แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา
ย่อสั้น
อำนาจออกพระราชกฤษฎีกาจนเป็นการขัดหรือฝ่าฝืนต่อกฎหมายทั่วๆ ไปของบ้านเมืองนั้น จักต้องมีการระบุมอบอำนาจไว้โดยชัดแจ้งในตัว พระราชบัญญัติ มิฉะนั้นพระราชกฤษฎีกาที่ออกมาเป็นการขัดหรือฝ่าฝืนกฎหมายทั่วไปของบ้านเมืองนั้นก็จะบังคับใช้ไม่ได้
ข้อความในพระราชกฤษฎีกาควบคุมจัดกิจการหรือทรัพย์สินของบุคคลที่เป็นศัตรูต่อสหประชาชาติ พ.ศ.2492(ฉบับ ที่ 2) มาตรา 3 ซึ่งให้ยกเลิกมาตรา 6 ในพระราชกฤษฎีกาฉบับ ที่1 และใช้ความต่อไปนี้แทนว่า “มาตรา 6 ในการควบคุมจัดกิจการหรือทรัพย์สินตามความในพระราชกฤษฎีกานี้ให้คณะกรรมการรักษาเงินที่ได้จากการนั้นไว้ และในระหว่างที่ยังมิได้มีความตกลงของสหประชาชาติในเรื่องนี้ ห้ามมิให้จ่ายเงินดังกล่าวแล้ว เว้นแต่ค่าใช้จ่ายดังบัญญัติไว้ในมาตรา 5” นั้น ถ้าจะแปลจนถึงว่าให้คณะกรรมการมีอำนาจงดการชำระหนี้อันถึงกำหนดแก่เจ้าหนี้ตลอดถึงไม่ต้องชำระหนี้ตามคำพิพากษาและทรัพย์สินของลูกหนี้ไม่ต้องอยู่ในการบังคับชำระหนี้ของเจ้าหนี้แล้วก็จะเป็นอำนาจที่มิใช่อำนาจในหลักเกณฑ์และวิธีการควบคุมและจัดทรัพย์สิน เพราะเป็นอำนาจที่คณะกรรมการจะต้องกระทำการฝ่าฝืนขืนขัดต่อกฎหมายทั่วไปของบ้านเมือง โดยมิได้มี พระราชบัญญัติให้อำนาจกระทำการเช่นนั้น หรือให้อำนาจที่จะให้มีพระราชกฤษฎีกากำหนดเช่นนั้นได้ ฉะนั้นศาลจึงมีอำนาจดำเนินการบังคับคดีแก่คณะกรรมการฯ ผู้เป็นจำเลยให้ชำระหนี้แก่โจทก์ตามคำพิพากษาของศาลได้ (ประชุมใหญ่ ครั้งที่ 11,12,13,14/2493)
ย่อยาว
คดีนี้ เดิมจำเลยได้เข้าควบคุมจัดกิจการและทรัพย์สินของห้างหุ้นส่วนจำกัดบริษัทฮัมบูร์กไทยตามพระราชบัญญัติว่าด้วยการกักคุมตัวและการควบคุมจัดกิจการหรือทรัพย์สินของบุคคลที่เป็นศัตรูต่อสหประชาชาติ พ.ศ. 2488 ห้างหุ้นส่วนจำกัดดังกล่าวได้ทำสัญญาเช่าตึกของโจทก์ไป บัดนี้จำเลยไม่ยอมชำระเงินค่าสินไหมทดแทนในการที่ทรัพย์ที่ติดตรึงตรากับตัวตึกที่เช่าต้องเสียหายไปให้แก่โจทก์ตามสัญญาเช่า โจทก์จึงฟ้องขอให้ศาลบังคับ คดีถึงที่สุด ศาลพิพากษาให้จำเลยใช้ค่าเสียหาย 6,375 บาทพร้อมทั้งดอกเบี้ย
ศาลชั้นต้นสั่งบังคับคดีใน 15 วัน ศาลออกคำบังคับแล้วจำเลยแถลงต่อศาลขอวางศาลแต่เฉพาะค่าธรรมเนียม ค่าทนายแทนโจทก์เป็นเงิน562 บาท ส่วนค่าเสียหาย 6,375 บาทนั้น จำเลยเห็นว่าจำเลยอยู่ในฐานะเป็นผู้ควบคุมทรัพย์สินของบุคคลที่เป็นศัตรูต่อสหประชาชาติทรัพย์สินของจำเลยมีแต่ทรัพย์สินที่ควบคุมไว้เท่านั้น พระราชกฤษฎีกาควบคุมจัดกิจการหรือทรัพย์สินของบุคคลที่เป็นศัตรูต่อสหประชาชาติ (ฉบับที่ 2) พ.ศ. 2492 มาตรา 3 ได้บัญญัติห้ามมิให้จำเลยจ่ายเงินที่ได้จากทรัพย์สินที่ควบคุมไว้ เว้นแต่ค่าใช้จ่าย ค่าเสียหายนี้มิใช่ค่าใช้จ่าย จำเลยจึงจะปฏิบัติตามคำบังคับคดีของศาลไม่ได้
