คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 145/2496

แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา

ย่อสั้น

เบี้ยปรับกำหนดไว้สูงเกินส่วนศาลอาจลดลงเป็นจำนวนพอสมควรก็ได้

ย่อยาว

โจทก์ฟ้องมีใจความว่า โจทก์จำเลยต่างมีอาชีพรับเหมาก่อสร้างด้วยกันจำเลยเป็นผู้ได้รับเหมาซ่อมแซมก่อสร้างเขื่อนและบันไดท่าน้ำที่ย่านสถานีรถไฟธนบุรี ตำบลบางกอกน้อย จังหวัดธนบุรีของกรมรถไฟบางส่วนที่พังลงให้ดีดังเดิมแล้วจำเลยได้แยกงานจ้างเหมาโจทก์ทำแทนบางส่วนตามแผนผังท้ายฟ้อง เพื่อให้กิจการลุล่วงไป โจทก์จำเลยได้ทำสัญญาจ้างเหมากันแต่ละรายการตามที่ตกลงกันขึ้นไว้ ดังแจ้งอยู่ในสำเนาสัญญาหมายเลข 2, 4, 5, 6, 7, 8 และ 9 ท้ายฟ้องนั้นแล้ว ต่อมาโจทก์ได้เข้าปฏิบัติงานตามสัญญา เฉพาะสัญญาหมายเลข 2 จำเลยไม่จ่ายเครื่องก่อสร้างให้โจทก์ตามที่ตกลงในข้อสัญญา กระทำให้โจทก์ไม่มีทางปฏิบัติงานให้ลุล่วงไปตามเงื่อนไขได้ เฉพาะสัญญาหมายเลข 5 และ 9 โจทก์ได้ทำงานเสร็จเรียบร้อยแล้ว เฉพาะสัญญาหมายเลข 4, 6, 7 และ 8 โจทก์ทำงานยังไม่เสร็จทุกงวด ทั้งนี้เนื่องจากจำเลยสั่งให้โจทก์ทำงานสับงวดกัน และงานงวดที่โจทก์ทำเสร็จไปแล้วจำเลยก็ได้รับเงินมาจากกรมรถไฟแล้ว แต่หาจ่ายให้โจทก์ไม่ โจทก์จึงถือว่าจำเลยเป็นฝ่ายผิดสัญญา ซึ่งจะต้องชดใช้เงินให้โจทก์ตามสัญญาทุกฉบับพร้อมทั้งเงินประกันด้วย จึงขอให้ศาลบังคับจำเลยใช้เงิน 244,789 บาท 47 สตางค์ พร้อมทั้งดอกเบี้ยให้แก่โจทก์

จำเลยให้การต่อสู้และฟ้องแย้งมีใจความว่า จำเลยได้ทำสัญญาจ้างเหมาโจทก์ตามสำเนาสัญญาท้ายฟ้องหมายเลข 2, 4, 5, 6, 7, 8 และ 9 จริง แต่โจทก์ทำงานไม่เสร็จเรียบร้อยและใช้การไม่ได้ตามข้อสัญญาแล้วทิ้งงานไปโจทก์จึงเป็นฝ่ายผิดสัญญา จำเลยไม่ต้องจ่ายเงินให้โจทก์และมีสิทธิริบงานและเงินที่วางประกันไว้นั้นตามข้อสัญญาด้วย ส่วนเงินที่โจทก์ควรจะได้รับตามสัญญาหมายเลข 4 และ 7 ที่จำเลยไม่จ่ายให้โจทก์นั้น เนื่องจากโจทก์ผิดสัญญาหมายเลข 2 และจะต้องถูกปรับตามสัญญามากกว่า จำเลยได้ยึดเงินรายนี้ไว้เพื่อคิดหักกัน ตามสัญญาหมายเลข 2 โจทก์จะต้องทำงานให้เสร็จภายใน 90 วัน แต่โจทก์ทำไม่แล้วเสร็จตามกำหนดจนถึงวันที่ 13 เมษายน 2492ก็ทิ้งงานไป รวมเวลาที่เกินกำหนดในสัญญาไป 262 วัน ซึ่งโจทก์จะต้องเสียค่าปรับตามสัญญาข้อ 3 วันละ 400 บาท รวมเป็นเงิน 104,800 บาท เมื่อหักเงินที่โจทก์ฟ้องเรียกตามสัญญาหมายเลข 4 และ 7 ออกแล้วโจทก์ยังต้องเสียค่าปรับให้จำเลยเป็นเงิน 72,211 บาท 38 สตางค์จึงขอให้ศาลบังคับโจทก์ใช้เงินจำนวนนี้พร้อมทั้งดอกเบี้ยให้จำเลยด้วย

