แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา
ย่อสั้น
ของหมั้นต้องเป็นทรัพย์สินซึ่งฝ่ายชายได้ให้แก่ฝ่ายหญิงไว้แล้ว ถ้าให้ทรัพย์สินไว้ส่วนหนึ่ง และสัญญาว่า จะนำมามอบให้ในวันหลังอีก ก็คงเป็นของหมั้นเฉพาะส่วนที่ให้ไว้แล้ว ส่วนที่ยังไม่ได้มอบให้ไม่เป็นของหมั้น ฉะนั้นในกรณีที่ชายตาย ของหมั้นที่มอบไว้ย่อมตกแก่หญิง แต่หญิงจะฟ้องเรียกทรัพย์ที่ฝ่ายชายสัญญาจะมอบให้อีกนั้นไม่ได้
ถ้าฝ่ายชายได้มอบของหมั้นให้บ้างแล้ว และสัญญาว่าจะนำของหมั้นที่ยังขาดมามอบให้อีก ถ้าฝ่ายชายไม่นำมามอบให้ตามที่ตกลงกัน ฝ่ายหญิงจะปฏิเสธไม่ยอมสมรส โดยถือว่าฝ่ายชายผิดสัญญาหมั้นก็ได้
เอาโฉนดไปวางเป็นประกันหนี้ แต่ตามกฎหมายไม่มีหนี้ที่จะเรียกร้องจากกันได้ เจ้าของโฉนดก็ย่อมฟ้องเรียกโฉนดคืนได้
ย่อยาว
โจทก์ฟ้องว่า เมื่อเดือนพฤศจิกายน 2488 โจทก์ได้ให้เฒ่าแก่ไปสู่ขอจำเลยที่ 2 บุตรีจำเลยที่ 1 ให้กับนายฟื้น ดีเจริญ บุตรโจทก์จำเลยที่ 1 เรียกทองหมั้นหนัก 6 บาท สินสอด 2,000 บาท และจำเลยที่ 1 จะยกที่นาให้จำเลยที่ 2 ห้าสิบไร่ โจทก์ก็จะยกที่นาโฉนดที่ 2792 ตำบลบางปู อำเภอเมือง จังหวัดสมุทรปราการเนื้อที่ 108 ไร่ซึ่งโจทก์ถือกรรมสิทธิ์ให้กับนายฟื้นบุตรโจทก์ ในเดือนที่ว่านี้โจทก์ได้จัดคนนำทองหมั้น 6 บาท ไปให้จำเลยที่ 1 และนัดวันแต่งงานกันในวันขึ้น 10 ค่ำ เดือน 8 ตรงกับวันที่ 13 มีนาคม 2489 จำเลยที่ 1 กับโจทก์ได้จัดการแต่งงานระหว่างนายฟื้นกับจำเลยที่ 2ตามกำหนด ในวันแต่งงานจำเลยได้ขอโฉนดที่ 2792 ที่โจทก์จะยกให้นายฟื้นไปดู และเก็บเอาไว้ ซึ่งโจทก์จะโอนให้นายฟื้นต่อเมื่อคู่แต่งงานอยู่กินกันที่บ้านโจทก์แล้ว แต่งงานแล้วคู่แต่งงานคงอยู่ที่บ้านจำเลยที่ 1 ได้ 50 วัน ยังไม่ทันจดทะเบียนสมรสและมาอยู่กินกันยังบ้านโจทก์ นายฟื้นที่แต่งงานนั้นก็ตายลงการยกที่ดินโฉนดรายนี้ยังไม่สมบูรณ์ เพราะคู่แต่งงาน ยังมิได้มาอยู่บ้านโจทก์และยังมิได้ทำโอนกรรมสิทธิ์ที่ดิน ทั้งจำเลยที่ 2 ก็ยังไม่เป็นภริยานายฟื้นตามกฎหมาย ไม่มีสิทธิจะได้ที่ดินโฉนดนี้โจทก์ขอคืนจำเลยไม่ยอม จึงขอให้ศาลบังคับให้จำเลยส่งโฉนดที่ 2792 คืนให้โจทก์
จำเลยให้การต่อสู้คดี และฟ้องแย้งว่า จำเลยที่ 1 เป็นบิดาของจำเลยที่ 2 และโจทก์ได้แต่งตั้งมอบหมายให้เฒ่าแก่มาสู่ขอจำเลยที่ 2 เพื่ออยู่กินเป็นภริยานายฟื้นบุตรโจทก์จริง แต่โจทก์โดยเฒ่าแก่เป็นตัวแทนได้ตกลงสัญญากับจำเลยที่ 1 ว่า โจทก์ยอมให้เงินสองพันบาท ทองหมั้นหนัก 12 บาท กับขันหมาก 25 คู่ และในวันหมั้น โจทก์โดยเฒ่าแก่เป็นตัวแทนได้ตกลงให้สัญญาแก่จำเลยที่ 1 ว่า ขอมอบทองหมั้นให้จำเลยที่ 1 ไว้เพียงหนัก 6 บาทก่อนทองหมั้นอีก 6 