คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 521/2493

แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา

ย่อสั้น

โจทก์ฟ้องว่า จำเลยขายที่ดินมีโฉนดให้ และโจทก์ได้ครอบครองมา 10 ปีกว่าแล้ว ขอให้จำเลยโอนแก้ทะเบียนให้โจทก์ตามสัญญาซื้อขายหรือให้ถอนชื่อจำเลยออกใส่ชื่อโจทก์ในโฉนดแทน จำเลยต่อสู้ว่าได้มอบที่ดินให้โจทก์ทำกินต่างดอกเบี้ยเงินกู้ดังนี้ ประเด็นตกเป็นหน้าที่โจทก์นำสืบก่อน เพราะภาระการพิสูจน์ว่า การครอบครองของโจทก์ได้เป็นไปโดยความสงบและโดยเปิดเผยด้วยเจตนาเป็นเจ้าของยังคงตกอยู่แก่โจทก์ทั้งนี้เพราะการอ้างถึงการได้มาซึ่งกรรมสิทธิ์ที่ดินตามมาตรา 1382 สำหรับที่ดินที่มีหนังสือสำคัญ แสดงกรรมสิทธิ์ว่าเป็นของผู้อื่นอยู่แล้วนั้น ผู้อ้างจะต้องแสดงหลักฐานให้เป็นที่พอใจต่อศาล ศาลจึงจะมีคำพิพากษาหรือคำสั่งแสดงการได้มาซึ่งกรรมสิทธิ์เพื่อการจดทะเบียนตามบทบัญญัติแห่งพ.ร.บ.ออกโฉนดที่ดิน (ฉบับที่ 7)2486มาตรา 14 และกฎกระทรวงมหาดไทยลงวันที่ 1 มกราคม 2486ข้อ 1
ศาลชั้นต้นสั่งให้จำเลยมีหน้าที่นำสืบก่อน ซึ่งเป็นการไม่ชอบ การที่จำเลยต้องขาดนัดพิจารณาเพราะหน้าที่นำสืบก่อนต้องตกแก่จำเลยโดยไม่ชอบเช่นนี้ เป็นการสมควรให้ได้มีการพิจารณาคดีใหม่ โดยดำเนินกระบวนพิจารณาให้ชอบ แล้วพิพากษาใหม่ตามรูปความ
ฟ้องขอให้ศาลบังคับลูกหนี้กระทำการชำระหนี้ตามสัญญาที่ได้ทำกันไว้อันเป็นการขอให้บังคับตามสิทธิเรียกร้องนั้น จะต้องฟ้องเสียภายในระยะเวลา10 ปี มิฉะนั้นขาดอายุความ

ย่อยาว

โจทก์ฟ้องว่า ที่ดินพิพาทมีชื่อนายมูลนางแก้วเป็นผู้ถือกรรมสิทธิ์ในโฉนด จำเลยรับมรดกแล้วเมื่อ 18 ปีมานี้ จำเลยได้ทำหนังสือสัญญาขายที่ดินนั้นให้โจทก์เป็นเงิน 1,000 บาท โจทก์ได้ชำระเงินให้จำเลยเสร็จแล้ว จำเลยได้มอบโฉนดและที่ดินให้โจทก์ครอบครองตลอดมา บัดนี้จำเลยไม่ยอมแก้ทะเบียนโอนให้โจทก์ จึงขอให้ศาลบังคับให้จำเลยไปจัดการประกาศรับมรดก และโอนขายให้โจทก์จำเลยต่อสู้ว่าไม่ได้ทำสัญญาซื้อขายหรือมอบโฉนดและที่ดินให้โจทก์สัญญาที่กล่าวอ้างโจทก์ทำปลอมขึ้น นางสอยไปกู้เงินโจทก์มา 500 บาท โฉนดและที่ดินจึงตกอยู่แก่โจทก์

จำเลย ซึ่งศาลสั่งให้มีหน้าที่นำสืบก่อน ขาดนัดพิจารณาศาลไม่อนุญาตให้จำเลยนำพยานเข้าสืบ โจทก์ไม่ขอสืบพยานคงส่งแต่สัญญาซื้อขาย

ศาลชั้นต้นเห็นว่า คู่ความรับกันว่า โจทก์ครอบครองที่พิพาทมากว่า 10 ปี เมื่อจำเลยไม่มีพยานสืบหักล้างว่า ไม่ใช่ครอบครองปรปักษ์ ย่อมเป็นฝ่ายแพ้คดี พิพากษาให้ที่พิพาทเป็นกรรมสิทธิ์ของโจทก์

