คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 914/2493

แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา

ย่อสั้น

ชายหญิงแต่งงานกันแล้วอยู่กินด้วยกันฉันสามีภริยานานราว 8 เดือนแต่ไม่ได้จดทะเบียนสมรส ต่อมาเพราะเหตุใดไม่ได้ความหญิงแยกไปอยู่เสียที่อื่น ภายหลังจึงแต่งงานกับชายอื่นเสีย ดังนี้ เมื่อไม่ได้ความว่าฝ่ายหญิงเป็นฝ่ายผิดในกรณีไม่ได้จดทะเบียนสมรสกับชายแล้วฝ่ายชายก็จะฟ้องเรียกสินสอดคืนไม่ได้ ตามแบบอย่างฎีกาที่ 269/2488
เงินค่าใช้จ่ายในการแต่งงาน ไม่ถือว่าเป็นค่าใช้จ่ายในการเตรียมการสมรสตาม ประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา1439(2) ชายจะฟ้องเรียกไม่ได้ตามแบบอย่างฎีกาที่945/2491

ย่อยาว

โจทก์ฟ้องว่า จำเลยที่ 1-2 บิดามารดาจำเลยที่ 3 ได้รับเงินสินสอด 1,000 บาทจากโจทก์แล้วยกจำเลยที่ 3 ให้เป็นภรรยาโจทก์แต่งงานและอยู่กินด้วยกันฉันท์สามีภริยาแต่ไม่ได้จดทะเบียนสมรสต่อมาจำเลยที่ 1-2 กลับเอาจำเลยที่ 3 ไปยกให้เป็นภรรยาจำเลยที่ 4โจทก์จึงฟ้องขอให้บังคับจำเลยที่ 1-2 คืนสินสอด 1,000 บาท และบังคับจำเลยทุกคนใช้ค่าใช้จ่ายที่โจทก์สิ้นเปลืองไปในการแต่งงาน 1,800 บาท

ศาลชั้นต้นพิพากษาว่า เงินสินสอดและค่าใช้จ่ายในการแต่งงานโจทก์ฟ้องเรียกไม่ได้

ศาลอุทธรณ์พิพากษากลับ ให้จำเลยที่ 1-2 คืนเงินค่าสินสอด 1,000 บาทแก่โจทก์ และให้จำเลยทั้ง 5 ช่วยกันใช้เงินค่าใช้จ่ายในการแต่งงาน 1,800 บาทแก่โจทก์

จำเลยทั้ง 5 ฎีกา

ศาลฎีกาปรึกษาคดีแล้ว ได้ความว่าโจทก์จ่ายเงินให้จำเลยที่ 1-2 1,000 บาทเป็นเงินสินสอดแล้วจำเลยที่ 1-2 จัดการแต่งงานจำเลยที่ 3 ให้เป็นภรรยาโจทก์ แต่ไม่ได้จดทะเบียนสมรส โจทก์กับจำเลยที่ 3 อยู่กินด้วยกันฉันท์สามีภริยานานราว 8 เดือน ครั้นแล้วจะโดยเหตุใดไม่ได้ความ จำเลยที่ 3 แยกไปอยู่เสียที่อื่น ไม่อยู่กับโจทก์ ต่อมามิช้านาน จำเลยที่ 3 ทำการสมรสใหม่กับจำเลยที่ 4 คราวนี้จดทะเบียนสมรสตามกฎหมาย

ตามสำนวนไม่ได้ความว่าจำเลยเหล่านี้เป็นฝ่ายผิดในการที่ไม่ได้จดทะเบียนสมรสกับโจทก์ เพราะฉะนั้นโจทก์ซึ่งเป็นฝ่ายชายจึงฟ้องเรียกสินสอดไม่ได้ ตามแบบอย่างคำพิพากษาฎีกาที่ 269/2488

ส่วนเงินค่าใช้จ่ายในการแต่งงาน ไม่ถือว่าเป็นค่าใช้จ่ายในการเตรียมการสมรส ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 1439(2) โจทก์ย่อมฟ้องเรียกไม่ได้อยู่แล้วตามแบบอย่างฎีกาคำพิพากษาฎีกาที่ 945/2491

จึงพิพากษากลับ ให้บังคับคดีอย่างศาลชั้นต้น

Share