แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา
ย่อสั้น
ในคดีที่เด็กหรือเยาวชนต้องหาว่ากระทำผิดผู้อำนวยการสถานพินิจต้องรายงานแสดงความเห็นถึงเรื่องสาเหตุแห่งการกระทำของจำเลยด้วยทุกเรื่องถึงแม้จำเลยจะให้การปฏิเสธว่ามิได้กระทำผิดก็ดี
ย่อยาว
โจทก์ฟ้องว่า เมื่อระหว่างเวลาพระอาทิตย์ตกวันที่ 16 กุมภาพันธ์ 2495 ถึงเวลาพระอาทิตย์ขึ้นวันที่ 17 กุมภาพันธ์ 2495 ซึ่งเป็นเวลากลางคืนตามกฎหมาย จำเลยในคดีนี้กับพวกอีก 2 คนซึ่งได้แยกฟ้องที่ศาลอาญา คดีดำที่ 641/2495 แล้ว ได้กระทำผิดต่อกฎหมาย โดยจำเลยบังอาจมีมีดเป็นศาตราวุธติดตัวไปคนละ 1 เล่มสมคบกันกระทำการปล้นทรัพย์ของนายเว้งล้งแซ่ตั้ง และนางคิ้มแซ่อึ้ง ไปหลายอย่างคือสายสร้อยคอทองคำ 1 สาย พร้อมด้วยเหรียญทองคำรูปหัวใจ 1 เหรียญราคา 750 บาท กับกรรไกรตัดผ้า 1 เล่มราคา 7 บาท รวมราคาทั้งสิ้น 757 บาท ในการปล้นทรัพย์ จำเลยกับพวกดังกล่าวได้สมคบกันใช้ศาตราวุธมีดที่มีติดตัวไป ขู่เข็ญว่าจะทำร้ายนายเว้งล้ง แซ่ตั้ง ผู้เสียหายทั้งยังได้สมคบกันใช้ศาตราวุธมีดดังกล่าวแทงทำร้ายนางคิ้ม แซ่อึ้ง ภริยาผู้เสียหาย ด้วยเจตนาฆ่าให้ตาย โดยแทงถูกตามร่างกาย 3 แผล นางคิ้ม แซ่อึ้ง ถึงแก่ความตายโดยพิษบาดแผลที่ถูกจำเลยกับพวกแทงทำร้ายในคืนเกิดเหตุนั้นเองเหตุเกิดที่ตำบลวังใหม่ อำเภอปทุมวัน จังหวัดพระนครครั้นวันที่ 17 กุมภาพันธ์ 2495 เจ้าพนักงานตำรวจจับจำเลยที่ 1 ได้และวันที่ 21 เดือนเดียวกัน จับจำเลยที่ 2 ได้ และได้สายสร้อยคอทองคำ 1 เส้น ราคา 700 บาท (ขาดขอเกี่ยวสายสร้อย 1 อันราคา 50 บาท) ที่จำเลยกับพวกปล้นไปตามฟ้องคืนจากนางคิ้ม แซ่แต้ โดยจำเลยกับพวกนำไปขายไว้เป็นของกลาง นอกจากนี้ยังได้มีดที่จำเลยกับพวกใช้ในการปล้นรายนี้รวม 4 เล่ม กรรไกรตัดผ้า 1 เล่ม ราคา 7 บาทที่จำเลยกับพวกปล้นเอาไป ใบรับเงินที่จำเลยที่ 2 ทำให้ไว้แก่นางคิ้ม แซ่แต้ทั้งยังได้เสื้อผ้ารวม 7 ชิ้น ซึ่งจำเลยใช้แต่งกายไปทำการปล้นรายนี้เป็นของกลาง ก่อนคดีนี้ จำเลยที่ 1 เคยถูกศาลพิพากษาให้ลงโทษมาแล้ว ปรากฏตามใบแดงแจ้งโทษท้ายฟ้องพ้นโทษไปยังอยู่ในกำหนด 5 ปี กลับมากระทำผิดในคดีนี้ขึ้นอีก หาเข็ดหลาบไม่ ขอให้ศาลเพิ่มโทษจำเลยขึ้นอีกโสดหนึ่งด้วย จำเลยที่ 1 เกิดเมื่อ พ.ศ. 2477 ขณะกระทำผิดอยู่ในปกครองของบิดามารดาซึ่งมีถิ่นที่อยู่ปกติแห่งเดียวกับจำเลย ขอให้ลงโทษตามกฎหมายลักษณะอาญา มาตรา 63,301, 250, 72 พระราชบัญญัติแก้ไขเพิ่มเติมกฎหมายลักษณะอาญา พ.ศ. 2477 มาตรา 7 และขอให้ศาลสั่งคืนสายสร้อยคอทองคำและเหรียญกับกรรไกรของกลางแก่เจ้าทรัพย์คืนหรือใช้ราคาทรัพย์ที่ยังขาดอีก 50 บาทแก่เจ้าทรัพย์และริบมีดของกลาง
