คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 5182/2546

แหล่งที่มา : เนติบัณฑิตยสภา

ย่อสั้น

ฟ้องแย้งเป็นคำฟ้องและเป็นคำคู่ความตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 1(3)(5) การที่ศาลชั้นต้นมีคำสั่งไม่รับฟ้องแย้ง จึงเป็นคำสั่งไม่รับคำคู่ความตามมาตรา 18 วรรคห้า คู่ความมีสิทธิอุทธรณ์ได้ตามมาตรา 227 และ 228 ศาลอุทธรณ์จึงมีอำนาจพิจารณาอุทธรณ์ของจำเลยที่ขอให้รับฟ้องแย้งได้
โจทก์ฟ้องว่า จำเลยปลูกสร้างโรงเรือนบนที่ดินของจำเลยและสร้างรั้วคอนกรีตล้อมรอบรุกล้ำเข้ามาในที่ดินของโจทก์ ขอให้จำเลยรื้อถอนรั้วคอนกรีตและอาคารที่รุกล้ำออกไป จำเลยให้การและฟ้องแย้งว่า จำเลยปลูกสร้างอาคารและรั้วคอนกรีตโดยสุจริตจึงขอให้โจทก์จดทะเบียนโอนขายที่ดินส่วนที่รุกล้ำให้แก่จำเลยในราคา 100,000 บาทหากโจทก์ไม่ยอมก็ขอให้โจทก์จดทะเบียนสิทธิภารจำยอมให้แก่จำเลย โดยจำเลยยอมเสียเงินเป็นค่าใช้ที่ดินให้แก่โจทก์ 100,000 บาท ดังนี้หากฟังได้ว่า จำเลยปลูกสร้างอาคารและรั้วคอนกรีตรุกล้ำโดยสุจริตหรือฟังได้ด้วยว่ารั้วคอนกรีตติดตรึงเป็นส่วนหนึ่งของอาคารโรงเรือน จำเลยก็มีสิทธิตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 1312ไม่ต้องรื้อถอนโรงเรือนส่วนที่รุกล้ำ แต่ต้องเสียค่าใช้ที่ดินให้แก่โจทก์และจดทะเบียนสิทธิเป็นภารจำยอมได้ ฟ้องแย้งของจำเลยจึงเป็นเรื่องที่เกี่ยวกับฟ้องเดิมโดยตรง ชอบที่จะรับฟ้องแย้งไว้พิจารณาพิพากษา

ย่อยาว

โจทก์ฟ้องและแก้ไขคำฟ้องว่า โจทก์เป็นเจ้าของที่ดินโฉนดเลขที่ 47243 จำเลยเป็นเจ้าของที่ดินโฉนดเลขที่ 47244 อยู่ติดที่ดินของโจทก์ด้านทิศตะวันตก จำเลยปลูกสร้างโรงเรือนบ้านเลขที่ 95/87 บนที่ดินของจำเลย และสร้างรั้วคอนกรีตล้อมรอบอาคารโรงเรือนปรากฏว่าการก่อสร้างของจำเลยรุกล้ำเข้ามาในที่ดินของโจทก์ยาวตลอดแนวที่ดินจากทิศเหนือจรดทิศใต้ คิดเป็นเนื้อที่ดินของโจทก์ที่ถูกรุกล้ำประมาณ 26 ตารางวา เป็นการกระทำโดยไม่มีสิทธิและไม่สุจริต ขอให้บังคับจำเลยรื้อถอนรั้วคอนกรีตและอาคารโรงเรือนที่รุกล้ำออกไปจากที่ดินของโจทก์ ให้จำเลยทำที่ดินของโจทก์ให้เป็นไปตามเดิมโดยจำเลยเป็นผู้ออกค่าใช้จ่าย และห้ามจำเลยไม่ให้เกี่ยวข้องกับที่ดินของโจทก์ หากจำเลยไม่รื้อรั้วคอนกรีตและอาคารโรงเรือนที่รุกล้ำออกไป ให้โจทก์จ้างผู้อื่นรื้อถอนและทำที่ดินให้เป็นไปตามเดิม โดยให้จำเลยชดใช้ค่าใช้จ่าย ให้ชดใช้ค่าเสียหายแก่โจทก์อัตราเดือนละ 10,000 บาท นับแต่วันฟ้องไปจนกว่าจำเลยจะรื้อถอนรั้วคอนกรีตและอาคารโรงเรือนที่รุกล้ำออกไปเสร็จ

