แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา
ย่อสั้น
โจทก์ฟ้องว่า โจทก์กู้เงิน ฮ..ฮ. ให้โจทก์ทำสัญญาเป็นขายที่ดินให้ ฮ. ตกลงกันว่าโจทก์ใช้เงินกู้คืนแล้วฮ. โอนที่ดินคืนให้ โจทก์ใช้เงินแล้ว ฮ.ตายเสียกอนโอน จำเลยกลับอ้างว่า เป็นหุ้นส่วนเจ้าของที่ดินร่วมกับ ฮ. โจทก์จึงขอให้แสดงกรรมสิทธิ์ ดังนี้ โจทก์นำสืบพยานบุคคลได้ ไม่เป็นการสืบแก้ไขเอกสารสัญญาขายที่ดิน
ย่อยาว
โจทก์ฟ้องว่า เมื่อเดือนพฤษภาคม 2493 โจทก์ได้กู้เงินจากนายเฮงไชยรัตน์ ไปเป็นจำนวนเงิน 5,000 บาท กำหนดชำระคืนภายใน 1 ปี โดยนายเฮงคิดค่าป่วยการจากโจทก์ 1,000 บาท ในการนี้นายเฮง ต้องการหลักประกันอันมั่นคงจากโจทก์ จึงไม่ให้โจทก์ทำสัญญากู้ แต่ให้โจทก์ทำสัญญาโอนที่ดิน ตำบลเกยไชยอำเภอชุมแสง เนื้อที่ 12 ไร่เศษ ของโจทก์ให้แก่นายเฮง โดยตกลงกันไว้ว่า เมื่อโจทก์ชำระเงินกู้ให้นายเฮงคืนแล้ว นายเฮงจะโอนที่ดินดังกล่าวแล้วมาเป็นชื่อโจทก์ตามเดิม เจตนาอันแท้จริงระหว่างโจทก์กับนายเฮง จึงเป็นการทำนิติกรรมอำพรางการกู้เงินกันเท่านั้น นับแต่วันทำสัญญาโอนที่ดินดังกล่าวข้างต้น โจทก์คงเป็นผู้ครอบครองถือสิทธิเป็นเจ้าของที่ดินแปลงนี้ไม่ขาดสายจนบัดนี้ ครั้นเดือนเมษายน 2494 โจทก์ได้นำเงินกู้ไปชำระให้นายเฮง ทั้งค่าป่วยการด้วย เป็นเงิน 6,000 บาทแต่ยังมิทันได้ไปทำนิติกรรมโอนที่ดินดังกล่าวมาเป็นชื่อของโจทก์ นายเฮง ก็ถึงแก่ความตายเสียก่อน โจทก์คงครอบครองที่ดินแปลงนี้ต่อมาเช่นเดิม โดยจำเลยทราบว่า โจทก์เป็นเจ้าของตลอดมาบัดนี้ จำเลยทั้งสองได้ไปประกาศขายที่ดินดังกล่าวแล้ว ต่อคณะกรรมการอำเภอให้แก่นายเชิญโดยเจตนาไม่สุจริต โดยจำเลยทั้งสองอ้างว่าที่แปลงนี้เป็นหุ้นส่วนระหว่างนายเฮงและจำเลย เมื่อนายเฮงถึงแก่กรรมไปแล้ว จำเลยมีสิทธิเข้าจัดการได้ ซึ่งความจริงจำเลยและนายเฮงมิได้เป็นหุ้นส่วนกันแต่ประการใดเลย จึงขอให้ศาลสั่งแสดงว่าที่ดินแปลงพิพาทเป็นกรรมสิทธิ์ของโจทก์ ขอให้บังคับมิให้จำเลยและบริวารเข้ามาเกี่ยวข้องในที่ดินรายนี้และให้จำเลยเสียค่าฤชาธรรมเนียมและค่าทนายความแทนโจทก์
จำเลยทั้งสองให้การร่วมกันปฏิเสธว่า ฟ้องของโจทก์ไม่เป็นความจริง ความจริงที่ดินที่โจทก์ฟ้องนี้ โจทก์ได้เจตนาขายให้เป็นกรรมสิทธิ์แก่นายเฮง ไม่มีเจตนาเป็นอย่างอื่น และสัญญาซื้อขายได้ทำต่อกรมการอำเภอท้องที่เด็ดขาดไปแล้ว การที่จำเลยอยู่ในที่ดินมาได้ก็ด้วยอาศัยการเช่าต่อนายเฮง จำเลยทั้งสองมีหุ้นส่วนเป็นเจ้าของที่ร่วมกับนายเฮง จำเลยได้ตกลงกับทายาทของนายเฮงแล้ว จึงขอทำการขายที่แปลงนี้ต่อกรมการอำเภอโดยสุจริตและเปิดเผย จำเลยขอตัดฟ้องด้วยว่า ฟ้องโจทก์เคลือบคลุม ทั้งไม่จัดการฟ้องร้องเสียภายใน 1 ปี นับแต่นายเฮงวายชนม์ จึงขอให้ยกฟ้อง และให้โจทก์เสียค่าธรรมเนียมกับค่าทนายความแทนจำเลยด้วย
