คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 2740/2546

แหล่งที่มา : เนติบัณฑิตยสภา

ย่อสั้น

ก่อนโจทก์ฟ้องจำเลยให้รับผิดตามสัญญากู้เบิกเงินเกินบัญชีเป็นคดีนี้ โจทก์ได้ยื่นคำร้องต่อศาลแพ่งขอให้เอาเงินที่ได้จากการขายทอดตลาดที่ดินของจำเลยที่ถูกโจทก์ในคดีดังกล่าวยึดไว้ มาชำระหนี้ให้แก่โจทก์ก่อนเจ้าหนี้อื่น เพราะจำเลยจดทะเบียนจำนองประกันการชำระหนี้ตามสัญญากู้เบิกเงินเกินบัญชีคดีนี้ในวงเงิน 7,000,000 บาทตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 289 คดีดังกล่าวถึงที่สุดไปแล้วโดยศาลฎีกาพิพากษาว่าหนี้ตามสัญญากู้เบิกเงินเกินบัญชีเลิกเมื่อวันที่ 3 กรกฎาคม2529 ให้โจทก์ในฐานะผู้ร้องในคดีดังกล่าวได้รับชำระหนี้ก่อนเจ้าหนี้สามัญในต้นเงินไม่เกิน 7,000,000 บาท เมื่อโจทก์และจำเลยต่างเป็นคู่ความเดียวกัน คำวินิจฉัยของศาลในคดีดังกล่าวย่อมผูกพันคดีนี้ตามมาตรา 145 วรรคหนึ่ง จึงต้องฟังว่า สัญญากู้เบิกเงินเกินบัญชีเลิกกันตั้งแต่วันที่ 3 กรกฎาคม 2529
การที่โจทก์ยื่นคำร้องในคดีก่อนขอให้เอาเงินที่ได้จากการขายทอดตลาดมาชำระหนี้แก่โจทก์ก่อนเจ้าหนี้อื่นตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 289 เป็นเพียงให้สิทธิโจทก์ได้รับชำระหนี้จำนองก่อนเจ้าหนี้สามัญหากมีการขายทอดตลาดทรัพย์ที่จำนองได้เท่านั้น ตราบใดที่โจทก์ยังไม่ได้รับเงินจากการขายทอดตลาด จะนำวงเงินดังกล่าวมาหักออกจากจำนวนหนี้ทั้งหมดแล้วพิพากษาในคดีนี้ให้ในส่วนที่คงเหลือไม่ได้

ย่อยาว

โจทก์ฟ้องว่า เมื่อวันที่ 21 พฤษภาคม 2525 จำเลยทำสัญญาเบิกเงินเกินบัญชีกับโจทก์สำนักงานใหญ่ ต่อมาโอนบัญชีมาที่สำนักเพชรบุรี บัญชีกระแสรายวัน เลขที่ 7614 วงเงิน 3,500,000 บาท ระยะเวลา 12 เดือน ตกลงชำระดอกเบี้ยทบต้นตามประเพณีของธนาคารอัตราร้อยละ 19 ต่อปี โดยให้โจทก์ปรับเปลี่ยนอัตราดอกเบี้ยสูงไม่เกินกว่าที่กฎหมายกำหนดไว้ หากไม่มีการต่อสัญญาเป็นหนังสือให้ถือว่าสัญญาต่อออกไปคราวละ 6 เดือน หลังจากทำสัญญาจำเลยออกเช็คจ่ายเงินและนำเงินเข้าบัญชีหลายครั้ง เมื่อครบกำหนดสัญญาแล้ว วันที่ 13 พฤษภาคม 2526 โจทก์จำเลยต่อสัญญาอีก 12 เดือน นับตั้งแต่วันที่ 21 พฤษภาคม 2526 เป็นต้นไปโดยจำเลยยอมรับว่าเพียงวันที่ 13 พฤษภาคม 2526 มียอดหนี้ค้างชำระ 3,441,026.25 บาท วันที่ 4 มกราคม2527 โจทก์จำเลยต่อสัญญาอีก 12 เดือน นับตั้งแต่วันที่ 4 มกราคม 2527 และเพิ่มวงเงินอีก 2,000,000 บาท เป็นวงเงิน 5,500,000 บาท โดยจำเลยยอมรับว่าเพียงวันที่ 4มกราคม 2527 มียอดหนี้ค้างชำระ 6,242,867.14 บาท จากนั้นจำเลยเดินสะพัดทางบัญชีเรื่อยมาครั้งสุดท้ายเมื่อวันที่ 18 ตุลาคม 2528 นำเงินเข้าบัญชี 425 บาท หักทอนบัญชีแล้วจำเลยยังคงเป็นหนี้โจทก์ 9,737,186.81 บาท โจทก์ปรับเปลี่ยนอัตราดอกเบี้ยตามสัญญาหลายครั้งตั้งแต่วันที่ 6 กันยายน 2531 เป็นต้นมา เป็นการคิดดอกเบี้ยแบบไม่ทบต้นถึงวันฟ้องจำเลยเป็นหนี้ต้นเงิน 15,476,609.60 บาท ดอกเบี้ย 18,660,338.99บาท รวมเป็นเงิน 34,136,948.59 บาท มีผู้นำเจ้าพนักงานบังคับคดียึดที่ดินโฉนดเลขที่9670, 9671 พร้อมสิ่งปลูกสร้างซึ่งจำเลยจำนองไว้ต่อโจทก์เพื่อเป็นประกันหนี้ดังกล่าวในคดีหมายเลขแดงที่ 9369/2530 (ที่ถูก 9396/2530) ของศาลชั้นต้น แต่ยังไม่มีการขายทอดตลาดทรัพย์จำนอง โจทก์ทวงถามให้ชำระหนี้ แต่จำเลยเพิกเฉย ขอให้บังคับจำเลยชำระเงิน 34,136,948.59 บาท พร้อมดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 19 ต่อปี ของต้นเงิน15,476,609.60 บาท นับแต่วันฟ้องจนกว่าจะชำระเสร็จแก่โจทก์

