คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 5692/2546

แหล่งที่มา : เนติบัณฑิตยสภา

ย่อสั้น

จำเลยเช่าที่ดินจากโจทก์เพื่อก่อสร้างโครงเหล็กติดตั้งป้ายโฆษณา เมื่อสัญญาเช่าที่ดินเลิกกันแล้วจำเลยมีหน้าที่ต้องส่งคืนที่ดินให้แก่โจทก์ในสภาพที่ได้รับมาตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 561 คือต้องรื้อถอนสิ่งปลูกสร้างทั้งหมดซึ่งรวมถึงเสาเข็มของจำเลยออกไปจากที่ดินที่เช่าด้วย เพราะจำเลยเป็นผู้ปลูกสร้างโดยอาศัยสิทธิตามสัญญาเช่า จึงไม่ถือว่าเป็นส่วนควบกับที่ดินตามมาตรา 146
เมื่อสัญญาเช่าเลิกกันแล้วการที่จำเลยไม่รื้อถอนสิ่งปลูกสร้างของจำเลยออกจากที่ดินเช่าและส่งมอบที่ดินเช่าคืนโจทก์ในสภาพที่จำเลยได้รับมา ย่อมทำให้โจทก์เสียหายเพราะไม่สามารถใช้ประโยชน์ในที่ดินที่เช่าได้ โจทก์จึงมีสิทธิเรียกค่าเสียหายจากจำเลย
จำเลยอุทธรณ์และฎีกาขอให้ยกฟ้องในเรื่องค่าเสียหายที่ศาลชั้นต้นพิพากษาให้จำเลยชดใช้แก่โจทก์เดือนละ 10,000 บาท นับแต่วันที่ 6 มิถุนายน 2541 ถึงวันฟ้องวันที่ 12 มกราคม 2542 เป็นเงินรวม 71,999.98 บาท ซึ่งถือเป็นทุนทรัพย์ในชั้นอุทธรณ์และชั้นฎีกา ส่วนค่าเสียหายที่ศาลชั้นต้นพิพากษาให้จำเลยชำระแก่โจทก์นับแต่วันหลังจากวันฟ้องต่อไปอีกเดือนละ 10,000 บาท แต่รวมค่าเสียหายทั้งหมดแล้วไม่ให้เกิน20 เดือนนั้น เป็นค่าเสียหายในอนาคตจึงนำมารวมคำนวณเป็นทุนทรัพย์ในอุทธรณ์และชั้นฎีกาไม่ได้ ดังนั้นจำเลยต้องเสียค่าขึ้นศาลในชั้นอุทธรณ์และฎีกาตามทุนทรัพย์ดังกล่าวเป็นเงินแต่ละชั้นศาลจำนวน 1,800 บาท
โจทก์ฟ้องขอให้จำเลยรื้อถอนสิ่งปลูกสร้างออกไปจากที่ดินของโจทก์และเรียกค่าเสียหายมาด้วยจึงเป็นคดีมีคำขอให้ปลดเปลื้องทุกข์อันไม่อาจคำนวณเป็นราคาเงินได้และอาจคำนวณเป็นราคาเงินได้รวมอยู่ด้วยกัน การกำหนดค่าทนายความใช้แทนให้แก่ผู้ชนะคดีต้องถือเอาค่าทนายความในอัตราชั้นสูงกว่าตามตาราง 6 ท้ายประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่งเป็นหลัก เมื่อปรากฏว่าทุนทรัพย์ในชั้นอุทธรณ์เป็นเงิน 71,999.98 บาท เกินกว่า 25,000 บาท ซึ่งมีค่าทนายความอัตราขั้นสูงในศาลอุทธรณ์เป็นเงินร้อยละ 3 ของทุนทรัพย์ในชั้นอุทธรณ์คือเป็นเงินไม่เกิน 2,159.97บาท แต่สำหรับคดีไม่มีทุนทรัพย์กำหนดค่าทนายความในอัตราขั้นสูงในศาลอุทธรณ์ไม่เกิน 1,500 บาท จึงต้องถือเอาอัตราค่าทนายความในคดีที่มีทุนทรัพย์ซึ่งมีอัตราสูงกว่าใช้บังคับ

