แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา
ย่อสั้น
โจทก์เป็นบิดาจำเลย และจำเลยเป็นผู้ครอบครองทรัพย์พิพาทอยู่ก่อนโจทก์ฟ้องคดีนี้ โจทก์ได้ฟ้องจำเลยเรียกทรัพย์สินพิพาทนี้คืนครั้งหนึ่งแล้วและต่อมาโจทก์ได้ยื่นคำร้องต่อศาลขอถอนคดีโดยแถลงว่า โจทก์ไม่ติดใจเอาความกับจำเลยต่อไป โดยได้ทำสัญญาตกลงระงับข้อพิพาทกับจำเลยฉบับหนึ่งมีข้อความกล่าวอ้างถึงคดีที่ฟ้องนั้น และมีข้อความกล่าวถึงหน้าที่ของจำเลยที่จะต้องปฏิบัติต่อโจทก์ โดยไม่ปรากฏว่าทรัพย์สินที่พิพาท โจทก์จำเลยได้ตกลงให้กรรมสิทธิ์อยู่แก่ใคร เช่นนี้เมื่อทรัพย์พิพาทอยู่ในความปกครองของจำเลย และโจทก์ตกลงทำประนีประนอมกับจำเลยดังกล่าวก็ต้องตีความว่าโจทก์ได้ตกลงไม่โต้แย้งกรรมสิทธิ์ของจำเลยต่อไปแล้ว เพื่อแลกเปลี่ยนกับเงินและข้อสัญญาต่างๆ ที่จำเลยให้ไว้ โจทก์ก็ไม่มีสิทธินำคดีนี้มาฟ้องเรียกทรัพย์พิพาทจากจำเลยอีก
ย่อยาว
โจทก์ฟ้องว่า ที่ดินมือเปล่า 3 แปลง เป็นที่นา 2 แปลงที่บ้าน 1 แปลงเป็นของโจทก์ เมื่อ 7-8 ปีมานี้ โจทก์ให้จำเลยซึ่งเป็นบุตรทำนาโดยส่งข้าวเป็นค่าเช่าส่วนที่บ้านให้จำเลยอาศัยอยู่ โจทก์ได้กู้เงินจำเลยที่ 2 200 บาทได้เอานาที่ให้จำเลยเช่าประมาณ 5 ไร่เศษเป็นประกัน บัดนี้ จำเลยจะเอาทรัพย์เหล่านี้เป็นของตนเสียและไม่ยอมส่งผลเมล็ดข้าวในนาดังเคย จึงขอให้ศาลแสดงว่า ที่ดินทั้ง 3 แปลงเป็นของโจทก์ อย่าให้จำเลยเกี่ยวข้อง และให้จำเลยที่ 2 รับชำระเงิน 200 บาทคืนจากโจทก์
กรณีนี้ โจทก์ได้เคยยื่นฟ้องจำเลยครั้งหนึ่งแล้ว แต่จำเลยได้มาอ้อนวอนขอโทษ และทำหนังสือรับรองจะส่งข้าวให้โจทก์ตามเคยกับจะให้เงิน 600 บาท แต่แล้วจำเลยก็ไม่ให้เงินและไม่ส่งข้าวโจทก์จึงฟ้องเป็นคดีนี้ จำเลยให้การต่อสู้ว่าที่ดินที่พิพาทไม่ใช่ของโจทก์ โจทก์เคยฟ้องเรียกที่พิพาทนี้ในคดีดำที่ 6/2488 ครั้งหนึ่งแล้วได้ทำหนังสือสัญญาประนีประนอมยอมความกัน โดยโจทก์ยอมรับว่าที่พิพาทเป็นของจำเลย โจทก์จึงไม่มีสิทธิฟ้องคดีนี้ ชั้นพิจารณาโจทก์แถลงว่าสัญญาประนีประนอมหมาย ล.1 นั้นไม่กินความถึงที่นาและบ้านรายวิวาทด้วย โจทก์ยังถือเป็นเจ้าของอยู่ ต่อมาโจทก์สละข้อเรียกร้องเฉพาะที่นาอันดับ 1 ตอนเหนือเสีย คงว่ากล่าวแต่ทรัพย์ที่เหลือนอกนั้น