บาทนั้นจะนำมามอบให้จำเลยที่ 1 เมื่อโจทก์หายป่วยเป็นปกติแล้ว เพราะขณะนั้นโจทก์กำลังป่วยอยู่ เพื่อเป็นหลักฐานโจทก์โดยเฒ่าแก่เป็นตัวแทนได้ตกลงให้สัญญากับจำเลยที่ 1 ดังกล่าวแล้วในวันทำพิธีแต่งงานอีก และมอบโฉนดเลขที่ 2792 สำหรับที่นา ตำบลบางปู จังหวัดสมุทรปราการ ซึ่งมีเนื้อที่ 108 ไร่ ให้จำเลยที่ 1 ยึดถือไว้แทนอีกด้วย โดยตีราคาเนื้อที่นาในโฉนดนี้เพียง 50 ไร่ เท่ากับทองหมั้นที่ยังขาดอีก 6 บาท ส่วนเนื้อนาเกินจำนวนอีก 58 ไร่นั้น โจทก์จะจัดการโอนกรรมสิทธิ์ให้นายฟื้นบุตรโจทก์ภายหลังสมรสกับจำเลยที่ 2 แล้ว จำเลยที่ 1 จึงตกลงยอมรับข้อสัญญาดังกล่าวและรับมอบโฉนด 2792 ไว้แทน จำเลยที่ 2 มิได้เกี่ยวข้องรับมอบโฉนด ครั้นโจทก์หายป่วยแล้วจำเลยที่ 1 ได้เตือนโจทก์นำทองหมั้นอีก 6 บาทมาให้ตามสัญญา โจทก์ขอผัดเรื่อยจนนายฟื้นทำฆาตกรรมตนเอง โดยยังไม่ทันจดทะเบียนสมรสกับจำเลยที่ 2 เมื่อโจทก์ส่งทองหมั้นครบถ้วน จึงมีสิทธิรับโฉนดคืนจากจำเลย จึงขอให้ศาลบังคับให้โจทก์รับโฉนดเลขที่ 2792 คืนจากจำเลยโดยต้องส่งทองหมั้นที่ยังขาดหนัก 6 บาท หรือราคา 3,600 บาทแก่จำเลย
โจทก์ให้การแก้ฟ้องแย้งว่า จำเลยที่ 1 กับเฒ่าแก่ได้ตกลงกันเพียงทองหมั้นหนัก 6 บาท สินสอดสองพันบาทเท่านั้น นอกนี้ต่างฝ่ายจะยกที่ดินให้กับบุตรของตนฝ่ายละ 1 แปลงดังในคำฟ้องจำเลยที่ 1 ไม่เคยทวงถามทองหมั้นนอกกว่านั้น จำเลยไม่มีสิทธิยึดโฉนดรายนี้ของโจทก์ เพราะการเรียกร้องทองหมั้นไม่ใช่สิทธิของจำเลยที่ 1 ทั้งราคาทองที่ตีมาก็สูงเกินไป และไม่มีสิทธิฟ้องแย้ง
ทางพิจารณาได้ความว่า การหมั้นรายนี้ได้ตกลงทองหมั้น 12 บาท มิใช่ 6 บาท แต่ฝ่ายโจทก์นำทองหมั้นมาเพียง 6 บาท เฒ่าแก่ฝ่ายโจทก์ (ฝ่ายชาย) รับจะนำทองที่ยังขาดมาให้ในวันแต่งงานแต่ก็ไม่มีไปอีก จึงเอาโฉนดรายพิพาทมีเนื้อที่ 108 ไร่ให้จำเลยที่ 1 ยึดไว้แทนทองหมั้นที่ขาดนั้นคิดเนื้อที่เพียง 50 ไร่ เฒ่าแก่ฝ่ายโจทก์รับรองว่าโจทก์หายป่วยจะจัดการโอนเฉพาะ 50 ไร่ ให้จำเลยที่ 1แทนทองหมั้นที่ขาด เมื่อบุตรโจทก์ได้แต่งงานกับจำเลยที่ 2 อยู่กินด้วยกันได้เดือนเศษ บุตรโจทก์ก็ถึงแก่กรรม ไม่ทันได้จดทะเบียนสมรสและมิได้จัดการโอนทะเบียนโฉนดรายพิพาท
ได้ความเช่นนี้ ศาลชั้นต้นพิพากษาให้โจทก์ส่งมอบทองหมั้นที่ยังขาดอีก 6 บาทแก่จำเลย ถ้าไม่สามารถส่งได้ให้ใช้ราคาแทน 3,600 บาท และให้จำเลยที่ 1 ส่งมอบโฉนดที่ 2792 ให้แก่โจทก์
