คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 6428/2546

แหล่งที่มา : เนติบัณฑิตยสภา

ย่อสั้น

โจทก์ครอบครองที่ดินประมาณ 700 ไร่ เมื่อทางราชการออกหนังสือรับรองการทำประโยชน์โดยกำหนดให้ผู้ครอบครองขอออกหนังสือรับรองการทำประโยชน์ได้ไม่เกินคนละ 50 ไร่ โจทก์ได้ขอออกหนังสือรับรองการทำประโยชน์ในชื่อโจทก์ ภริยาโจทก์และบุตรโจทก์อีก 6 คน แล้ว ยังเหลืออีกประมาณ 100 ไร่ โจทก์จึงให้จำเลยที่ 1 และที่ 2 ขอออกหนังสือรับรองการทำประโยชน์ที่ดินดังกล่าวในชื่อจำเลยที่ 1 และที่ 2 คนละแปลง โดยตกลงว่า จะโอนคืนแก่โจทก์ในภายหลัง ดังนี้ ที่ดินทั้งสองแปลงจึงเป็นที่ดินส่วนที่โจทก์ไม่อาจขอให้ทางราชการออกหนังสือรับรองการทำประโยชน์ได้ตามกฎหมายการที่โจทก์สมคบกับจำเลยที่ 1 และที่ 2 ขอให้ทางราชการออกหนังสือรับรองการทำประโยชน์ จึงเป็นการหลีกเลี่ยงเงื่อนไขของกฎหมาย อันเป็นการใช้สิทธิโดยไม่สุจริต โจทก์จึงไม่มีอำนาจฟ้องขอให้บังคับจำเลยที่ 1 และที่ 2 โอนที่ดินทั้งสองแปลงแก่โจทก์

ย่อยาว

โจทก์ฟ้องว่า โจทก์ครอบครองทำประโยชน์ในที่ดินมือเปล่าโดยสงบเปิดเผยเจตนาเป็นเจ้าของ เนื้อที่ประมาณ 700 ไร่ ตั้งอยู่หมู่ที่ 19 ตำบลบ้านไร่ อำเภอลาดยาว จังหวัดนครสวรรค์ โดยไม่ได้แจ้งการครอบครอง ต่อมาปี 2520 ทางราชการเดินสำรวจออกหนังสือรับรองทำประโยชน์โดยใช้ภาพถ่ายทางอากาศให้แก่ราษฎรผู้ครอบครองที่ดินที่ยังไม่มีเอกสารสิทธิในเขตท้องที่อำเภอลาดยาว จังหวัดนครสวรรค์ โจทก์ไม่อาจขอออกหนังสือรับรองการทำประโยชน์สำหรับที่ดินที่โจทก์ครอบครองได้หมด จึงขอออกหนังสือรับรองการทำประโยชน์เป็นชื่อบุตรโจทก์ที่บรรลุนิติภาวะแล้ว และให้จำเลยที่ 1 และที่ 2 เป็นผู้แจ้งการครอบครองที่ดินและขอออกหนังสือรับรองการทำประโยชน์ในที่ดินของโจทก์จำนวน 2 แปลงแทนโจทก์ คือที่ดินตามหนังสือรับรองการทำประโยชน์ (น.ส.3 ก.) เลขที่ 3062 และเลขที่ 3064 โจทก์กับจำเลยที่ 1 และที่ 2 ตกลงกันว่า จำเลยที่ 1 และที่ 2 เป็นเพียงตัวแทนของโจทก์ในการออกหนังสือรับรองการทำประโยชน์ดังกล่าว ไม่มีสิทธิในที่ดินทั้งสองแปลง และหากโจทก์ประสงค์จะให้จำเลยที่ 1 และที่ 2 โอนหนังสือรับรองการทำประโยชน์ของที่ดินทั้งสองแปลง จำเลยที่ 1 และที่ 2 ก็พร้อมจะโอนให้แก่โจทก์โดยไม่อิดเอื้อน แต่โจทก์เป็นผู้เก็บรักษาหนังสือรับรองการทำประโยชน์และเป็นผู้ครอบครองทำประโยชน์ในที่ดินทั้งสองแปลงดังกล่าวตลอดมา ต่อมาวันที่ 10 พฤศจิกายน 2536 จำเลยที่ 1 และที่ 2 มีเจตนาทุจริตขอออกใบแทนหนังสือรับรองการทำประโยชน์ และในวันที่ 19 พฤษภาคม 2537 จำเลยที่ 1 และที่ 2 สมคบกับจำเลยที่ 3 จดทะเบียนโอนที่ดินตามหนังสือรับรองการทำประโยชน์ทั้งสองแปลงดังกล่าวให้แก่จำเลยที่ 3 โดยไม่สุจริต ทำให้โจทก์ได้รับความเสียหาย ขอให้พิพากษาว่าที่ดินตามหนังสือรับรองการทำประโยชน์ (น.ส.3 ก.) เลขที่ 3062 และเลขที่ 3064 ตำบลบ้านไร่ อำเภอลาดยาวจังหวัดนครสวรรค์ เป็นของโจทก์และเพิกถอนนิติกรรมการซื้อขายที่ดินดังกล่าวระหว่างจำเลยที่ 1 และที่ 2 กับจำเลยที่ 3 ให้จำเลยที่ 1 และที่ 2 โอนที่ดินตามหนังสือรับรองการทำประโยชน์ทั้งสองแปลงคืนแก่โจทก์ หากไม่ปฏิบัติตามให้ถือเอาคำพิพากษาเป็นการแสดงเจตนาแทน