ในการพิจารณาที่ศาลชั้นต้น โจทก์จำเลยรับกันว่า ที่รายพิพาทนี้โจทก์ได้ทำสัญญาซื้อขายกับนายเฮงเป็นหนังสือและจดทะเบียนถูกต้องตามกฎหมาย ดังปรากฏในสำเนาหนังสือสัญญาซื้อขายที่จำเลยส่งศาลหมาย ล.1 โจทก์อ้างว่า สัญญาซื้อขายตามเอกสารหมาย ล.1 เป็นนิติกรรมอำพราง ความจริงซึ่งเป็นเรื่องกู้เงินกัน และเอาที่รายนี้เป็นประกัน โจทก์จะขอสืบแต่พยานบุคคลเกี่ยวกับเรื่องนิติกรรมอำพรางนี้ศาลชั้นต้นสั่งงดสืบพยาน และวินิจฉัยว่าข้อเท็จจริงรับกันแล้วว่า จำเลย (โจทก์) ได้ทำสัญญาขายที่พิพาทแก่นายเฮงไปแล้ว โดยทำเป็นหนังสือและจดทะเบียนตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 456 ซึ่งตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 94 เรียกว่า เป็นกรณีที่กฎหมายบังคับให้ต้องมีพยานเอกสารมาแสดง การที่โจทก์จะขอสืบว่า เป็นนิติกรรมอำพราง จึงเป็นการสืบเปลี่ยนแปลงข้อความในเอกสารสัญญาซื้อขาย ต้องห้ามตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 94 โจทก์สืบไม่ได้ แม้โจทก์จะไม่ใช่ผู้อ้างหนังสือสัญญาซื้อขาย โจทก์ก็ตกอยู่ในฐานะต้องห้ามดุจกัน เมื่อโจทก์สืบแก้ไขเปลี่ยนแปลงหนังสือสัญญาซื้อขายไม่ได้ คดีต้องฟังว่า โจทก์ได้ขายที่รายนี้ให้นายเฮงโดยเด็ดขาดไปแล้ว ฉะนั้น โจทก์จึงไม่มีสิทธิในที่รายนี้พิพากษาให้ยกฟ้องโจทก์ ให้โจทก์ใช้ค่าฤชาธรรมเนียมและค่าทนายความ100 บาท แทนจำเลยด้วย
โจทก์อุทธรณ์ ศาลอุทธรณ์พิจารณาแล้ว วินิจฉัยว่า ตามหลักแห่งประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 117 และ 118 ให้ถือเจตนาอันแท้จริงยิ่งกว่าเจตนาที่แสดงออกในระหว่างคู่กรณี ตามคำฟ้องของโจทก์ได้กล่าวว่า เจตนาอันแท้จริงระหว่างโจทก์กับนายเฮงหาได้มีการโอนจริงจังไม่ จึงขอให้ถือว่า เจตนาที่แสดงออกในการทำสัญญาโอนที่ดินนั้นเป็นโมฆะ ขอให้ศาลสั่งว่า ที่พิพาทคงเป็นกรรมสิทธิ์ของโจทก์ และที่อ้างว่า เป็นนิติกรรมอำพรางการกู้เงินก็เป็นอีกเหตุหนึ่งซึ่งความประสงค์อันแท้จริงของนายเฮงต้องการหลักประกันและโจทก์ยังครอบครองถือสิทธิเป็นเจ้าของที่ตลอดมา การที่จะฟังว่าเจตนาอันแท้จริงเป็นประการใด ก็จำเป็นต้องฟังพยานก่อน