ศาลชั้นต้นเห็นว่า ตามสัญญาประนีประนอมยอมความหมาย ล.1 ยังฟังไม่ได้ว่า ได้มีข้อตกลงให้ที่ดินพิพาทเป็นของใคร ข้อเท็จจริงฟังได้ตามฟ้องโจทก์ พิพากษาให้โจทก์ชนะคดี
ศาลอุทธรณ์พิพากษายืน
จำเลยฎีกา ศาลชั้นต้นสั่งรับเฉพาะข้อกฎหมายในการตีความเอกสารสัญญาประนีประนอมยอมความ กับข้ออ้างบทตัดสำนวนเรื่องการนำสืบ
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า ก่อนฟ้องคดีนี้ โจทก์ได้ฟ้องจำเลยเรียกทรัพย์สินพิพาทนี้คืนครั้งหนึ่งแล้ว และต่อมาโจทก์ได้ยื่นคำร้องขอถอนคดีโดยแถลงว่า โจทก์ไม่ติดใจเอาความกับจำเลยต่อไป ตามคำฟ้องของโจทก์ในคดีนี้ โจทก์ก็ได้กล่าวว่าที่ถอนฟ้องก็เพราะมีสัญญาตกลงระงับข้อพิพาทกันฉบับหนึ่ง ซึ่งคู่ความรับกันว่า คือเอกสารหมาย ล.1 มีข้อความอ้างถึงคดีดำ 6/2489 ที่ฟ้องแล้วนั้น และในข้อ 2 ว่า “คดีนี้ทั้งฝ่ายโจทก์และจำเลยยอมตกลงประนีประนอมกันดังนี้ คือ
ก. โจทก์ยอมรับเอาเงินจากจำเลย 600 บาท
ข. ฝ่ายจำเลยยอมส่งข้าวให้โจทก์คนละ 50 ต่างต่อปี ทุกปีจนตลอดชีวิตของโจทก์
ค. ยอมสัญญาจะเลี้ยงดูโจทก์จนตลอดชีวิต โดยไม่โยกย้ายไปอยู่จังหวัดอื่น
ง. เวลาโจทก์เจ็บป่วย จำเลยยอมสัญญาพยาบาลตามกำลังที่จะกระทำได้
จ. เมื่อโจทก์สิ้นบุญไปแล้ว ให้จำเลยเป็นผู้จัดการศพตามสมควรแก่ฐานานุรูป ส่วนบุตรของภรรยาใหม่ของโจทก์ ก็ให้จำเลยเป็นผู้อุปการะตามสมควร”
ศาลฎีกาเห็นว่า ข้อความตามสัญญาประนีประนอมยอมความฉบับนี้จริงอยู่ไม่มีหนังสือปรากฏว่าทรัพย์สินที่พิพาทโจทก์ จำเลยได้ตกลงให้กรรมสิทธิ์อยู่แก่ใคร แต่การที่ตีความในเอกสารนั้นต้องพิจารณาดูเจตนาอันแท้จริงยิ่งกว่าลายลักษณ์อักษร เมื่อทรัพย์สินอยู่ในความปกครองของจำเลย และโจทก์ประนีประนอมยอมความ ไม่ว่ากล่าวคดีพิพาทนั้นกับจำเลยต่อไป ก็ย่อมเป็นที่เห็นได้ว่า โจทก์ไม่ติดใจโต้แย้งกรรมสิทธิ์ของจำเลยต่อไปแล้ว เพื่อแลกเปลี่ยนกับเงิน 600 บาทและข้อสัญญาต่างที่จำเลยให้ไว้ โจทก์จึงไม่มีสิทธินำคดีนี้มาฟ้องร้องได้อีก
พิพากษากลับ ให้ยกฟ้อง