ย่อยาว

โจทก์ฟ้องว่า เมื่อวันที่ 4 พฤศจิกายน 2537 จำเลยทำสัญญาเช่าที่ดินของโจทก์ตามโฉนดเลขที่ 18057 เนื้อที่ 100 ตารางวา กำหนดเวลาเช่า 5 ปี นับแต่วันที่ 4กุมภาพันธ์ 2538 ตกลงให้ค่าเช่าปีละ 120,000 บาท เพื่อก่อสร้างติดตั้งโครงเหล็กให้บุคคลภายนอกเช่าติดตั้งป้ายโฆษณาสินค้า ต่อมาวันที่ 6 มิถุนายน 2541 จำเลยมีหนังสือแจ้งขอเลิกสัญญาเช่าที่ดินกับโจทก์ แต่จำเลยไม่รื้อถอนสิ่งปลูกสร้างซึ่งเป็นกรรมสิทธิ์ของจำเลยออกจากที่ดิน และไม่ส่งมอบที่ดินคืนโจทก์ ทำให้โจทก์เสียหายไม่สามารถนำที่ดินออกให้บุคคลภายนอกเช่าเพราะมีสิ่งปลูกสร้างของจำเลยอยู่ในที่ดินของโจทก์ โจทก์คิดค่าเสียหายเป็นเงินเดือนละ 10,000 บาท นับแต่วันที่ 5 กุมภาพันธ์2541 ถึงวันฟ้องเป็นเงินรวม 110,000 บาท ขอให้บังคับจำเลยขนย้ายและรื้อถอนทรัพย์สินสิ่งปลูกสร้าง เสาเข็ม ฐานตอม่อและโครงเหล็กออกจากที่ดินของโจทก์และส่งมอบที่ดินคืนโจทก์ในสภาพเรียบร้อย ห้ามจำเลยเข้าเกี่ยวข้องกับที่ดินของโจทก์ ให้จำเลยใช้ค่าเสียหายแก่โจทก์เป็นเงิน 110,000 บาท พร้อมดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 7.5 ต่อปี ของต้นเงินดังกล่าวนับแต่วันฟ้องจนกว่าจำเลยจะชำระเสร็จ กับใช้ค่าเสียหายแก่โจทก์เดือนละ 10,000 บาท นับแต่วันถัดจากวันฟ้องจนกว่าจำเลยจะขนย้ายและรื้อถอนทรัพย์สินสิ่งปลูกสร้างออกจากที่ดินของโจทก์

จำเลยให้การว่า จำเลยทำสัญญาเช่าที่ดินของโจทก์เพื่อก่อสร้างโครงเหล็กสำหรับติดตั้งป้ายโฆษณา ต่อมามีอาคารตึกแถวสร้างขึ้นปิดบังป้ายโฆษณาของจำเลยจำเลยจึงใช้สิทธิตามสัญญาเช่าบอกเลิกสัญญาเช่าที่ดินแก่โจทก์ และขอรื้อถอนสิ่งปลูกสร้างของจำเลยออกจากที่ดินของโจทก์ แต่โจทก์กำหนดเงื่อนไขให้จำเลยต้องรื้อถอนฐานตอม่อและเสาเข็มออกจากที่ดินของโจทก์ทั้งหมดพร้อมปรับสภาพที่ดินให้เป็นไปตามเดิม ซึ่งจำเลยไม่สามารถทำได้เพราะเสาเข็มมีความลึกลงไปในดินประมาณ 6 เมตร และมีจำนวนมาก การรื้อถอนต้องเสียค่าใช้จ่ายจำนวนมาก การที่จำเลยไม่รื้อถอนสิ่งปลูกสร้างออกจากที่ดินของโจทก์เป็นเพราะโจทก์ไม่อนุญาต โจทก์ไม่มีสิทธิเรียกค่าเสียหายตามฟ้อง หากจำเลยต้องรับผิดก็เป็นเวลาเพียง 4 เดือน นับแต่วันที่ 5กุมภาพันธ์ 2541 ขอให้ยกฟ้อง

