คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 483/2492

แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา

ย่อสั้น

ประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 145 คำพิพากษาของศาลย่อมผูกพันคู่ความจนคำพิพากษานั้นจะได้ถูกเปลี่ยนแปลงไปแก้ไข กลับหรืองดเสีย ถ้าหากมี การแก้ไขเปลี่ยนแปลงกลับหรืองดเสียนี้ตามปกติเป็นอำนาจของศาลสูงขึ้นไป คือศาลอุทธรณ์ หรือศาลฎีกา แล้วแต่กรณี ศาลชั้นต้นจะเพิกถอนคำพิพากษาของตัวเองหาได้ไม่
เดิมจำเลยฟ้องขับไล่โจทก์ในคดีนี้ออกจากที่เช่า โจทก์ต่อสู้ในคดีเดิมนั้นว่ามติของคณะกรรมการควบคุมค่าเช่าใช้ไม่ได้ ศาลชั้นต้นไม่ยอมให้โจทก์สืบในข้อนี้ พิพากษาขับไล่โจทก์ โจทก์อุทธรณ์ขอให้ทุเลาการบังคับ และให้รอการพิจารณาไว้ก่อนโดยโจทก์ได้ยื่นฟ้องทำลายมติคณะกรรมการแล้ว แต่โจทก์ยื่นอุทธรณ์เกินกำหนด ศาลจึงไม่รับอุทธรณ์
คดีนั้นถึงที่สุด ต่อมาศาลพิพากษาให้ทำลายมติคณะกรรมการโจทก์จึงมาฟ้องคดีนี้ขอให้ทำลายคำพิพากษาในคดีเดิมที่ขับไล่โจทก์นั้นเสียดังนี้ โจทก์ย่อมฟ้องไม่ได้เพราะต้องห้ามตามมาตรา 144 ประกอบกับมาตรา 145 และ 148 ประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง

ย่อยาว

เดิมจำเลยฟ้องโจทก์ คดีแดงที่ 309/2489 ขับไล่ออกจากที่เช่าศาลพิพากษาให้ขับไล่ โดยมติของคณะกรรมการควบคุมค่าเช่าฯ ซึ่งอนุญาตให้จำเลยเข้าอยู่อาศัยในที่เช่านั้นได้ ต่อมาโจทก์ยื่นฟ้องขอให้ศาลทำลายมติของคณะกรรมการควบคุมค่าเช่าฯ ศาลพิพากษาให้ทำลายมติของคณะกรรมการควบคุมค่าเช่าฯ นั้นเสีย โจทก์จึงมาฟ้องคดีนี้ ขอให้เพิกถอนคำพิพากษาคดีแดงที่ 309/2489 จำเลยให้การรับในข้อเท็จจริงแต่ต่อสู้ตัดฟ้อง และต่อสู้ในข้อกฎหมาย ศาลชั้นต้นเห็นว่าเหตุที่จะค้ำจุนคำพิพากษาคดีแดงที่ 309/2489 ขาดไป จึงพิพากษาให้งดการบังคับคดีนั้นเสีย ศาลอุทธรณ์เห็นว่า ไม่มีเหตุจะให้งดการบังคับคดี พิพากษากลับ ให้ยกฟ้อง

โจทก์ฎีกา

ศาลฎีกาวินิจฉัยว่าตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 145คำพิพากษาของศาลย่อมผูกพันคู่ความจนกว่าคำพิพากษานั้น จะได้ถูกเปลี่ยนแปลง แก้ไข กลับหรืองดเสีย ถ้าหากมีการแก้ไขเปลี่ยนแปลงกลับหรืองดเสียนี้ ตามปกติเป็นอำนาจของศาลสูงขึ้นไป คือศาลอุทธรณ์หรือศาลฎีกาแล้วแต่กรณี แต่ศาลชั้นต้นจะเพิกถอนคำพิพากษาของตัวเองที่โจทก์ขอในคดีนี้ หาได้ไม่ ทั้งนี้จะเห็นได้จากบทบัญญัติของประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง ซึ่งให้มีการอุทธรณ์ ฎีกา และบทบัญญัติของประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 144 ที่ห้ามมิให้ศาลดำเนินกระบวนพิจารณาในศาลนั้น อันเกี่ยวกับคดีหรือประเด็นที่ได้วินิจฉัยชี้ขาดแล้ว เว้นแต่จะเป็นกรณีที่อยู่ในข้อยกเว้นแห่งมาตรานั้น ประกอบกับมาตรา 148 ที่ห้ามมิให้คู่ความรายเดียวรื้อร้องฟ้องกันอีก ในประเด็นที่ได้วินิจฉัยโดยอาศัยเหตุอย่างเดียวกัน เว้นแต่กรณีอยู่ในข้อยกเว้นแห่งมาตรานั้น พิพากษายืน

Share