โจทก์ขอให้ศาลออกหมายบังคับคดีเพื่อให้เจ้าพนักงานบังคับคดีดำเนินการยึดทรัพย์ของจำเลยเพื่อการชำระหนี้ ศาลแพ่งสั่งว่ายึดไม่ได้ เพราะจำเลยได้รับความคุ้มครองตามพระราชกฤษฎีกาดังที่จำเลยแถลง
โจทก์อุทธรณ์ ศาลอุทธรณ์เห็นว่า จำเลยได้เข้าควบคุมจัดกิจการหรือทรัพย์สินของห้างหุ้นส่วนจำกัด บริษัทฮัมบูร์กไทย ฉะนั้นค่าเสียหายรายนี้จึงคิดจากทรัพย์สินของห้างหุ้นส่วนจำกัดนั้นได้ตามมาตรา 5 แห่งพระราชกฤษฎีกาตามที่ศาลล่างอ้างไม่ได้ห้ามเด็ดขาดเมื่อกรณีต้องตามมาตรา 5 แล้วจ่ายได้ จึงพิพากษากลับคำสั่งศาลชั้นต้นว่า ให้ดำเนินการบังคับคดีเพื่อชำระหนี้ให้โจทก์ต่อไป
ศาลฎีกาประชุมใหญ่แล้ว เห็นว่า อำนาจแห่งการเข้าควบคุมจัดกิจการหรือทรัพย์สินของบุคคลที่เป็นศัตรูต่อสหประชาชาตินั้นเกิดขึ้นโดยพระราชบัญญัติว่าด้วยการกักคุมตัวและการควบคุมจัดกิจการหรือทรัพย์สินของบุคคลที่เป็นศัตรูต่อสหประชาชาติ พ.ศ. 2488 ซึ่งมีบทบัญญัติให้อำนาจไว้ในมาตรา 6 ซึ่งให้อำนาจคณะรัฐมนตรีแต่งตั้งกรรมการขึ้นคณะหนึ่ง มีอำนาจควบคุมจัดกิจการตามวิธีการและหลักเกณฑ์ซึ่งกำหนดโดยพระราชกฤษฎีกาอำนาจควบคุมจัดกิจการตามที่กฎหมายให้ไว้นี้ ก็คือการเข้าจัดการงานแทนบุคคลนั้นนั่นเอง ซึ่งรวมตลอดถึงการหยุดกิจการ ชำระบัญชีและการขอให้บุคคลนั้น ๆ เป็นผู้ล้มละลายดังปรากฏหลักเกณฑ์และวิธีการเป็นรายละเอียดอยู่ในพระราชกฤษฎีกาฉบับที่ 1 แล้ว ฉะนั้นถ้าจะมีการออกพระราชกฤษฎีกาให้นอกเหนือไปจากนั้น พระราชกฤษฎีกานั้นก็จะบังคับใช้มิได้ เพราะการให้อำนาจออกพระราชกฤษฎีกาจนเป็นการขัดขืนหรือฝ่าฝืนต่อกฎหมายทั่วไปของบ้านเมืองนั้น จักต้องมีการระบุมอบอำนาจไว้โดยชัดแจ้งในตัวพระราชบัญญัติ ฉะนั้นถ้าจะแปลความดังที่จำเลยยืนยันไปจนถึงว่าให้คณะกรรมการมีอำนาจงดการชำระหนี้อันถึงกำหนดแก่เจ้าหนี้ตลอดถึงไม่ต้องชำระหนี้ตามคำพิพากษาและทรัพย์สินของลูกหนี้ ไม่ต้องอยู่ในการบังคับชำระหนี้ของเจ้าหนี้แล้ว ก็จะเห็นได้ชัดว่า อำนาจนี้มิใช่อำนาจในหลักเกณฑ์และวิธีการควบคุมและจัดทรัพย์สิน เพราะเป็นอำนาจที่คณะกรรมการจะต้องกระทำการฝ่าฝืนขัดต่อกฎหมายทั่วไปของบ้านเมืองโดยมิได้มีพระราชบัญญัติให้อำนาจกระทำการเช่นนั้นหรือให้อำนาจที่จะให้มีพระราชกฤษฎีกากำหนดเช่นนั้นได้
จึงเห็นว่า ข้อโต้แย้งของจำเลยฟังไม่ได้ คำพิพากษาศาลอุทธรณ์ชอบแล้ว จึงพิพากษายืน