ศาลชั้นต้นพิพากษาให้จำเลยขนย้ายทรัพย์สินและสิ่งปลูกสร้างที่เป็นของจำเลยตามสัญญาออกไปจากที่ดินโฉนดเลขที่ 18057 ตำบลบางแม่นาง (บางใหญ่) อำเภอบางใหญ่ (บางบัวทอง) จังหวัดนนทบุรี โดยปรับสภาพที่ดินของโจทก์ให้อยู่ในสภาพเดิมโดยไม่ต้องรื้อถอนเสาเข็มใต้ดิน ให้จำเลยใช้ค่าเสียหายแก่โจทก์เดือนละ 10,000 บาทนับแต่วันที่ 6 มิถุนายน 2541 เป็นต้นไป จนกว่าจำเลยจะขนย้ายทรัพย์สินและส่งมอบที่ดินคืนโจทก์ แต่ทั้งนี้เป็นระยะเวลาไม่เกิน 20 เดือน ให้จำเลยใช้ค่าฤชาธรรมเนียมแทนโจทก์โดยกำหนดค่าทนายความ 5,000 บาท คำขออื่น นอกจากนี้ให้ยก

จำเลยอุทธรณ์

ศาลอุทธรณ์ภาค 1 พิพากษายืน ให้จำเลยใช้ค่าทนายความชั้นอุทธรณ์แทนโจทก์ 3,000 บาท

จำเลยฎีกา โดยผู้พิพากษาที่ได้นั่งพิจารณาคดีในศาลชั้นต้นรับรองว่ามีเหตุสมควรที่จะฎีกาในข้อเท็จจริงได้

ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า “ข้อเท็จจริงรับฟังได้เป็นยุติว่า จำเลยทำสัญญาเช่าที่ดินตามโฉนดเลขที่ 18057 ตำบลบางแม่นาง (บางใหญ่) อำเภอบางใหญ่ (บางบัวทอง) จังหวัดนนทบุรี เนื้อที่ 100 ตารางวา กับโจทก์ กำหนดเวลาเช่า 5 ปี นับแต่วันที่ 4 กุมภาพันธ์2538 ตกลงให้ค่าเช่าปีละ 120,000 บาท ตามสัญญาเช่าเอกสารหมาย จ.3 (และ ล.2)ต่อมาวันที่ 6 มิถุนายน 2541 จำเลยมีหนังสือถึงโจทก์ขอบอกเลิกสัญญาเช่าตั้งแต่วันดังกล่าวเป็นต้นไปตามเอกสารหมาย จ.4 และในวันที่ 8 มิถุนายน 2541 จำเลยมีหนังสือถึงโจทก์ยืนยันการบอกเลิกการเช่าและขอรื้อถอนสิ่งปลูกสร้างของจำเลยในที่ดินที่เช่าตามหนังสือเอกสารหมาย จ.5 (และ ล.5) วันที่ 12 มิถุนายน 2541 โจทก์มีหนังสือถึงจำเลยแจ้งว่า โจทก์ไม่ขัดข้องที่จำเลยบอกเลิกการเช่าและให้จำเลยรีบดำเนินการรื้อถอนสิ่งปลูกสร้างออกจากที่ดินที่เช่า ตามหนังสือเอกสารหมาย จ.6 (และ ล.6) แต่จำเลยไม่รื้อถอนสิ่งปลูกสร้างของจำเลยออกจากที่ดินที่เช่า โจทก์จึงฟ้องคดีนี้ สิ่งปลูกสร้างของจำเลยในที่ดินที่เช่าเป็นโครงเหล็กสำหรับติดตั้งป้ายโฆษณาลักษณะตามภาพถ่ายหมาย ล.1