แต่ศาลอุทธรณ์วินิจฉัยว่า เมื่อชายที่จะเป็นคู่สมรสได้ตายไปแล้วก่อนสมรส การสมรสไม่อาจมีขึ้นได้ จึงหมดความจำเป็นในกฎหมายที่จะยึดโฉนดไว้ต่อไป อีกนัยหนึ่ง ความผูกพันทางกฎหมายที่โจทก์ จำเป็นจะให้ของหมั้นเพื่อเป็นหลักฐานและประกันว่าบุตรโจทก์จะสมรสกับจำเลยที่ 2 นั้นไม่มีต่อไป เนื่องด้วยบุตรชายโจทก์ซึ่งจะเป็นคู่สมรสได้ตายไปเสียแล้ว อีกประการหนึ่งของหมั้นคือทรัพย์สินซึ่งฝ่ายชายให้ไว้แก่ฝ่ายหญิงเพื่อเป็นหลักฐานและประกันว่าจะสมรสกับหญิงนั้น แต่เห็นว่า โฉนดจะสงเคราะห์ว่าเป็นทรัพย์สินตามกฎหมายไม่ได้ เพราะเป็นหนังสือสำคัญสำหรับที่ดินอันเป็นทรัพย์สินเท่านั้น ฉะนั้นจำเลยต้องคืนโฉนดรายนี้แก่โจทก์ตามฟ้องเรียก ส่วนคำให้การเป็นฟ้องแย้งของจำเลยขอให้โจทก์รับโฉนดที่ 2792 คืนจากจำเลยโดยต้องส่งทองหมั้นที่ยังขาดหนัก 6 บาทหรือราคา 3,600 บาทแก่จำเลยนั้นให้ยกเสีย พิพากษากลับให้จำเลยคืนโฉนดเลขที่ 2792 และยกฟ้องแย้งจำเลย
จำเลยฎีกา
ศาลฎีกาพร้อมกันประชุมใหญ่ ปรึกษาแล้วเห็นว่า ในเรื่องหมั้นนี้ประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 1440 บัญญัติว่า “ถ้าคู่หมั้นฝ่ายหนึ่งฝ่ายใดตายก่อนสมรส อีกฝ่ายหนึ่งจะเรียกร้องค่าทดแทนมิได้ส่วนของหมั้นนั้น ถ้าหญิงตาย ให้ฝ่ายหญิงคืนแก่ฝ่ายชาย แต่ถ้าชายตายไม่ต้องคืนของหมั้น เว้นแต่มีสัญญาไว้เป็นอย่างอื่น” แต่ที่จะเกิดเป็นสัญญาหมั้นได้นั้น จำต้องมีของหมั้นเป็นหลักฐาน (คำพิพากษาฎีกาที่ 676/2487 ระหว่างนายอิน โยมพ้อม ในส่วนตัวและผู้แทนโดยชอบธรรมนางสาวฉนา บุตรโจทก์นายม่อม พรหมจาด กับพวกจำเลย) และที่จะเป็นของหมั้นได้นั้นตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์มาตรา 1436 วรรคแรกจะต้องเป็นทรัพย์สินซึ่งฝ่ายชายให้ไว้แก่ฝ่ายหญิง เพื่อเป็นหลักฐานและประกันว่าจะสมรสกับหญิงนั้น จึงจำต้องมีการมอบกัน กฎหมายประสงค์ให้มีการมอบทรัพย์สินไว้เป็นหลักฐานและประกัน ไม่ใช่สัญญากันไว้เฉย ๆ ทองหนัก 6 บาทที่ยังขาดส่งนี้จึงยังมิใช่ของหมั้น แม้ว่าถ้าทางฝ่ายชายไม่ยอมนำทองหมั้น 6 บาทที่ขาดมามอบให้อาจเป็นข้อให้หญิงปฏิเสธไม่ยอมสมรส เพราะฝ่ายชายผิดสัญญาหมั้น (เกิดขึ้นโดยทองหมั้น 6 บาท ที่มอบไว้แล้ว) และกรณีผิดสัญญาหมั้น ศาลอาจเอาความข้อนี้ คำนวณเป็นค่าทดแทนให้ตามมาตรา 1439 หรือไม่ก็ดี แต่คดีนี้เป็นเรื่องชายตายซึ่งเข้ามาตรา 1440 ซึ่งบัญญัติว่าหญิงไม่ต้องคืนของหมั้น หญิงจึงได้แต่เก็บของหมั้นคือทอง 6 บาทที่มอบไว้แล้ว ส่วนทองอีก 6 บาทยังหาใช่ของหมั้นไม่ หญิงจึงจะเก็บไว้ก็ไม่ได้ เพราะไม่ได้อยู่ที่หญิงและไม่ใช่ของหมั้น จะเรียกก็ไม่ได้ เพราะสัญญาหมั้นเลิกกันด้วยความตายของชายแล้ว และไม่มีบทกฎหมายใดให้หญิงเรียกได้ หมายความว่าไม่มีมูลหนี้ที่หญิงจะเรียกร้องต่อไปโฉนดที่ฝ่ายชายวางไว้เป็นประกันนั้นจึงไม่มีหนี้จะประกัน หญิงก็ยึดไว้ไม่ได้เช่นกัน
พิพากษายืน ค่าฤชาธรรมเนียมเป็นพับ