แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา
ย่อสั้น
คำว่า ‘ถ้าไถ่ภายในเวลา’ตามมาตรา 492 ประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ย่อมหมายความว่า ได้มีการไถ่ถอนถูกต้องบริบูรณ์ตามแบบที่กฎหมายกำหนดไว้แล้ว เท่านั้นการขอไถ่ยังหาเป็นการไถ่ไม่
สิทธิในการไถ่ทรัพย์สินนั้นก็คือสิทธิอันหนึ่งที่ผู้ขายฝากมีอยู่ในอันที่จะเรียกร้องบังคับให้ผู้ซื้อฝากทำนิติกรรมให้กรรมสิทธิ์แห่งทรัพย์สินนั้นกลับคืนมาสู่ตน ฉะนั้นการใช้สิทธิไถ่ถอน จึงต้องรวมตลอดถึงการฟ้องร้องต่อศาล ขอให้ศาลบังคับให้ผู้ซื้อฝากกระทำการเช่นว่านั้น หรือให้ถือคำพิพากษาเป็นการแสดงเจตนาของผู้ซื้อฝากในนิติกรรมเช่นนั้น
การไปพูดขอไถ่ หรือนัดให้ผู้ขายฝากไปยังพนักงานเจ้าหน้าที่เพื่อทำการไถ่ถอน ยังหาเป็นการใช้สิทธิไถ่ถอนไม่ เมื่อผู้จัดการซื้อฝากไม่ไปยังพนักงานเจ้าหน้าที่ตามนัด ก็เป็นการแสดงอาการปฏิเสธไม่ยอมรับไถ่ถอนอยู่ในตัวแล้ว ผู้ขายฝากย่อมต้องจัดการฟ้องร้องขอให้บังคับตามสิทธิไถ่ถอนของตนเสีย ในกำหนดอายุความไถ่ถอนตามสัญญา (อ้างฎีกาที่ 544/2490, 185/2491)
ย่อยาว
โจทก์ฟ้องว่า เมื่อ พ.ศ. 2485 โจทก์ได้ทำหนังสือขายฝากที่นาไว้แก่จำเลย ที่อำเภอ มีกำหนดไถ่คืนในเวลา 5 ปี โจทก์เป็นฝ่ายครอบครองที่นารายนี้ โดยส่งดอกเบี้ยให้จำเลย ครั้นเมื่อ พ.ศ. 2490 โจทก์ไปขอไถ่ที่นาคืนจำเลยนัดไถ่ถอนที่อำเภอ ถึงวันกำหนดนัด จำเลยบิดพริ้วจึงขอให้บังคับจำเลยรับเงินและคืนนาให้โจทก์ จำเลยให้การว่าโจทก์ได้ขายฝากนาไว้แก่จำเลย โดยมีกำไนดไถ่คืน 5 ปีจริงโจทก์ไม่เคยขอไถ่ และกำหนดเวลาไถ่คืนได้สิ้นสุดลงแล้ว โจทก์หมดสิทธิฟ้อง และว่าที่โจทก์ครอบครองนานั้น โดยโจทก์ขอเข้าทำ ศาลชั้นต้นฟังว่า โจทก์เพิกเฉยเสีย มาฟ้องเอาเมื่อเกินกำหนดไถ่ตามสัญญาแล้วโจทก์ไม่มีอำนาจฟ้อง พิพากษายกฟ้อง
ศาลอุทธรณ์เห็นว่า โจทก์ได้ไปขอไถ่ถอน จำเลยเป็นฝ่ายผิดนัดโจทก์ฟ้องภายหลังกำหนดเวลาในสัญญา จึงพิพากษากลับ ให้โจทก์ชนะคดี
จำเลยฎีกา
ศาลฎีกาเห็นว่า ตามมาตรา 492 ประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ นั้นคำว่า “ถ้าไถ่ภายในเวลา” ย่อมหมายความว่า ได้มีการไถ่ถอนถูกต้องครบบริบูรณ์ตามแบบที่กฎหมายกำหนดไว้แล้วเท่านั้น การขอไถ่ยังหาเป็นการไถ่ไม่ ปัญหาในเรื่องนี้จึงมีว่า การไปขอไถ่นั้น เป็นการใช้สิทธิไถ่ทรัพย์สินที่ขายฝากตามที่บัญญัติไว้ในมาตรา 494, 496 และ 497 แล้วหรือยัง ศาลฎีกาเห็นว่า สิทธิในการไถ่ทรัพย์นั้น ก็คือสิทธิอันหนึ่งที่ผู้ขายฝากมีอยู่ในอันที่จะเรียกร้องบังคับให้ผู้ซื้อฝากทำนิติกรรมให้กรรมสิทธิ์แห่งทรัพย์สินนั้น กลับคืนมาสู่ตนฉะนั้นการใช้สิทธิไถ่ถอน จึงต้องรวมตลอดถึงการฟ้องร้องต่อศาลขอให้ศาลบังคับให้ผู้ซื้อฝากกระทำการเช่นว่านั้น หรือให้ถือคำพิพากษาเป็นการแสดงเจตนาของผู้ซื้อฝากในนิติกรรมเช่นนั้น การแต่เพียงไปพูดขอไถ่ หรือนัดให้ผู้ซื้อฝากไปยังพนักงานเจ้าหน้าที่เพื่อทำการไถ่ถอน ยังหาเป็นการใช้สิทธิไถ่ถอนไม่ เมื่อผู้ซื้อฝากไม่ไปยังพนักงานเจ้าหน้าที่ตามนัด ก็เป็นการแสดงอากรปฏิเสธไม่ยอมรับไถ่ถอนอยู่ในตัวแล้ว ผู้ขายฝากย่อมต้องจัดการฟ้องร้องขอให้ศาลบังคับตามสิทธิไถ่ถอนของตนเสีย ภายในอายุความไถ่ถอนตามสัญญา ทั้งมาตรา 496 ก็ยังได้บัญญัติไว้ด้วยว่า “ท่านว่าหาอาจขยายเวลานั้นในภายหลังได้ไม่”
พิพากษากลับ ให้บังคับคดีไปตามศาลชั้นต้น