คดีมีปัญหาวินิจฉัยตามฎีกาของจำเลยประการแรกว่า การที่จำเลยไม่รื้อถอนสิ่งปลูกสร้างของจำเลยซึ่งเป็นโครงเหล็กสำหรับติดตั้งป้ายโฆษณาออกจากที่ดินที่เช่าเกิดจากโจทก์ไม่ยินยอมหรือไม่ เห็นว่า เมื่อจำเลยมีหนังสือถึงโจทก์ยืนยันการบอกเลิกการเช่าและขอรื้อถอนสิ่งปลูกสร้างของจำเลยออกจากที่เช่าในวันที่ 8 มิถุนายน 2541ตามหนังสือเอกสารหมาย จ.5 (และ ล.5) โจทก์ก็ได้มีหนังสือถึงจำเลยในวันที่ 12มิถุนายน 2541 ตามเอกสารหมาย จ.6 (และ ล.6) แจ้งว่า โจทก์ไม่ขัดข้องที่จำเลยบอกเลิกการเช่า ทั้งยังแจ้งให้จำเลยรีบดำเนินการรื้อถอนสิ่งปลูกสร้างของจำเลยออกจากที่ดินที่เช่าโดยเร็วอีกด้วย แสดงว่าโจทก์ยินยอมให้จำเลยรื้อถอนสิ่งปลูกสร้างของจำเลยออกไปจากที่ดินที่เช่า สำหรับฐานตอม่อและเสาเข็มที่โจทก์แจ้งในหนังสือเอกสารหมาย จ.6 (และ ล.6) ให้จำเลยรื้อถอนไปด้วยนั้นเป็นทรัพย์สินของจำเลย ซึ่งสัญญาเช่าเอกสารหมาย จ.3 (และ ล.2) ข้อ 5 ระบุว่า “ทรัพย์สินใด ๆ ที่ได้ปลูกสร้างและติดตั้งในสถานที่เช่านี้อันเกิดจากการเช่าเป็นกรรมสิทธิ์ของผู้เช่า และเมื่อครบกำหนดสัญญาเช่า ผู้เช่ามีสิทธิรื้อถอนคืนไปได้ทั้งสิ้น…” การที่โจทก์แจ้งให้จำเลยรื้อถอนฐานตอม่อและเสาเข็มออกไปจากที่ดินที่เช่าด้วย จึงเป็นการรับรองสิทธิของจำเลยตามข้อสัญญาดังกล่าว หาใช่เป็นการขัดขวางไม่ยินยอมให้จำเลยรื้อถอนสิ่งปลูกสร้างของจำเลยออกจากที่ดินที่เช่าไม่ อีกทั้งสิ่งปลูกสร้างดังกล่าวมีลักษณะเป็นโครงเหล็ก ซึ่งในการรื้อถอนย่อมต้องรื้อถอนส่วนที่อยู่บนสุดก่อน แล้วจึงรื้อถอนส่วนที่อยู่ถัดลงมาข้างล่างเรื่อยมาจนถึงส่วนที่อยู่บนพื้นดิน ดังนั้นไม่ว่าจำเลยจะต้องรื้อถอนฐานตอม่อและเสาเข็มออกจากที่ดินหรือไม่ก็ไม่มีเหตุผลใดที่โจทก์จะขัดขวาง มิให้จำเลยรื้อถอนสิ่งปลูกสร้างส่วนที่เป็นโครงเหล็กดังกล่าว ที่จำเลยอ้างว่าจำเลยได้แจ้งต่อเจ้าพนักงานตำรวจว่า โจทก์ไม่ยินยอมให้จำเลยเข้าไปรื้อถอนสิ่งปลูกสร้างของจำเลยออกจากที่ดินที่เช่าตามรายงานประจำวันรับแจ้งเหตุเป็นหลักฐานเอกสารหมาย ล.3 นั้น ปรากฏตามเอกสารว่า จำเลยแจ้งต่อเจ้าพนักงานตำรวจเมื่อวันที่ 6 มิถุนายน 2541 ซึ่งเป็นวันก่อนวันที่จำเลยมีหนังสือถึงโจทก์ยืนยันการบอกเลิกการเช่าและขอรื้อถอนสิ่งปลูกสร้างของจำเลยออกจากที่ดินที่เช่าเมื่อวันที่ 8 มิถุนายน 2541 ตามเอกสารหมาย จ.5 (และ ล.5)และขัดกับข้อเท็จจริงตามที่นายเสมียน ยามาตย พยานจำเลยเบิกความว่า เมื่อวันที่25 มิถุนายน 2541 จำเลยสั่งพยานให้นำรถยนต์ไปบรรทุกโครงเหล็กออกจากที่ดินที่เช่าเพราะเมื่อโจทก์ขัดขวางหรือไม่ยินยอมให้จำเลยรื้อถอนสิ่งปลูกสร้างของจำเลยออกจากที่ดินที่เช่าแล้วก็ไม่มีเหตุที่จำเลยจะสั่งการดังกล่าวพยานหลักฐานของจำเลยขัดแย้งกันและขัดต่อเหตุผล ข้อเท็จจริงฟังไม่ได้ว่าโจทก์ไม่ยินยอมให้จำเลยรื้อถอนสิ่งปลูกสร้างของจำเลยออกจากที่ดินที่เช่า