จำเลยที่ 1 และที่ 2 ให้การว่า จำเลยที่ 1 และที่ 2 ไม่ได้เป็นตัวแทนของโจทก์ในการยื่นคำขอออกหนังสือรับรองการทำประโยชน์ (น.ส.3 ก.) จำเลยที่ 1 และที่ 2 ซื้อที่ดินทั้งสองแปลงจากโจทก์ตั้งแต่ปี 2519 ต่อมาจำเลยที่ 1 และที่ 2 ยื่นคำขอออกหนังสือรับรองการทำประโยชน์ที่ดินทั้งสองแปลงและครอบครองทำประโยชน์ในที่ดินทั้งสองแปลงตลอดมา จำเลยที่ 1 และที่ 2 ขายที่ดินทั้งสองแปลงแก่จำเลยที่ 3 โดยสุจริต มีค่าตอบแทนและจดทะเบียนต่อพนักงานเจ้าหน้าที่ ขอให้ยกฟ้อง

จำเลยที่ 3 ให้การว่า เมื่อประมาณปี 2517 โจทก์เป็นหนี้จำเลยที่ 1 และที่ 2 จำนวน 20,000 บาท จึงขายที่ดินทั้งสองแปลงและส่งมอบการครอบครองให้แก่จำเลยที่ 1 และที่ 2 ต่อมาจำเลยที่ 1 และที่ 2 นำที่ดินพิพาททั้งสองแปลงไปขอออกหนังสือรับรองการทำประโยชน์ เมื่อทางราชการออกหนังสือสำคัญเป็นชื่อของจำเลยที่ 1 และที่ 2 แล้ว จำเลยที่ 1 และที่ 2 ก็ครอบครองทำประโยชน์ในฐานะเป็นเจ้าของตลอดมา จำเลยที่ 3 ซื้อที่ดินพิพาททั้งสองแปลงโดยสุจริต เสียค่าตอบแทนและจดทะเบียนโดยสุจริตและเข้าครอบครองทำประโยชน์ในที่ดินพิพาททั้งสองแปลงต่อเนื่องจากเจ้าของเดิมตลอดมา ขอให้ยกฟ้อง

ระหว่างพิจารณาโจทก์ถึงแก่กรรม นางวรรณ จันทร์สาร ทายาทของโจทก์ยื่นคำร้องขอเข้าเป็นคู่ความแทน ศาลชั้นต้นอนุญาต

ศาลชั้นต้นพิพากษาว่า ที่ดินตามหนังสือรับรองการทำประโยชน์ (น.ส.3 ก.) เลขที่ 3062 และเลขที่ 3064 ตำบลบ้านไร่ อำเภอลาดยาว จังหวัดนครสวรรค์ เป็นของโจทก์ ให้เพิกถอนนิติกรรมการซื้อขายที่ดินระหว่างจำเลยที่ 1 และที่ 2 กับจำเลยที่ 3 และให้จำเลยที่ 1 และที่ 2 จดทะเบียนโอนที่ดินตามหนังสือรับรองการทำประโยชน์ (น.ส.3 ก.) เลขที่ 3062 และเลขที่ 3064 ตำบลบ้านไร่ อำเภอลาดยาว จังหวัดนครสวรรค์แก่โจทก์ หากไม่ปฏิบัติตามให้ถือเอาคำพิพากษาเป็นการแสดงเจตนาแทน