จำเลยที่ 2 หลบหนีไปจากความควบคุมของเจ้าพนักงานตำรวจในระหว่างพิจารณา ศาลชั้นต้นจึงสั่งจำหน่ายคดีสำหรับ จำเลยที่ 2 เสียคงพิจารณาไปแต่เฉพาะที่เกี่ยวกับจำเลยที่ 1
จำเลยที่ 1 ให้การรับว่า จำเลยที่ 1 กับพวกอีก 3 คน รวมเป็น 4 คน ต่างมีมีดเป็นศาตราวุธ ได้สมคบกันขู่เข็ญผู้เสียหายว่าจะทำร้ายแล้วลักทรัพย์ไปตามฟ้อง แต่จำเลยที่ 1 ไม่ได้ลงมือทำร้ายและไม่ได้สมคบกับพวกทำร้ายผู้เสียหาย เพียงแต่ใช้มีดขู่ว่าจะทำร้ายเท่านั้น ข้อที่เคยต้องโทษและพ้นโทษจำเลยรับว่าจริง
ศาลคดีเด็กและเยาวชนกลางพิจารณาแล้วเห็นว่าจะฟังว่าจำเลยกับพวกสมคบกันแทงทำร้ายร่างกายนางคิ้มถึงตายยังไม่ได้ คงได้ความแต่ว่า จำเลยกับพวกได้สมคบกันทำการปล้นทรัพย์ และในการปล้นนั้นทำให้นางคิ้มภรรยาเจ้าทรัพย์ถึงแก่ความตาย จึงพิพากษาว่าจำเลยมีความผิดตามกฎหมายลักษณะอาญามาตรา 301 วรรค 3 แม้จำเลยจะเป็นเยาวชนอายุ 17 ปี 10 เดือนก็ดี แต่ดูลักษณะของด้านจิตใจที่รู้จักผิดชอบในการกระทำผิดแล้วก็ยังไม่สมควรลดโทษให้ จำเลยมีนิสัยสันดานที่จะใช้วิธีการย่อมไม่ได้ โทษจำคุกเท่านั้นจะทำให้จำเลยเปลี่ยนนิสัยสันดานนั้น จึงให้ลงโทษจำคุกจำเลยไว้ตลอดชีวิตจำเลยเคยต้องโทษมาแล้ว 2 ครั้งครั้งแรกวิ่งราวทรัพย์ พ้นโทษเมื่อธันวาคม พ.ศ. 2492 ครั้งที่สองเล่นการพนันแปดเก้าจำคุก 1 เดือนและปรับด้วย พ้นโทษเมื่อวันที่ 17 ตุลาคม 2494 นี่เองกลับมาทำความผิดขึ้นอีก ตามกฎหมายจะต้องเพิ่มโทษ 1 ใน 3 แต่จำเลยต้องโทษจำคุกตลอดชีวิตเสียแล้วย่อมเพิ่มอีกไม่ได้ จำเลยให้การรับสารภาพในชั้นศาลโดยดี ปรานีลดโทษให้กึ่งหนึ่ง ตามกฎหมายลักษณะอาญา มาตรา 59 คงให้จำคุกจำเลยไว้มีกำหนด 12 ปี ให้จำเลยคืนสายสร้อยคอทองคำและเหรียญกับกรรไกรให้เจ้าทรัพย์ และคืนหรือใช้ราคาทรัพย์ที่ยังขาดอีก 50 บาท ให้แก่เจ้าทรัพย์ มีดของกลางให้ริบ
จำเลยอุทธรณ์ขอให้ลงโทษในสถานเบา ลดโทษฐานปรานีให้แก่จำเลยแล้วขอให้ลดโทษตามมาตรา 58 ให้แก่จำเลยอีกกึ่งหนึ่ง
ศาลอุทธรณ์เห็นว่า ศาลคดีเด็กและเยาวชนกลางได้ลงโทษจำเลยและลดโทษฐานปรานีคงเหลือจำคุกเพียง 12 ปีนั้น เป็นกำหนดโทษที่เบาอยู่แล้ว มาตรา 58 ทวิ ที่แก้ไขเป็นเรื่องอยู่ในดุลพินิจของศาลที่จะลดให้ตามมาตรานี้หรือไม่ เมื่อพิจารณาถึงนิสัยความประพฤติของจำเลยทั้งในอดีตและปัจจุบัน เห็นว่า จำเลยดำเนินไปในวิถีทางอันเสื่อมทรามตลอดมาควรได้รับผลตอบแทนจากการกระทำชั่วของตนเพื่อให้สำนึกไว้บ้าง จึงพิพากษายืน