ที่จำเลยฎีกาว่า คำพิพากษาศาลชั้นต้นที่ให้จำเลยรื้อถอนสิ่งปลูกสร้าง (ตอม่อและโครงเหล็ก) ของจำเลยออกจากที่ดินที่เช่าขัดกับคำวินิจฉัยของศาลชั้นต้นเองที่วินิจฉัยว่า การรื้อถอนสิ่งปลูกสร้าง (เสาเข็ม) ของจำเลยออกจากที่ดินที่เช่าเป็นสิทธิของจำเลยตามสัญญาเช่า ซึ่งจำเลยจะใช้สิทธิดังกล่าวหรือไม่ก็ได้นั้น เห็นว่า ปัญหาดังกล่าวจำเลยได้ยกขึ้นอุทธรณ์แล้ว แต่ศาลอุทธรณ์ภาค 1 มิได้วินิจฉัยถึง ศาลฎีกาจึงเห็นสมควรวินิจฉัยปัญหาดังกล่าวไปโดยไม่ต้องย้อนสำนวนให้ศาลอุทธรณ์ภาค 1 วินิจฉัยอีก ตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 243(1) ประกอบมาตรา 247เมื่อสัญญาเช่าได้เลิกกัน จำเลยมีหน้าที่ต้องส่งคืนที่ดินที่เช่าให้แก่โจทก์ในสภาพที่ได้รับมาตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 561 คือต้องรื้อถอนสิ่งปลูกสร้างทั้งหมดซึ่งรวมถึงเสาเข็มของจำเลยออกไปจากที่ดินที่เช่าด้วย เพราะสิ่งปลูกสร้างดังกล่าวจำเลยเป็นผู้ปลูกสร้างในที่ดินที่เช่าโดยอาศัยสิทธิตามสัญญาเช่า จึงไม่ถือว่าเป็นส่วนควบกับที่ดินที่เช่าตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 146 อีกทั้งจำเลยให้การต่อสู้คดีว่า จำเลยไม่ได้รื้อถอนสิ่งปลูกสร้างของจำเลยออกจากที่ดินที่เช่าเพราะโจทก์ไม่ยินยอม หาได้ให้การต่อสู้คดีว่า จำเลยมีสิทธิเลือกที่จะไม่รื้อถอนสิ่งปลูกสร้างของจำเลยออกจากที่ดินที่เช่าตามสัญญาเช่าไม่ ที่ศาลชั้นต้นวินิจฉัยว่าจำเลยยืนยันไม่ประสงค์จะใช้สิทธิรื้อถอนเสาเข็ม โจทก์จึงไม่อาจบังคับจำเลยได้และพิพากษาว่าจำเลยไม่ต้องรื้อถอนเสาเข็มใต้ดินนั้นไม่ถูกต้อง แต่โจทก์ไม่ได้อุทธรณ์ฎีกาคัดค้านคำพิพากษาศาลชั้นต้นมาด้วย ศาลฎีกาจึงไม่อาจแก้ไขคำพิพากษาศาลชั้นต้นเพื่อให้บังคับคดีแก่จำเลยเพิ่มขึ้นตามคำฟ้องโจทก์ได้ ส่วนจำเลยจะยกเอาความไม่ถูกต้องในคำวินิจฉัยและคำพิพากษาของศาลชั้นต้นมาอ้างเพื่อลบล้างคำพิพากษาศาลชั้นต้นส่วนที่ถูกต้องหาได้ไม่ และกรณีถือได้ว่าจำเลยสละกรรมสิทธิ์เสาเข็มให้ตกเป็นกรรมสิทธิ์แก่โจทก์แล้ว

