คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 1263/2496

แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา

ย่อสั้น

คัดลอกหนังสือที่ผู้อื่นประพันธ์ขึ้นออกจำหน่ายโดยมิได้รับความยินยอมหรือรับอนุญาตจากเจ้าของแล้ว แม้จะมีคำนำเขียนไว้ในหนังสือถึงที่มาของหนังสือนั้นก็ตามก็ถือได้ว่าเป็นการละเมิดลิขสิทธิ์ตาม พระราชบัญญัติคุ้มครองวรรณกรรมและศิลปกรรม มาตรา 11 และ 20
กระทรวงศึกษาธิการให้หัวหน้าแผนกหลักสูตรและแบบเรียนกรมสามัญศึกษา เรียบเรียงประมวลการสอนชั้นประถมศึกษาขึ้นเมื่อเรียบเรียงแล้ว ได้เสนอรัฐมนตรีว่าการกระทรวงฯ รัฐมนตรีอนุมัติให้ใช้เพื่อโรงเรียนต่างๆ ใช้เป็นแนวสำหรับทำการสอนดังนี้ประมวลการสอนดังกล่าวย่อมเป็นลิขสิทธิ์ตามกฎหมายเพราะเป็นหนังสือวรรณกรรมที่มีเจ้าของคิดเรียบเรียงขึ้น ผู้ใดคัดลอกจัดพิมพ์ออกจำหน่ายโดยมิได้รับความยินยอมหรือรับอนุญาตจากเจ้าของแล้ว ย่อมมีความผิดฐานละเมิดลิขสิทธิ์ตาม พระราชบัญญัติคุ้มครองวรรณกรรมและศิลปกรรม

ย่อยาว

โจทก์ฟ้องหาว่าจำเลยละเมิดลิขสิทธิ์ ขอให้ลงโทษตามพระราชบัญญัติคุ้มครองวรรณกรรมและศิลปกรรม

จำเลยปฏิเสธ

ศาลชั้นต้นพิพากษาว่าจำเลยละเมิดลิขสิทธิ์ของกระทรวงศึกษาธิการผิดตาม พระราชบัญญัติคุ้มครองวรรณกรรมและศิลปกรรม พ.ศ. 2474มาตรา 4-5, 11, 12, 20 และ 25 ปรับ 500 บาท

จำเลยอุทธรณ์ ศาลอุทธรณ์พิพากษายืน

จำเลยฎีกา

ศาลฎีกาเห็นว่า ประมวลการสอนชั้นประถมที่จำเลยจัดพิมพ์ออกจำหน่ายนี้กระทรวงศึกษาธิการได้ให้นายเทียบ ลอยเพ็ชร์เรียบเรียงขึ้น เมื่อเรียบเรียงแล้วได้เสนอรัฐมนตรีว่าการ ฯ อนุมัติให้ใช้เพื่อโรงเรียนต่าง ๆ ใช้เป็นแนวสำหรับทำการสอน กรมสามัญศึกษาได้ส่งประมวลการสอนให้โรงพิมพ์คุรุสภาพิมพ์จำหน่าย พิมพ์ยังไม่เสร็จ จำเลยก็ได้จัดการพิมพ์ประมวลการสอนนี้ออกจำหน่ายจึงเห็นได้ว่าประมวลการสอนนี้เป็นลิขสิทธิ์ตามกฎหมายเพราะเป็นหนังสือวรรณกรรมที่มีเจ้าของคิดเรียบเรียงขึ้น ข้อที่จำเลยฎีกาว่ามิได้มีเจตนาทุจริตในการละเมิดลิขสิทธิ์ของกระทรวงศึกษาธิการ เพราะได้มีคำนำเขียนไว้ในหนังสือโดยชัดเจนถึงที่มาของหนังสือนั้น จะเอาผิดแก่จำเลยมิได้นั้น เห็นว่า การที่จำเลยคัดลอกหนังสือที่ผู้อื่นประพันธ์ขึ้นออกจำหน่าย โดยมิได้รับความยินยอมหรือรับอนุญาตจากเจ้าของแล้ว ก็ถือได้ว่าเป็นการละเมิดลิขสิทธิ์ตามมาตรา 11 และ 20 แห่งพระราชบัญญัติคุ้มครองวรรณกรรมและศิลปกรรม

จึงพิพากษาให้ยกฎีกาจำเลย

Share