จำเลยที่ 1 ยื่นฎีกาขอให้ลงโทษจำเลยในสถานที่เบาแล้วลดโทษให้จำเลยตามมาตรา 58 ทวิ เพื่อเป็นกำลังใจส่งเสริมให้จำเลยเป็นคนดีในภายหน้า
ศาลฎีกาแผนกคดีเด็กและเยาวชนได้ตรวจสำนวนประชุมปรึกษาแล้ว ขณะที่จำเลยกระทำการอันเป็นเหตุให้ถูกฟ้องคดีนี้ปรากฏว่าจำเลยมีอายุ 17 ปี 10 เดือน ยังไม่ครบสิบแปดปีบริบูรณ์จำเลยจึงเป็น “เยาวชน” ตามความหมายของพระราชบัญญัติวิธีพิจารณาคดีเด็กและเยาวชน พ.ศ. 2494 มาตรา 46 แห่งพระราชบัญญัตินี้ มีความว่า “ในการที่ศาลจะพิจารณาและพิพากษาคดีที่มีข้อหาว่าเด็กหรือเยาวชนกระทำการอันกฎหมายบัญญัติเป็นความผิด ให้ศาลคำนึงถึงสวัสดิภาพและอนาคตของเด็ก ซึ่งควรจะได้รับการฝึก อบรมสั่งสอน และสงเคราะห์ให้กลับตัวเป็นพลเมืองดียิ่งกว่าการที่จะลงโทษ และในการพิพากษาคดีนั้นให้ศาลคำนึงถึงบุคคลิกลักษณะ สุขภาพและภาวะแห่งจิตของเด็กและเยาวชนซึ่งแตกต่างกันเป็นคน ๆ ไป และลงโทษหรือใช้วิธีการให้เหมาะสมกับตัวเด็กหรือเยาวชนและพฤติการณ์เฉพาะเรื่อง แม้เด็กหรือเยาวชนนั้นจะได้กระทำผิดร่วมกัน” การที่ศาลจะวางโทษหรือใช้วิธีการให้เหมาะสมกับตัวเด็กหรือเยาวชนดังว่านี้ ศาลจึงต้องพิจารณาสิ่งแวดล้อมทั้งปวงเกี่ยวกับตัวเด็กหรือเยาวชนนั้น ตาม มาตรา 45 แห่งพระราชบัญญัตินี้ และต้องคำนึงถึงสาเหตุแห่งการกระทำของเด็กและเยาวชนซึ่งกฎหมายบัญญัติเป็นความผิดนั้นด้วย ในเรื่องสาเหตุแห่งการกระทำผิดของจำเลยในคดีนี้ ปรากฏว่าเจ้าพนักงานคุมประพฤติผู้สืบเสาะข้อเท็จจริงรายงานว่า เนื่องจากเด็กให้การปฏิเสธว่ามิได้กระทำความผิดจึงไม่สามารถที่จะแสดงความเห็นเกี่ยวกับการกระทำผิดได้ ผู้อำนวยการสถานพินิจจึงมิได้แสดงความเห็นเกี่ยวกับสาเหตุแห่งการกระทำผิดของจำเลย ซึ่งกฎหมายบัญญัติเป็นความผิดมายังศาลตามพระราชบัญญัติวิธีพิจารณาคดีเด็กและเยาวชน มาตรา 26(2) การที่เจ้าพนักงานสถานพินิจถือว่า เมื่อจำเลยปฏิเสธว่าไม่ได้กระทำความผิดก็ไม่มีทางที่จะแสดงความเห็นเกี่ยวกับการกระทำความผิดของจำเลยได้นั้น ศาลฎีกาไม่เห็นชอบด้วย เพราะถ้าตีความเช่นนี้โอกาสที่ศาลจะทราบสาเหตุแห่งการกระทำผิดของจำเลยในกรณีที่จำเลยให้การปฏิเสธก็จะไม่มีเลย แล้วจะให้ศาลลงโทษหรือใช้วิธีการที่เหมาะสมกับตัวจำเลยเช่นฝึก