โจทก์ให้การแก้ฟ้องแย้งว่า โจทก์มิได้เป็นฝ่ายผิดสัญญาหมายเลข2 โจทก์เรียกร้องให้จำเลยจ่ายสิ่งของตามสัญญา จำเลยก็เพิกเฉยเสียไม่จ่ายให้ โจทก์จึงไม่สามารถปฏิบัติการให้เป็นไปตามสัญญาได้วันรับมอบสถานที่ตามสัญญาก็คือเมื่อผู้จ้างได้จ่ายของให้ครบถ้วนแล้ว จะนับเอาวันที่ 27 เมษายน 2491 เป็นวันเริ่มต้นไม่ได้ โจทก์ยังมิได้รับมอบสิ่งของระยะกำหนดเวลาทำงานให้เสร็จภายใน 90 วัน จึงยังมิได้เริ่มต้น จำเลยเป็นฝ่ายผิดสัญญา โจทก์ไม่ต้องรับผิดใช้เงินค่าปรับให้จำเลย

ศาลแพ่งพิจารณาแล้ว วินิจฉัยว่า โจทก์ได้ทิ้งงานไปจริง แต่จำเลยได้สละกำหนดเวลาและปล่อยให้โจทก์ทำงานต่อมาอีก ต้องถือว่าสัญญาจ้างไม่มีกำหนดเวลา จะถือว่าโจทก์ผิดสัญญาไม่ได้ และจำเลยจะเรียกร้องค่าปรับจากโจทก์มิได้ พิพากษาให้จำเลยใช้เงินแก่โจทก์ตามสัญญาท้ายฟ้องหมายเลข 4 เป็นเงิน 32,308 บาท 62 สตางค์ กับให้คืนเงินประกันตามสัญญารายนี้ 7,000 บาท ตามสำเนาสัญญาหมายเลข 7 เงิน 47,280 บาท และตามสำเนาสัญญาหมายเลข 8 เงินอีก 8,848 บาท 95 สตางค์ รวมเป็นเงิน 95,437 บาท 47 สตางค์ให้โจทก์และให้จำเลยเสียดอกเบี้ยในเงินจำนวนนี้ อัตราร้อยละ 7 ครึ่งต่อปีนับแต่วันฟ้องจนกว่าจะชำระเงินเสร็จให้โจทก์ คำขออย่างอื่นของโจทก์กับฟ้องแย้งของจำเลยให้ยก

จำเลยอุทธรณ์

ศาลอุทธรณ์วินิจฉัยว่า เมื่อโจทก์ทำงานไม่เสร็จ ไม่สามารถส่งมอบได้ภายใน 90 วัน โจทก์จึงเป็นฝ่ายผิดสัญญา เหตุที่จำเลยไม่บอกเลิกสัญญาก็ดีหรือจำเลยคิดผ่อนผันจะไม่ปรับโจทก์ก็ดี ก็ไม่เป็นเหตุทำให้สัญญาจ้างรายนี้กลับเป็นสัญญาไม่มีกำหนดเวลาขึ้นได้ เพราะตามข้อสัญญา โจทก์ก็ยังมีหน้าที่จะต้องทำต่อไปให้แล้วเสร็จ มิได้ถือว่าสัญญาจ้างนั้นระงับไปแล้ว อันเป็นเหตุที่ควรจะต้องบอกเลิกสัญญา ส่วนที่จำเลยคิดจะไม่ปรับก็เป็นแต่ความรู้สึกนึกคิดของจำเลยเท่านั้น ยังมิได้เป็นข้อตกลงกันใหม่ จะยกเป็นเหตุลบล้างข้อสัญญาไม่ได้ ไม่มีทางจะฟังว่าจำเลยสละกำหนดเวลาที่ศาลชั้นต้นวินิจฉัยมาแล้วนั้นศาลอุทธรณ์ยังไม่เห็นพ้องด้วยอุทธรณ์ของจำเลยในข้อนี้ฟังขึ้น ปรากฏว่า โจทก์รับมอบสถานที่วันที่ 27 เมษายน2491 และทิ้งงานไปวันที่ 13 เมษายน 2492 รวมเวลา 352 วัน เมื่อหัก 90 วันออกเสีย โจทก์จะต้องถูกปรับ 262 วันค่าปรับวันละ 400 บาท เป็นเงิน 104,800 บาท ส่วนโจทก์คงได้รับเงินค่าจ้างและเงินประกันจากจำเลยตามสัญญาหมาย 4-7 และ 8 รวมเป็นเงิน 88,437 บาท 57 สตางค์ เมื่อหักกับจำนวนเงิน 104,800 บาทแล้วโจทก์ยังต้องชำระเงินให้จำเลยอีก 16,362 บาท 43 สตางค์ พิพากษาแก้ให้โจทก์ใช้เงินแก่จำเลย 16,362 บาท43 สตางค์กับดอกเบี้ย

