แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา
ย่อสั้น
ขายฝากที่ดินและสิ่งปลูกสร้างกำหนดไถ่ถอนภายใน 5 ปีเมื่อจวนครบกำหนดเคยไปขอไถ่ถอนแก่ผู้รับซื้อไว้ 2 ครั้ง แต่ผู้รับซื้อขอผัดไปวันหลัง ผู้ขายก็ยินยอมจนเกินกำหนด 5 ปีแล้ว ผู้ซื้อก็ย่อมมีสิทธิปฏิเสธไม่ยอมให้ไถ่ถอนได้ เพราะผู้ขายละเลยไม่ใช่สิทธิของตนภายในกำหนดสัญญาเอง จะอ้างว่าผู้รับซื้อฝากใช้สิทธิ์ไม่สุจริตเพื่อชนะคดีไม่ได้
ย่อยาว
โจทก์เอาที่ดินมีโฉนดพร้อมทั้งสิ่งปลูกสร้างขายฝากไว้กับจำเลยเป็นเงิน 3,000 บาทกำหนดไถ่ถอนได้ภายใน 5 ปี เมื่อขายฝากแล้ว โจทก์คงเช่าที่ดินและสิ่งปลูกสร้างรายนี้ตลอดมา พอจวนครบกำหนดไถ่ถอนตามสัญญา โจทก์ได้นำเงินไปขอไถ่ถอนที่รายนี้จากสามีจำเลย และตัวจำเลย สามีจำเลยและตัวจำเลยต่างบิดพริ้ว ขอเลื่อนเวลาไถ่ถอนไป โจทก์ยินยอมครั้นถึงกำหนดที่บอกเลื่อนไว้ โจทก์นำเงินไปขอไถ่ถอนอีกคราวนี้จำเลยปฏิเสธไม่ยอมให้ไถ่ถอน อ้างว่าเกินกำหนดแล้วและปรากฏว่าเกินกำหนดเวลาไถ่ถอนไป 29 วันจริง โจทก์จึงนำคดีมาฟ้องจำเลย อ้างว่าจำเลยหลอกลวงและขอให้ศาลบังคับให้จำเลยรับไถ่ถอน
ศาลชั้นต้นเห็นว่า การที่ผัดผ่อนเวลาไถ่ถอน ไม่ทำให้กำหนดเวลาไถ่ถอนยืดยาวออกไปได้ เพราะจะเป็นการขยายเวลากำหนดไถ่ถอนซึ่งฝืนกฎหมาย เมื่อโจทก์มาขอไถ่ถอนเกินกำหนดในสัญญาจำเลยย่อมมีสิทธิ์ไม่ยอมให้ไถ่ถอนได้ พิพากษายกฟ้อง
ศาลอุทธรณ์พิพากษายืน
โจทก์ฎีกา
ศาลฎีกาเห็นว่า การที่โจทก์ไปพูดขอไถ่ถอน จำเลยตอบผลัดว่าสัญญายังไม่อยู่ ขอผัดไปวันหลัง โจทก์ยินยอมนั้น ยังไม่เป็นเหตุพอที่จะให้ถือว่า จำเลยได้เจตนาหลอกลวง หรือทำให้สิทธิ์ไถ่ถอนยืดออกไปได้ และจะยกมาตรา 5 มาปรับไม่ถนัดเพราะโจทก์ละเลยไม่ใช้สิทธิของตนเอง จึงพิพากษายืน