หรืออบรมสั่งสอนให้จำเลยกลับตัวเป็นพลเมืองดีดังกล่าวไว้ในมาตรา 46 ได้อย่างไรในเมื่อศาลเองไม่ทราบว่าจำเลยมีความประพฤติบกพร่องเพราะอะไรเป็นเหตุ ศาลฎีกาเห็นว่า แม้มาตรา 9 แห่งพระราชบัญญัติวิธีพิจารณาคดีเด็กและเยาวชนจะมีถ้อยคำว่าให้สถานพินิจมีอำนาจหน้าที่สืบเสาะสาเหตุแห่งการกระทำผิดของจำเลยเพื่อรายงานศาลอันอาจทำให้เข้าใจไปว่าเจ้าพนักงานจะต้องรายงานเรื่องนี้ต่อเมื่อปรากฏว่าจำเลยได้กระทำผิดจริงก็ดี เมื่ออ่านมาตรา 26(2) ซึ่งบัญญัติว่าผู้อำนวยการสถานพินิจต้องรายงานข้อเท็จจริงตามที่ระบุไว้ในมาตรา 9(1) และแสดงความเห็นเกี่ยวกับสาเหตุแห่งการกระทำซึ่งกฎหมายบัญญัติเป็นความผิดเสนอต่อศาลแล้ว ก็เห็นได้ว่ากฎหมายประสงค์จะให้สถานพินิจรายงานเรื่องสาเหตุแห่งการกระทำของจำเลยซึ่งเป็นเหตุให้ถูกกล่าวหาหรือฟ้องร้องต่อศาลนั้นทุกเรื่อง เมื่อศาลได้ทราบสาเหตุแล้วจึงจะมีโอกาสหาวิธีแก้ไขให้จำเลยกลับตัวเป็นพลเมืองดีได้เช่นเดียวกับแพทย์ต้องทราบว่าคนไข้ป่วยเป็นโรคอะไร แล้วจึงจะหาวิธีรักษาเยียวยาได้ถูกต้อง อย่างไรก็ตาม ปรากฏว่าตามรายงานสิ่งแวดล้อมและรายงานอื่น ๆ ของสถานพินิจเกี่ยวกับตัวจำเลยคนนี้ตลอดจนคำพยานที่เบิกความในศาล และใบแดงแจ้งโทษว่า จำเลยเป็นบุตรช่างไม้ เรียนหนังสือเพียงชั้นประถมปีที่ 2 แต่ไม่จบก็ออกเสียก่อน เพราะไม่รักการเรียน หนังสือพออ่านออกแต่เขียนไม่ได้บิดาหนักใจเพราะจำเลยไม่อยู่ในโอวาท แต่บิดาควบคุมไม่ทั่วถึงเพราะมัวยุ่งกับอาชีพ จำเลยเป็นคนขรึม ๆ ไม่ปราดเปรียว สติปัญญาทึบ ชอบคบเพื่อนเกเร และเพื่อนชวนไปเที่ยวกลางคืนเสมอ เมื่อจำเลยอายุ 14 ปีก็เป็นโรคฝีมะม่วง และขณะที่ถูกจับมาในคดีนี้ก็เป็นฝีมะม่วงอีกจำเลยอยู่กับบิดามารดาที่ตำบลวังใหม่ อำเภอปทุมวันแถบที่อยู่นั้นเป็นถิ่นที่อยู่ของนักเลงอันธพาลนานาชนิด และเป็นแหล่งหญิงนครโสเภณีเมื่อ พ.ศ. 2492 จำเลยถูกศาลพิพากษาว่ามีผิดฐานวิ่งราวทรัพย์ ให้เรียกประกันทัณฑ์บน 3 ปี ผิดปรับ 100 บาท ใน พ.ศ. 2494 จำเลยถูกศาลพิพากษาจำคุก 1 เดือน ฐานลักเล่นการพนันแปดเก้า จำเลยหัดมวยมา 2 ปีเศษเคยขึ้นชก 3 ครั้ง เมื่อพ้นโทษครั้งสุดท้ายมาได้สักหน่อยก็มากระทำผิดในคดีนี้ซึ่งเป็นความผิดอุกฉกรรจ์ ในระหว่างที่จำเลยอยู่ในความควบคุมของสถานพินิจปรากฏว่าความประพฤติไม่เรียบร้อย ชอบตั้งตัวเป็นหัวหน้าก่อความไม่สงบ ฝ่าฝืนระเบียบยุแหย่ให้เพื่อนฝูงทะเลาะกันและเป็นหัวหน้าวางแผนการณ์จะหลบหนีจากความควบคุม