โจทก์ฎีกาเฉพาะในข้อที่ศาลให้โจทก์ใช้เบี้ยปรับแก่จำเลย 104,800 บาท

ศาลฎีกาตรวจสำนวนแล้ว ได้ความว่า โจทก์จำเลยมีอาชีพในทางรับเหมาก่อสร้าง จำเลยได้เป็นผู้รับเหมาก่อสร้างและซ่อมแซมเขื่อนและบันไดย่านสถานีรถไฟธนบุรีจากกรมรถไฟ แล้วมาตกลงจ้างโจทก์ให้ทำการบางส่วนดังปรากฏในสัญญาที่ทำกันไว้ งานที่โจทก์รับจ้างจำเลยนี้มีหลายอย่างปรากฏว่าโจทก์ทำไม่เสร็จตามสัญญา ข้อแก้โจทก์ที่ว่าเหตุที่โจทก์ทำไม่เสร็จ เพราะจำเลยจ่ายสิ่งของเครื่องสำหรับทำการก่อสร้างไม่ครบถ้วน และจำเลยให้โจทก์ทำงานสับงวดนั้น ทางพิจารณาได้ความชัดว่า สิ่งของเครื่องก่อสร้างนั้นมีไว้แล้วมิได้ขาดแคลน หากโจทก์ไม่มาทำเอง ส่วนข้อที่ว่า จำเลยให้ทำงานสับงวดนั้นในสัญญาข้อ 7 ก็ระบุให้สิทธิจำเลยที่จะสั่งให้ทำอะไรก่อนได้ทั้งจำเลยก็สืบว่าไม่เคยสั่งให้โจทก์ทำอะไรก่อนข้อเถียงโจทก์จึงฟังไม่ขึ้น ส่วนข้อที่โจทก์ขอให้ลดค่าปรับนั้น พิเคราะห์เห็นว่าตามสัญญาจ้างหมายเลข 2 นี้ปรากฏในข้อ 1 ว่า จำเลยได้จ้างโจทก์เป็นเงิน 30,000 บาท และตามข้อ 3 มีว่า ถ้าผู้รับจ้างทำงานช้าเกินกว่าที่กำหนด (90) วัน ผู้รับจ้างยอมให้ผู้จ้างปรับวันละ400 บาท จนกว่าจะเสร็จงาน และคดีได้ความว่า โจทก์ผิดสัญญา 262 วันและจะต้องถูกปรับตามสัญญาเป็นจำนวนถึง 104,800 บาท ซึ่งเห็นได้ว่าเป็นเบี้ยปรับสูงเกินส่วน จึงเห็นควรให้ลดลงกึ่งหนึ่งตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 383 คงเป็นค่าปรับ 52,400 บาทเมื่อหักกับจำนวนเงินที่โจทก์จะได้ 88,437.57 บาทแล้ว จำเลยคงต้องใช้เงินแก่โจทก์ 36,037.57 บาท

เหตุนี้จึงพิพากษาแก้ให้จำเลยใช้เงินโจทก์ 36,037.57 บาทกับดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 7 ครึ่งต่อปี แต่วันฟังคำพิพากษานี้จนกว่าจะใช้เสร็จค่าธรรมเนียมเป็นพับ

Share