ศาลอุทธรณ์พิพากษายืน

จำเลยฎีกา

ศาลฎีกาได้วินิจฉัยโดยที่ประชุมใหญ่เห็นว่า ตามฟ้องของโจทก์ที่ตั้งรูปคดีมาให้ศาลบังคับจำเลยให้กระทำการชำระหนี้ตามสัญญาที่ได้ทำกันไว้ อันเป็นการขอให้บังคับร้องและตามสัญญาซื้อขายนี้อาจจะอนุโลมไปได้ว่า เป็นเพียงสัญญาซื้อขายก็ดี แต่ก็มีข้อสัญญาในข้อ 3 ว่าจำเลยขอสัญญาว่าจะไปโอนโฉนดให้โจทก์ภายในเดือนพฤษภาคม 2473 ซึ่งเรื่องนี้จำเลยได้ยกอายุความขึ้นต่อสู้ไว้สิทธิเรียกร้องขอให้บังคับจำเลยให้กระทำการชำระหนี้โดยไปจัดการโอนแก้ทะเบียนโฉนดให้โจทก์ตามสัญญานั้น โจทก์มิได้ใช้บังคับเสียภายในระยะเวลา 10 ปี ตกเป็นอันขาดอายุความ ห้ามมิให้ฟ้องร้องเสียแล้ว

คำขอของโจทก์อีกข้อหนึ่ง ซึ่งพอจะตีความหมายได้ว่า โจทก์กล่าวอ้างการได้กรรมสิทธิ์ที่ดินโดยทางอื่นนอกจากทางนิติกรรมคือได้มาในทางอายุความได้สิทธิตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 1382 ก็ดี แต่ตามหลักกฎหมายในเรื่องนี้ มาตรา 1373 ได้บัญญัติว่า ถ้าทรัพย์สินเป็นอสังหาริมทรัพย์ที่ได้จดไว้ในทะเบียนที่ดิน ท่านให้สันนิษฐานไว้ก่อนว่าบุคคลผู้มีชื่อในทะเบียนเป็นผู้มีสิทธิครอบครอง ฉะนั้นที่โจทก์จะอ้างว่าโจทก์ได้กรรมสิทธิ์โดยทางอายุความได้สิทธิแล้ว โจทก์จะต้องแสดงให้ปรากฏต่อศาลว่าโจทก์ได้ครอบครองทรัพย์สินนั้นไว้โดยความสงบและโดยเปิดเผยด้วยเจตนาเป็นเจ้าของติดต่อกันเป็นเวลา 10 ปี คดีนี้จำเลยเถียงอยู่ว่าโจทก์นำยึดถือที่ดินนั้นไว้โดยนางสอยมอบให้ทำกินต่างดอกเบี้ยศาลฎีกาเห็นว่า การอ้างถึงการได้มาซึ่งกรรมสิทธิ์ที่ดินตามมาตรา 1382 สำหรับที่ดินที่มีหนังสือสำคัญแสดงกรรมสิทธิ์ว่าเป็นของผู้อื่นอยู่แล้วนั้น ผู้อ้างจะต้องแสดงหลักฐานให้เป็นที่พอใจศาล ศาลจึงจะมีคำพิพากษาหรือคำสั่งแสดงการได้มาซึ่งกรรมสิทธิ์เพื่อการจดทะเบียนตามบทบัญญัติแห่ง พระราชบัญญัติออกโฉนดที่ดิน (ฉบับที่ 7) 2486 มาตรา 14 และกฎกระทรวงมหาดไทยลงวันที่ 1 มกราคม 2486 ข้อ 1

คดีนี้ ตามฟ้องโจทก์และคำให้การต่อสู้คดีของจำเลยข้อเท็จจริงยังเถียงกันอยู่ ประเด็นในข้อนี้ตกเป็นหน้าที่โจทก์ต้องนำสืบก่อนเพราะภาระการพิสูจน์ว่า การครอบครองของโจทก์ได้เป็นไปโดยความสงบและโดยเปิดเผยด้วยเจตนาเป็นเจ้าของยังตกอยู่แก่โจทก์ที่ศาลชั้นต้นสั่งให้จำเลยมีหน้าที่นำสืบก่อน จึงไม่ตรงกับความเห็นของศาลฎีกา และการที่จำเลยต้องขาดนัดพิจารณา เพราะหน้าที่นำสืบสืบก่อนตกแก่จำเลยโดยไม่ชอบเช่นนี้เห็นสมควรให้มีการพิจารณาคดีใหม่

จึงพร้อมกันพิพากษาให้ยกคำพิพากษาศาลชั้นต้นและศาลอุทธรณ์เสีย ให้ศาลชั้นต้นทำการพิจารณาคดีใหม่ โดยดำเนินกระบวนพิจารณาตามนัยดังกล่าวข้างต้นแล้วพิพากษาใหม่ตามรูปความ

Share