จำเลยทั้งสามอุทธรณ์

ศาลอุทธรณ์ภาค 6 พิพากษากลับ ให้ยกฟ้อง

โจทก์ฎีกา

ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า “ข้อเท็จจริงรับฟังได้ในเบื้องต้นว่าที่ดินพิพาททั้งสองแปลงตามหนังสือรับรองการทำประโยชน์ (น.ส.3 ก.) เลขที่ 3062 และเลขที่ 3064 ตั้งอยู่ที่หมู่ที่ 19ตำบลบ้านไร่ อำเภอลาดยาว จังหวัดนครสวรรค์ มีชื่อจำเลยที่ 1 และที่ 2 ตามลำดับ เป็นผู้ครอบครองทำประโยชน์ ต่อมาจำเลยที่ 1 และที่ 2 จดทะเบียนโอนขายที่ดินทั้งสองแปลงดังกล่าวให้แก่จำเลยที่ 3 มีปัญหาวินิจฉัยตามฎีกาของโจทก์ว่า โจทก์มีอำนาจฟ้องจำเลยทั้งสามเป็นคดีนี้หรือไม่ เห็นว่า โจทก์บรรยายฟ้องและนำสืบว่าโจทก์ครอบครองทำประโยชน์ในที่ดินหมู่ที่ 19 ตำบลบ้านไร่ อำเภอลาดยาว จังหวัดนครสวรรค์ เนื้อที่ประมาณ 700 ไร่ เป็นเวลาประมาณ 2 ปีแล้ว ต่อมาเมื่อประมาณปี 2521 ทางราชการได้ออกหลักฐานหนังสือรับรองการทำประโยชน์ซึ่งเป็นการเดินสำรวจออกหนังสือรับรองการทำประโยชน์ทั้งตำบลโดยกำหนดให้ผู้ครอบครองที่ดินขอออกหนังสือรับรองการทำประโยชน์ได้ไม่เกินคนละ 50 ไร่ โจทก์ขอออกหนังสือรับรองการทำประโยชน์ในชื่อโจทก์ภริยาโจทก์ และบุตรโจทก์ที่บรรลุนิติภาวะอีก 6 คน แล้ว ยังเหลือที่ดินอีกประมาณ 100 ไร่ โจทก์จึงให้จำเลยที่ 1 และที่ 2 ขอออกหนังสือรับรองการทำประโยชน์ที่ดินดังกล่าวในชื่อจำเลยที่ 1 และที่ 2 คนละแปลง คือที่ดินพิพาททั้งสองแปลงโดยตกลงว่าจำเลยที่ 1 และที่ 2 จะโอนคืนที่ดินพิพาททั้งสองแปลงแก่โจทก์ในภายหลัง ดังนี้ ที่ดินพิพาททั้งสองแปลงจึงเป็นที่ดินส่วนที่โจทก์ไม่อาจขอให้ทางราชการออกหนังสือรับรองการทำประโยชน์ใส่ชื่อโจทก์ได้ตามกฎหมาย การที่โจทก์สมคบกับจำเลยที่ 1 และที่ 2 ขอให้ทางราชการออกหนังสือรับรองการทำประโยชน์แก่จำเลยที่ 1 และที่ 2 แทนโจทก์ จึงเป็นการหลีกเลี่ยงเงื่อนไขของกฎหมายเพื่อให้ได้มาซึ่งเอกสารสิทธิในที่ดิน อันเป็นการใช้สิทธิโดยไม่สุจริต โจทก์จึงไม่มีอำนาจฟ้องขอให้บังคับจำเลยที่ 1 และที่ 2 โอนชื่อตามหนังสือรับรองการทำประโยชน์ในที่ดินพิพาททั้งสองแปลงแก่โจทก์ คำพิพากษาศาลอุทธรณ์ภาค 6 ชอบแล้ว ฎีกาของโจทก์ข้อนี้ฟังไม่ขึ้น คดีไม่จำต้องวินิจฉัยฎีกาของโจทก์ข้ออื่นต่อไปอีก”

พิพากษายืน

Share