สำหรับฎีกาของจำเลยประการสุดท้ายที่อ้างว่าหลังจากสัญญาเลิกกันแล้วโจทก์ไม่มีสิทธิเรียกค่าเสียหายได้อีกและขอให้ลดค่าเสียหายที่จำเลยต้องชดใช้ให้แก่โจทก์นั้น เห็นว่า เมื่อสัญญาเช่าเลิกกันแล้วการที่จำเลยไม่รื้อถอนสิ่งปลูกสร้างของจำเลยออกจากที่ดินเช่า และส่งมอบที่ดินเช่าคืนโจทก์ในสภาพที่จำเลยได้รับมาย่อมทำให้โจทก์เสียหายเพราะไม่สามารถใช้ประโยชน์ในที่ดินที่เช่าได้ โจทก์จึงมีสิทธิเรียกค่าเสียหายจากจำเลย ที่ศาลชั้นต้นกำหนดให้จำเลยใช้ค่าเสียหายแก่โจทก์เป็นเงินเดือน 10,000บาท นับแต่วันที่ 6 มิถุนายน 2541 จนกว่าจำเลยจะส่งมอบที่ดินที่เช่าคืนโจทก์ แต่มีกำหนดเวลาไม่เกิน 20 เดือน นั้นเป็นคุณแก่จำเลยมากแล้ว เพราะความเสียหายของโจทก์หาได้จำกัดในระยะเวลาเพียง 20 เดือนไม่ แต่หากคงมีอยู่ตลอดเวลาที่จำเลยไม่ส่งมอบที่ดินที่เช่าคืนโจทก์ จึงไม่มีเหตุที่จะกำหนดค่าเสียหายลดลงที่ศาลอุทธรณ์ภาค 1 พิพากษามานั้นชอบแล้ว ฎีกาของจำเลยทุกข้อฟังไม่ขึ้น