จำเลยให้การว่า ก่อนฟ้องคดีนี้โจทก์ยื่นคำขอรับชำระหนี้ในฐานะเจ้าหนี้จำนองในคดีหมายเลขแดงที่ 9396/2530 ของศาลชั้นต้น ในทรัพย์ซึ่งจำเลยจำนองเป็นประกันหนี้คดีนี้ และถูกเจ้าหนี้อื่นนำยึด คดีดังกล่าวมีคำพิพากษาถึงที่สุดว่าจำเลยเป็นหนี้โจทก์ตามสัญญาเบิกเงินเกินบัญชีซึ่งเป็นประเด็นแห่งคดีและมูลหนี้เดียวกับคดีนี้ โดยให้โจทก์มีสิทธิได้รับชำระหนี้ในฐานะเจ้าหนี้จำนองได้ จึงเป็นฟ้องซ้ำและดำเนินกระบวนพิจารณาซ้ำ โจทก์จำเลยตกลงต่อสัญญานับตั้งแต่วันที่ 4 มกราคม 2527 สัญญาสิ้นสุดวันที่ 4มกราคม 2528 โจทก์ไม่มีสิทธิคิดดอกเบี้ยทบต้นนับแต่นั้น บัญชีกระแสรายวันหยุดเดินสะพัดตั้งแต่วันที่ 31 มกราคม 2528 ซึ่งจำเลยเป็นหนี้โจทก์ 2,300,000 บาท จำเลยไม่ได้สั่งจ่ายเช็คหลายรายการตามเอกสารท้ายฟ้อง แต่นำเงินเข้าหักทอนหนี้หลายครั้งโจทก์ไม่นำไปหักออกจากยอดหนี้ที่ค้างชำระ สัญญามีผลยกเลิกในวันที่ 4 มกราคม 2538 โจทก์ไม่ได้ฟ้องภายใน 10 ปี จึงขาดอายุความ ขอให้ยกฟ้อง

ศาลชั้นต้นพิพากษาให้จำเลยชำระเงิน 34,065,125.90 บาท แก่โจทก์ พร้อมดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 15 ต่อปี ของต้นเงิน 15,444,047.47 บาท นับแต่วันฟ้อง เป็นต้นไปจนกว่าจะชำระเสร็จ คำขออื่นนอกจากนี้ให้ยก