และสืบหักล้างข้อความในเอกสารซึ่งแสดงออกมานั้นได้ตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 94 วรรคสุดท้ายที่ศาลชั้นต้นยกฟ้องโจทก์ แต่เพียงเหตุว่า โจทก์จะขอสืบเปลี่ยนแปลงข้อความในเอกสารสัญญาซื้อขายไม่ได้นั้นยังไม่ชอบ จึงพิพากษาให้ยกคำพิพากษาศาลชั้นต้น ให้ศาลชั้นต้นดำเนินกระบวนพิจารณาสืบพยานต่อไป แล้วพิพากษาใหม่ตามรูปความ ค่าฤชาธรรมเนียมชั้นอุทธรณ์ให้ศาลชั้นต้นใช้ดุลยพินิจรวมสั่งเมื่อพิพากษาใหม่ แต่คำพิพากษาศาลอุทธรณ์นี้มีผู้พิพากษานายหนึ่งทำความเห็นแย้งว่า เจตนาของบุคคลนั้น ต้องถือตามที่แสดงต่อกัน จะถือเอาความในใจเป็นการเลื่อนลอยกรณีที่โจทก์ฟ้องไม่ใช่เป็นเรื่องนิติกรรมอำพราง เพราะที่โจทก์ต้องการกู้เงินนายเฮงนั้น นายเฮงให้โจทก์ทำสัญญาโอนที่ดินให้แก่นายเฮงโดยตกลงกันไว้ว่า เมื่อโจทก์ชำระเงินให้แก่นายเฮงแล้ว นายเฮงจะคืนที่ให้โจทก์ก็ยอม จึงเป็นการทำสัญญาตามความตั้งใจของนายเฮงอันเดียว โจทก์กับนายเฮงไม่ได้ตกลงทำสัญญากู้ต่อกัน แต่ทำเป็นสัญญาโอนที่กันเพื่ออำพรางนิติกรรมการกู้ อีกประการหนึ่ง หากจะถือว่ามีการทำนิติกรรมกู้เงินกันระหว่างโจทก์กับนายเฮงอีกนิติกรรมหนึ่งนายเฮงก็ฟ้องเรียกเงินจากโจทก์ไม่ได้เพราะไม่มีหลักฐานเป็นหนังสือตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 653 ส่วนโจทก์มีสิทธิฟ้องร้องเรียกที่ดินได้จากนายเฮงฝ่ายเดียวตามใจชอบกฎหมายไม่น่าจะบัญญัติให้บุคคลเอารัดเอาเปรียบกันได้ฝ่ายเดียว ดังนี้ กรณีจึงไม่เข้า มาตรา 118 วรรคสุดท้าย เพราะกฎหมายว่าด้วยนิติกรรมอำพรางนั้นควรจะต้องนำมาใช้บังคับแก่คู่กรณีได้ทั้งสองฝ่าย
จำเลยฎีกาคัดค้านว่า เรื่องนี้ไม่ใช่เรื่องนิติกรรมอำพรางขอให้ยกฟ้องโจทก์
ศาลฎีกาได้ตรวจสำนวนประชุมปรึกษาแล้ว เห็นว่า ฟ้องโจทก์ตั้งข้อหาไว้ 3 ประการ คือ (1) โจทก์อ้างในฟ้องข้อ 1 และ 2 ว่าโจทก์ได้กู้เงินจากนายเฮงไป 5,000 บาท เสียค่าป่วยการ 1,000 บาทในการนี้นายเฮงต้องการหลักประกันอันมั่นคง จึงให้โจทก์ทำสัญญาโอนที่ดินของโจทก์ ตำบลเกยไชย อำเภอชุมแสง เนื้อที่ประมาณ 12 ไร่เศษให้แก่นายเฮง และได้ตกลงกันไว้ว่า เมื่อโจทก์ชำระเงินกู้คืนให้แก่นายเฮงแล้ว นายเฮงจะโอนที่ดินดังกล่าวมาเป็นชื่อของโจทก์ตามเดิมเจตนาอันแท้จริงระหว่างโจทก์กับนายเฮงไม่ใช่เพื่อให้โอนที่ดินกันจริงจังแต่เป็นเพียงทำนิติกรรมอำพรางการกู้เงินกันเท่านั้น ครั้นเดือนเมษายน 2494 