คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 1869/2492

แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา

ย่อสั้น

กระแสไฟฟ้าถือว่าเป็นของที่เกิดอันตรายได้โดยสภาพหรือโดยความมุ่งหมายที่จะใช้ หากเกิดความเสียหายขึ้นแก่ผู้ใดเพราะกระแสไฟฟ้านั้น โดยเจ้าของผู้จำหน่ายไม่สามารถพิสูจน์ได้ว่าเกิดแต่เหตุสุดวิสัยหรือเกิดเพราะความผิดของผู้เสียหายเองแล้ว เจ้าของผู้จำหน่ายกระแสไฟฟ้านั้นต้องรับผิดโดยมิต้องคำนึงถึงว่าเจ้าของผู้จำหน่ายกระแสไฟฟ้าได้กระทำการโดยประมาทเลินเล่อหรือไม่

ย่อยาว

ได้ความว่า จำเลยรับสัมปทานทำการจำหน่ายกระแสไฟฟ้าในจังหวัดสุราษฎร์ธานี ตอนกลางคืนมีพายุฝน สายไฟฟ้าของจำเลยซึ่งชำรุดไม่มียางหุ้มได้ขาดตกลงมาบางตอนพาดอยู่บนพื้นสาธารณะ รุ่งขึ้นเวลา 9.00 นาฬิกาเศษ บุตรโจทก์เดินไปโรงเรียนไปสะดุดสายไฟฟ้านั้นถึงแก่ความตายด้วยแรงกระแสไฟฟ้า

โจทก์ฟ้องว่า จำเลยประมาทเลินเล่อและผิดข้อบังคับสัมปทานเรียกค่าเสียหายและค่าทำศพ 10,538 บาท จำเลยต่อสู้ว่า พายุฝนพัดทางมะพร้าวและกิ่งไม้หักทับสายไฟขาด เป็นการอุบัติเหตุสุดวิสัยผู้ตายประมาทไปสะดุดเอง ค่าเสียหายสูงเกินไป

ศาลอุทธรณ์พิพากษายืนตามศาลชั้นต้นว่า จำเลยไม่ผิดสัมปทานสายไฟขาดโดยอุบัติเหตุ ไม่ใช่ความประมาทของจำเลย พิพากษายกฟ้อง แต่ให้จำเลยใช้ค่าธรรมเนียมแทนโจทก์

โจทก์ฎีกา

ศาลฎีกาเห็นว่า กรณีต้องด้วยมาตรา 437 ประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ เพราะกระแสไฟฟ้าเป็นของที่เกิดอันตรายได้โดยสภาพหรือโดยความมุ่งหมายที่จะใช้ การค้ากระแสไฟฟ้ากระทบกระเทือนความปลอดภัยของสาธารณะชน แต่จำเลยพิสูจน์ไม่ได้ว่าความเสียหายที่โจทก์ฟ้องเกิดแต่เหตุสุดวิสัย หรือเกิดเพราะความผิดของผู้เสียหายเอง เพราะผู้สัญจรตามทางสาธารณะย่อมคาดหมายไม่ได้ว่าตามทางนั้นจะมีสายไฟฟ้า และจำเลยละเลยกิจการอันควรทำให้ดีหลายประการ เช่น ควรตัดลานกิ่งไม้ใกล้เคียง มีสวิตอัตโนมัติหรือชนวนตะกั่ว เพื่อตัดตอนกระแสไฟฟ้า ทั้งรู้อยู่ว่าฝนตกพายุจัดก็ไม่ออกตรวจตราในเวลาอันควรให้สมกับหน้าที่บริการสาธารณะ

พิพากษากลับ ให้จำเลยใช้ค่าสินไหมทดแทน 10,538 บาทและค่าฤชาธรรมเนียม ค่าทนาย 3 ศาล 500 บาทแทนโจทก์

Share