกาขอให้คิดดอกเบี้ยตั้งแต่วันที่ 1 มกราคม 2531 ซึ่งเป็นวันที่พระราชกฤษฎีกากำหนดเขตที่ดินในบริเวณที่ที่จะเวนคืนในท้องที่อำเภอปากเกร็ด… พ.ศ. 2530 ใช้บังคับ เห็นว่าคดีนี้ปรากฏว่าไม่มีการตกลงทำสัญญาซื้อขายอสังหาริมทรัพย์กันตามมาตรา 10 จึงไม่มีวันที่ต้องมีการจ่ายเงินค่าทดแทนตามมาตรา 11 ดังนั้น วันเริ่มต้นนับดอกเบี้ยจึงต้องนับแต่วันที่วางเงินค่าทดแทนตามมาตรา 26 วรรคสาม แต่ทั้งทางนำสืบของโจทก์และจำเลยทั้งสองไม่ปรากฏชัดว่าจำเลยทั้งสองนำเงินค่าทดแทน 11,041,355.16 บาทไปฝากไว้ที่ธนาคารออมสินสาขานนทบุรี ในวันใด คงได้ความว่าในวันที่ 26 มิถุนายน2535 ธนาคารออมสินมีหนังสือถึงจำเลยที่ 2 เพื่อนำส่งสมุดเงินฝากที่ฝ่ายจำเลยนำเงินค่าทดแทนไปวางไว้ในนามของโจทก์เท่านั้น จึงให้จำเลยทั้งสองชำระดอกเบี้ยนับแต่วันดังกล่าว โจทก์จึงมีสิทธิได้รับดอกเบี้ยจากเงินค่าทดแทนที่ศาลให้จำเลยทั้งสองชำระเพิ่มขึ้นในอัตราสูงสุดของดอกเบี้ยเงินฝากประเภทฝากประจำของธนาคารออมสิน แต่ไม่เกินอัตราร้อยละเจ็ดครึ่งต่อปีตามคำขอของโจทก์

พิพากษากลับ ให้จำเลยทั้งสองร่วมกันชำระเงิน 6,324,536.77 บาท พร้อมดอกเบี้ยในอัตราสูงสุดของดอกเบี้ยเงินฝากประเภทประจำของธนาคารออมสิน แต่ไม่เกินอัตราร้อยละเจ็ดครึ่งต่อปี นับแต่วันที่ 26 มิถุนายน 2535 เป็นต้นไปจนกว่าจะชำระเสร็จแก่โจทก์

Share