อนึ่ง จำเลยอุทธรณ์และฎีกาขอให้ยกฟ้องในเรื่องค่าเสียหายที่ศาลชั้นต้นพิพากษาให้จำเลยชดใช้ค่าเสียหายแก่โจทก์เดือนละ 10,000 บาท นับแต่วันที่ 6 มิถุนายน 2541ถึงวันฟ้องวันที่ 12 มกราคม 2542 เป็นเวลา 7 เดือน 6 วัน เป็นเงินรวม 71,999.98บาท ซึ่งถือเป็นทุนทรัพย์ในชั้นอุทธรณ์และชั้นฎีกา ส่วนค่าเสียหายที่ศาลชั้นต้นพิพากษาให้จำเลยชำระแก่โจทก์นับแต่วันหลังจากวันฟ้องต่อไปอีกเดือนละ 10,000 บาท แต่รวมค่าเสียหายทั้งหมดแล้วไม่ให้เกิน 20 เดือนนั้น เป็นค่าเสียหายในอนาคตจึงนำมารวมคำนวณเป็นทุนทรัพย์ในชั้นอุทธรณ์และชั้นฎีกาไม่ได้ ดังนั้นจำเลยต้องเสียค่าขึ้นศาลในชั้นอุทธรณ์และชั้นฎีกาตามทุนทรัพย์ดังกล่าวเป็นเงินแต่ละชั้นศาลจำนวน1,800 บาท แต่จำเลยเสียมาแต่ละชั้นศาลเป็นเงิน 2,850 บาท จึงเห็นควรให้คืนเงินส่วนที่จำเลยเสียเกินมาในชั้นอุทธรณ์และชั้นฎีกาเป็นเงินชั้นศาลละ 1,050 บาท แก่จำเลย และคดีนี้โจทก์ฟ้องขอให้จำเลยรื้อถอนสิ่งปลูกสร้างออกไปจากที่ดินของโจทก์และเรียกค่าเสียหายมาด้วยจึงเป็นคดีมีคำขอให้ปลดเปลื้องทุกข์อันไม่อาจคำนวณเป็นราคาเงินได้และอาจคำนวณเป็นราคาเงินได้รวมอยู่ด้วยกัน การกำหนดค่าทนายความใช้แทนให้แก่ผู้ชนะคดีต้องถือเอาค่าทนายความในอัตราขั้นสูงกว่าตามตาราง 6 ท้ายประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่งเป็นหลัก เมื่อปรากฏว่าทุนทรัพย์ในชั้นอุทธรณ์เป็นเงิน 71,999.98 บาท เกินกว่า 25,000 บาท ซึ่งมีค่าทนายความอัตราขั้นสูงในศาลอุทธรณ์ภาค 1 เป็นเงินร้อยละ 3 ของทุนทรัพย์ในชั้นอุทธรณ์คือเป็นเงินไม่เกิน2,159.97 บาท แต่สำหรับคดีไม่มีทุนทรัพย์กำหนดค่าทนายความในอัตราขั้นสูงในศาลอุทธรณ์ภาค 1 ไม่เกิน 1,500 บาท เช่นนี้ ต้องถือเอาอัตราค่าทนายความในคดีที่มีทุนทรัพย์ซึ่งมีอัตราสูงกว่ามาใช้บังคับ ดังนั้นที่ศาลอุทธรณ์ภาค 1 กำหนดให้จำเลยใช้ค่าทนายความแทนโจทก์ในชั้นอุทธรณ์จำนวน 3,000 บาท จึงสูงกว่าอัตราขั้นสูงตามกฎหมาย แม้จำเลยมิได้ฎีกาในปัญหาข้อนี้ขึ้นมา แต่เป็นปัญหาข้อกฎหมายอันเกี่ยวด้วยความสงบเรียบร้อยของประชาชน ศาลฎีกาเห็นสมควรแก้ไขให้ถูกต้องด้วย

พิพากษาแก้เป็นว่า ให้จำเลยใช้ค่าทนายความชั้นอุทธรณ์ 2,000 บาท แทนโจทก์นอกจากที่แก้ให้เป็นไปตามคำพิพากษาศาลอุทธรณ์ภาค 1 คืนค่าขึ้นศาลชั้นอุทธรณ์และชั้นฎีกาส่วนที่เสียเกินมาให้แก่จำเลยชั้นศาลละ 1,050 บาท ให้จำเลยใช้ค่าทนายความชั้นฎีกา 2,000 บาท แทนโจทก์”

Share