จนสถานพินิจต้องส่งตัวไปฝากขังไว้ที่สถานีตำรวจ จำเลยมีร่างกายแข็งแรง ไม่ปรากฏอาการโรคจิตในขณะนี้ ตามข้อเท็จจริงดังกล่าวแล้ว พอสรุปสาเหตุแห่งการกระทำผิดได้ว่า เป็นเพราะจำเลยสติปัญญาทึบ ได้รับการศึกษาเพียงเล็กน้อย คบเพื่อนไม่ดี ความประพฤติไม่ดี และไม่ชอบอยู่ในโอวาทของบิดามารดาหรือผู้ใหญ่ บิดามารดาไม่สามารถจะควบคุมหรือสั่งสอนอบรมให้จำเลยเป็นคนดี ความประพฤติของจำเลยเลวลงตามลำดับเริ่มตั้งแต่เป็นโรคสำหรับบุรุษเมื่ออายุได้เพียง 14 ปี ทำผิดฐานวิ่งราวทรัพย์เมื่ออายุ 15 ปี และต้องโทษฐานลักเล่นการพนันเมื่ออายุ 17 ปี แล้วก็มามีส่วนในการปล้นฆ่าเจ้าทรัพย์ในคดีนี้ การที่จะฝึกอบรมจำเลยโดยวิธีธรรมดาสำหรับใช้แก่เด็ก หรือเยาวชนน่าจะไม่ได้ผล ความผิดของจำเลยในคดีนี้ร้ายแรงมาก การที่ศาลล่างทั้งสองตั้งเกณฑ์ลงโทษจำคุกจำเลยไว้ตลอดชีวิต แล้วลดโทษฐานปรานีเพราะจำเลยรับสารภาพโดยดีลงกึ่งหนึ่งคงให้จำคุกจำเลยเพียง 12 ปีนั้นเป็นการสมควรแล้ว มาตรา 58 ทวิที่จำเลยอ้างขึ้นเป็นข้อลดโทษจำเลยลงอีกชั้นหนึ่งนั้น ให้อำนาจศาลไว้อย่างกว้าง ๆ ว่า ถ้าบุคคลอายุกว่า 17 ขวบ แต่ยังไม่เกิน 20 ขวบกระทำความผิด หากศาลเห็นสมควรจะลดมาตราส่วนโทษที่กำหนดไว้สำหรับความผิดนั้นลงหนึ่งในสาม หรือกึ่งหนึ่งก็ได้ กฎหมายหาได้บังคับว่าศาลจำจะต้องลดโทษให้บุคคลประเภทนี้เสมอไปไม่ สำหรับจำเลยนี้ศาลได้พิจารณาโดยตระหนักแล้ว เห็นว่าไม่สมควรลดโทษลงอีก เมื่อจำเลยต้องจำคุกดังนี้แล้วปัญหามีต่อไปว่า ควรจะเปลี่ยนโทษจำเลยเป็นกักขังในสถานที่ ๆ มิใช่เรื่อนจำหรือส่งตัวไปยังโรงเรียนหรือสถานฝึกและอบรม ตามพระราชบัญญัติจัดตั้งศาลคดีเด็กและเยาวชน พ.ศ. 2494 มาตรา 31 หรือไม่ ข้อนี้เห็นว่า แม้จะส่งตัวจำเลยไปกักขังไว้ในสถานที่ ๆ ไม่ใช่เรือนจำหรือส่งตัวจำเลยไปฝึกและอบรม กฎหมายก็อนุญาตให้ใช้วิธีการพิเศษดังว่านี้ได้จนถึงเวลาที่เยาวชนมีอายุครบ 24 ปี บริบูรณ์เท่านั้น แต่ในคดีนี้ปรากฏว่าจำเลยมีอายุถึงปีที่ 18 และศาลพิพากษาให้จำคุกถึง12 ปี แม้จะให้ใช้วิธีการพิเศษแก่จำเลยดังกล่าวข้างต้นก็จะใช้ได้เพียง 6 ปี ในที่สุดก็จะต้องส่งตัวจำเลยไปจำคุกไว้อีก 6 ปี ตามมาตรา 31 วรรคสุดท้ายของพระราชบัญญัติจัดตั้งศาลคดีเด็กและเยาวชนอยู่นั่นเอง เมื่อเป็นเช่นนี้จึงเห็นควรให้จำคุกจำเลยโดยไม่ใช้วิธีการพิเศษ จึงพร้อมกันพิพากษายืนตามศาลอุทธรณ์ให้ยกฎีกาของจำเลยเสีย