จำเลยอุทธรณ์

ศาลอุทธรณ์พิพากษาแก้เป็นว่า ให้จำเลยชำระเงิน 7,129,477.41 บาท แก่โจทก์พร้อมดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 19 ต่อปีนับแต่วันที่ 8 มิถุนายน 2527 ถึงวันที่ 1 มกราคม2529 ดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 17 ต่อปี นับแต่วันที่ 2 มกราคม 2529 ถึงวันที่ 4 มีนาคม2529 ดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 15 ต่อปี นับแต่วันที่ 5 มีนาคม 2529 ถึงวันที่ 3 กรกฎาคม2529 โดยวิธีทบต้นตามประเพณีธนาคารพาณิชย์ กับดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 15 ต่อปีไม่ทบต้นของยอดหนี้ในวันที่ 3 กรกฎาคม 2529 นับแต่วันที่ 4 กรกฎาคม 2529 จนกว่าจะชำระเสร็จสิ้น โดยให้นำหนี้จำนอง 7,000,000 บาท พร้อมดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 19ต่อปี นับแต่วันที่ 8 มิถุนายน 2527 ถึงวันที่ 1 มกราคม 2529 ดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 17ต่อปี นับแต่วันที่ 2 มกราคม 2529 ถึงวันที่ 4 มีนาคม 2529 ดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 15ต่อปี นับแต่วันที่ 5 มีนาคม 2529 ถึงวันที่ 3 กรกฎาคม 2529 โดยวิธีทบต้นตามประเพณีธนาคารพาณิชย์กับดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 15 ต่อปี ไม่ทบต้นของยอดหนี้ในวันที่ 3กรกฎาคม 2529 นับแต่วันที่ 4 กรกฎาคม 2529 จนกว่าจะชำระแก่โจทก์เสร็จสิ้น ตามคำสั่งศาลในคดีหมายเลขแดงที่ 9396/2530 ของศาลชั้นต้นมาหักออกเสียก่อน

โจทก์ฎีกา

ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า “ข้อเท็จจริงในเบื้องต้นรับฟังเป็นยุติว่าก่อนโจทก์ฟ้องจำเลยให้รับผิดตามสัญญากู้เบิกเงินเกินบัญชีเป็นคดีนี้โจทก์ได้ยื่นคำร้องขอต่อศาลแพ่งในคดีหมายเลขแดงที่ 9396/2530 ขอให้เอาเงินที่ได้จากการขายทอดตลาดที่ดินโฉนดเลขที่9670, 9671 ตำบลลุมพินี (ปทุมวัน) อำเภอปทุมวัน (สามเพ็ง) กรุงเทพมหานครของจำเลยที่ถูกนายชาญวุฒิ โพธิรัตนังกูร โจทก์ในคดีดังกล่าวยึดไว้ มาชำระหนี้ให้แก่โจทก์ก่อนเจ้าหนี้อื่นเพราะที่ดินทั้งสองแปลงจำเลยจดทะเบียนจำนองไว้เป็นหลักประกันการชำระหนี้ตามสัญญากู้เบิกเงินเกินบัญชีคดีนี้ในวงเงิน 7,000,000 บาท ตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 289 คดีดังกล่าวถึงที่สุดไปแล้ว ศาลชั้นต้นได้อ่านคำพิพากษาศาลฎีกาเมื่อวันที่ 10 มีนาคม 2537 โดยพิพากษาว่า หนี้ตามสัญญากู้เบิกเงินเกินบัญชีเลิกเมื่อวันที่ 3 กรกฎาคม 2529 ให้โจทก์ในฐานะผู้ร้องในคดีดังกล่าวได้รับชำระหนี้ก่อนเจ้าหนี้สามัญคนอื่นในต้นเงินไม่เกิน 7,000,000 บาท ตามวงเงินจำนองในยอดหนี้ที่ปรากฏในวันดังกล่าว อันเป็นวันที่สัญญาบัญชีเดินสะพัดสิ้นสุดลง พร้อมดอกเบี้ยในอัตราร้อยละ 15 ต่อปี จากยอดหนี้ดังกล่าวนับตั้งแต่วันที่ 4กรกฎาคม 2529 จนกว่าจะชำระเสร็จตามคำพิพากษาศาลฎีกาที่ 4673/2536 เมื่อคดีดังกล่าวถึงที่สุดไปแล้ว โจทก์ได้ยื่นฟ้องจำเลยให้รับผิดตามสัญญากู้เบิกเงินเกินบัญชีเป็นคดีนี้อีก โดยมิได้ขอบังคับจำนองมาด้วย

