คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 552/2493

แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา

ย่อสั้น

เมื่อจำเลยเป็นผู้เช่าห้องพิพาทจากโจทก์ แม้ผู้เข้าอยู่กับจำเลยซึ่งเป็นบุตรผู้เช่าจะไปจดทะเบียนสำมะโนครัวว่าตนเป็นเจ้าบ้านและไปจดทะเบียนพาณิชย์ว่าตนเป็นผู้ประกอบพาณิชยกิจในห้องนั้น ส่วนจำเลยเป็นเพียงผู้อาศัยก็ดี ย่อมถือว่าผู้เข้าอยู่นั้นเป็นบริวารของจำเลย

ย่อยาว

เดิมโจทก์ฟ้องขับไล่จำเลยออกจากห้องแถวของโจทก์ ศาลพิพากษาขับไล่จำเลยและบริวาร คดีถึงที่สุด ในการบังคับคดีโจทก์ขอให้ศาลหมายจับ ก. ฐานขัดหมายบังคับ ก. ผู้ร้องแถลงต่อศาลว่าไม่ใช่บริวารของจำเลย แต่เป็นเจ้าของร้าน และจำเลยมีฐานะเพียงผู้ใหญ่อาศัยอยู่ กับส่งสำเนาทะเบียนสำมะโนครัวมาแสดงว่าเป็นเจ้าของบ้านในห้องพิพาท ข้อเท็จจริงได้ความว่า จำเลยเป็นผู้ทำสัญญาเช่าห้องรายนี้จากโจทก์ ก. ผู้ร้องเป็นบุตรจำเลย และจดทะเบียนพาณิชย์เป็นผู้ประกอบพาณิชกิจในห้องนั้น

ศาลชั้นต้นเห็นว่า ก. ผู้ร้องมิใช่บริวารของจำเลย ให้ยกคำร้องของโจทก์ที่ขอให้จับ ก. เสีย

ศาลอุทธรณ์เห็นว่า ตามทะเบียนสำมะโนครัวที่มีข้อความว่าเป็นเจ้าบ้านไม่มีความสัมพันธ์ในเรื่องการเข้าอยู่ในที่นี้กับโจทก์ผู้เช่าคือจำเลย ให้ยกคำร้องของศาลชั้นต้นบังคับให้ผู้ร้องออกไปใน 7 วัน มิฉะนั้นให้จับตัวมาคุมขัง ฯลฯ

นางกุหลาบ ผู้ร้องฎีกา

ศาลฎีกาเห็นว่า การที่ ก. ผู้ร้องมีชื่อในบัญชีสำมะโนครัวว่าเป็นเจ้าของบ้านก็ดี หรือจะจดทะเบียนพาณิชกิจในห้องนั้นก็ดีไม่อาจทำให้ฐานะแห่งการเข้าอยู่ในห้องที่จำเลยเช่าไว้เปลี่ยนแปลงได้คือ ก. เข้าอยู่โดยอาศัยอำนาจการเช่าของจำเลยและเห็นว่าความสัมพันธ์ทางส่วนตัวระหว่างผู้เข้าอยู่กับผู้เช่าจะมีความเหลื่อมล้ำต่ำสูงกันอย่างไร แม้จะเป็นบุพพการีหรือหัวหน้าคณะหรือนายจ้างของผู้เช่าก็ดี เมื่อเข้าอยู่โดยอำนาจการเช่าของผู้เช่าแล้วต้องเป็นบริวารของผู้เช่าตามความหมายของคำว่า “บริวาร” ในประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 142

พิพากษายืน

Share