โจทก์ได้นำเงินกู้พร้อมทั้งค่าป่วยการไปชำระให้แก่นายเฮงแล้วนายเฮงยังไม่ทันโอนที่ดินดังกล่าวมาเป็นชื่อของโจทก์ นายเฮงก็ตายเสีย (2) ตั้งแต่วันทำสัญญาโอนที่ดินดังกล่าวในฟ้องข้อ 1 โจทก์คงเป็นผู้ครอบครองถือสิทธิเป็นเจ้าของที่ดินแปลงพิพาทตลอดมา และ (3) จำเลยไปประกาศขายที่ดินแปลงนี้ให้แก่นายเชิญ โดยไม่สุจริต โดยอ้างว่าเป็นหุ้นส่วนกับนายเฮง เมื่อนายเฮงถึงแก่กรรมไปแล้ว จำเลยมีสิทธิเข้าจัดการได้ซึ่งความจริงจำเลยและนายเฮงมิได้เป็นหุ้นส่วนกันเลยการที่ศาลชั้นต้นจดรายงานกระบวนพิจารณา เมื่อวันที่ 24 พฤษภาคม พ.ศ. 24… แต่เพียงว่า โจทก์จะขอสืบว่า เป็นเรื่องนิติกรรมอำพรางโดยจะสืบพยานบุคคลแต่ศาลชั้นต้นเห็นว่าคดีพอวินิจฉัยได้แล้วจึงให้งดสืบพยาน และวินิจฉัยว่า โจทก์จะสืบพยานบุคคลเปลี่ยนแปลงข้อความในเอกสารสัญญาซื้อขายซึ่งประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 456 บังคับว่าต้องทำเป็นหนังสือและจดทะเบียนไม่ได้ ต้องห้ามตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 94 โจทก์อ้างแต่สิทธิโดยทางนิติกรรมอำพราง ไม่มีประเด็นว่า โจทก์จะได้สิทธิโดยประการอื่นอีกหรือไม่ เมื่อฟังว่า โจทก์ไม่มีสิทธิในที่พิพาทก็ไม่ต้องวินิจฉัยประเด็นข้ออื่น ๆ ต่อไปนั้น ศาลฎีกาไม่เห็นชอบด้วยด้วยเหตุ 2 ประการ คือ (1) ในรายงานกระบวนพิจารณาของศาลชั้นต้นลงวันที่ 24 พฤษภาคม ซึ่งแม้แต่ พ.ศ. ก็ไม่ปรากฏว่าเท่าใดแน่นั้น ไม่มีข้อความแสดงว่า โจทก์จะไม่ขอสืบพยานตามข้อหา ข้อ (2)และ (3) ดังที่ศาลฎีกาได้ยกขึ้นกล่าวข้างต้น เมื่อศาลชั้นต้นไม่ได้กะประเด็นแห่งคดีให้ชัดเจนว่ามีอะไรบ้าง และโจทก์จะขอนำสืบในข้อไหนไม่นำสืบในข้อไหน ศาลจะวินิจฉัยเอาเองว่า โจทก์ไม่ติดใจสืบตามประเด็นที่ฟ้องทุกประเด็นไม่ได้ (2) การนำสืบเจตนาอันแท้จริงของบุคคลในการทำนิติกรรมก็ดี การนำสืบว่า นิติกรรมอันหนึ่งได้ทำขึ้นเพื่ออำพรางนิติกรรมอีกอันหนึ่งก็ดี คู่กรณีอาจนำพยานบุคคลมาสืบประกอบข้ออ้างของตนได้ตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่งมาตรา 94 วรรคสุดท้ายเพื่อแสดงว่า เอกสารที่ทำขึ้นไว้นั้นไม่ถูกต้องทั้งหมดหรือบางส่วน หรือสัญญาหรือหนี้อย่างอื่นที่ระบุไว้ในเอกสารนั้น ไม่สมบูรณ์ หาได้ต้องห้ามดังที่ศาลชั้นต้นเข้าใจไม่ ศาลฎีกาเห็นว่า คำพิพากษาศาลอุทธรณ์ชอบแล้ว จึงพิพากษายืน ให้ศาลชั้นต้นทำการพิจารณาสืบพยานต่อไปใหม่ให้สิ้นกระแสความตามประเด็นแห่งคดีแล้วพิพากษาใหม่ตามรูปความ ค่าฤชาธรรมเนียมในชั้นฎีกานี้ให้เป็นพับไปแก่จำเลย