มีปัญหาต้องวินิจฉัยตามฎีกาของโจทก์ว่า สัญญากู้เบิกเงินเกินบัญชีเลิกกันเมื่อวันที่ 6 กันยายน 2531 หรือไม่ เห็นว่า ในคดีแพ่งหมายเลขแดงที่ 9396/2530 ของศาลชั้นต้น ที่โจทก์ยื่นคำร้องขอให้เอาเงินที่ได้จากการขายทอดตลาดที่ดินโฉนดเลขที่ 9670, 9671 ของจำเลยมาชำระหนี้ตามสัญญากู้เบิกเงินเกินบัญชีซึ่งจำเลยได้นำที่ดินทั้งสองแปลงดังกล่าวมาจดทะเบียนจำนองเป็นหลักประกันนั้น ในคดีดังกล่าวศาลได้วินิจฉัยว่า สัญญากู้เบิกเงินเกินบัญชีระหว่างโจทก์กับจำเลยในคดีนี้เลิกกันตั้งแต่วันที่ 3กรกฎาคม 2529 เมื่อโจทก์และจำเลยต่างเป็นคู่ความในคดีแพ่งหมายเลขแดงที่ 9396/2530 ของศาลชั้นต้นด้วย คำวินิจฉัยของศาลในคดีดังกล่าวย่อมผูกพันโจทก์จำเลยในคดีนี้ตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 145 วรรคหนึ่ง จึงต้องฟังว่า สัญญากู้เบิกเงินเกินบัญชีระหว่างโจทก์จำเลยเลิกกันตั้งแต่วันที่ 3 กรกฎาคม2529 ที่โจทก์ฎีกาว่า สัญญากู้เบิกเงินเกินบัญชีเลิกกันตั้งแต่วันที่ 6 กันยายน 2531นั้นฟังไม่ขึ้น

ปัญหาข้อต่อไปมีว่า ที่ศาลอุทธรณ์พิพากษาให้นำยอดหนี้ตามวงเงินจำนองมาหักออกจากยอดหนี้ทั้งหมดในคดีนี้เสียก่อนเป็นการชอบด้วยกฎหมายหรือไม่ เห็นว่า การที่โจทก์ยื่นคำร้องขอให้เอาเงินที่ได้จากการขายทอดตลาดมาชำระหนี้แก่โจทก์ก่อนเจ้าหนี้อื่นตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 289 นั้นเป็นเพียงให้สิทธิโจทก์ในการได้รับชำระหนี้จำนองก่อนเจ้าหนี้สามัญอื่นหากมีการขายทอดตลาดทรัพย์ที่จำนองได้เท่านั้น ตราบใดที่โจทก์ยังไม่ได้รับเงินจากการขายทอดตลาด จะนำวงเงินดังกล่าวมาหักออกจากจำนวนหนี้ทั้งหมดแล้วพิพากษาให้ในส่วนที่คงเหลือจึงไม่ถูกต้อง เพราะในที่สุดอาจไม่มีการขายทอดตลาดทรัพย์หรือขายได้ต่ำกว่าวงเงินที่จำนองไว้ หรือโจทก์อาจบังคับยึดทรัพย์อื่นของจำเลยอย่างเจ้าหนี้สามัญหรือให้ชำระหนี้ในส่วนที่ยังขาดอยู่จากการบังคับจำนองก็ได้ และการที่ศาลมีคำสั่งให้โจทก์ในฐานะเจ้าหนี้จำนองมีสิทธิได้รับชำระหนี้ก่อนเจ้าหนี้อื่น ก็มิได้หมายความว่าโจทก์จะบังคับชำระหนี้ได้ซ้ำซ้อนเกินกว่าจำนวนหนี้ที่จำเลยเป็นหนี้โจทก์อยู่จริง เพราะโดยอำนาจแห่งมูลหนี้โจทก์จะบังคับชำระหนี้ได้แต่เฉพาะหนี้ที่มีอยู่โดยสิ้นเชิงเท่านั้น ศาลฎีกาไม่เห็นพ้องด้วยกับศาลอุทธรณ์”

พิพากษาแก้เป็นว่า ให้จำเลยชำระหนี้ตามคำพิพากษาศาลอุทธรณ์โดยไม่ต้องนำหนี้จำนองมาหักออกเสียก่อน นอกจากที่แก้ให้เป็นไปตามคำพิพากษาศาลอุทธรณ์

Share