จำเลยให้การและฟ้องแย้งว่า จำเลยซื้อที่ดินตามฟ้องจากบริษัทกรีนวัลเล่เรียลเอสเตท จำกัด เมื่อปี 2532 เวลานั้นมีแต่หลักไม้ทาสีแดงเพื่อแสดงแนวเขตที่ดินเท่านั้นต่อมาจำเลยว่าจ้างให้ผู้รับเหมาดำเนินการก่อสร้างบ้านในที่ดินของจำเลย โดยอาศัยแนวเขตที่ดินตามที่บริษัทกรีนวัลเล่เรียลเอสเตท จำกัด ปักหลักไม้ทาสีแดงไว้ จำเลยเชื่อโดยสุจริตว่าปลูกสร้างโรงเรือนและรั้วในที่ดินของจำเลย ภายหลังจากที่จำเลยก่อสร้างบ้านรั้วคอนกรีตเรียบร้อยแล้วจำเลยเคยขอให้เจ้าพนักงานที่ดินจังหวัดสมุทรปราการรังวัดสอบเขตที่ดินเมื่อปี 2534 จึงทราบว่าแนวเขตตามหลักไม้ทาสีแดงที่บริษัทกรีนวัลเล่เรียลเอสเตท จำกัด ปักไว้นั้นล้ำเข้าไปในที่ดินของโจทก์ บริษัทกรีนวัลเล่เรียลเอสเตท จำกัดเคยแจ้งให้โจทก์และจำเลยไปตกลงกัน แต่โจทก์ไม่ยอมไปพบตามกำหนดนัด จึงยังไม่สามารถตกลงกันได้ ค่าเสียหายที่โจทก์เรียกมานั้นสูงเกินจริงเพราะที่ดินของโจทก์เป็นที่ดินรกร้างว่างเปล่า หากคิดค่าเสียหายไม่ควรจะเกินเดือนละ 500 บาท ขอให้ยกฟ้องและบังคับโจทก์ขายที่ดินส่วนพิพาทให้แก่จำเลยในราคา 100,000 บาท หากโจทก์ไม่ขายให้โจทก์รับเงินค่าใช้ที่ดินจำนวน 100,000 บาท และจดทะเบียนสิทธิภารจำยอมให้แก่จำเลย

ศาลชั้นต้นมีคำสั่งเกี่ยวกับฟ้องแย้งของจำเลยว่าเป็นฟ้องแย้งที่มีเงื่อนไข จึงไม่รับฟ้องแย้ง

ศาลชั้นต้นพิพากษาให้จำเลยรื้อถอนรั้วคอนกรีตและอาคารโรงเรือนส่วนที่รุกล้ำออกไปจากที่ดินของโจทก์ ให้จำเลยทำที่ดินของโจทก์ให้เป็นตามเดิม โดยจำเลยเป็นผู้ออกค่าใช้จ่าย ให้จำเลยใช้ค่าเสียหายแก่โจทก์เป็นเงิน 150,000 บาท

โจทก์และจำเลยอุทธรณ์

ศาลอุทธรณ์ภาค 1 พิพากษายกคำพิพากษาศาลชั้นต้น ให้ศาลชั้นต้นรับฟ้องแย้งของจำเลยไว้ดำเนินกระบวนพิจารณาต่อไปแล้วพิพากษาใหม่ตามรูปคดี

โจทก์ฎีกา

ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า “คดีมีปัญหาต้องวินิจฉัยตามฎีกาโจทก์ว่าศาลอุทธรณ์ภาค 1 มีอำนาจพิจารณาพิพากษาให้ศาลชั้นต้นรับฟ้องแย้งของจำเลยไว้พิจารณาพิพากษาได้หรือไม่ เห็นว่า ฟ้องแย้งเป็นคำฟ้องและเป็นคำคู่ความตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 1(3)(5) การที่ศาลชั้นต้นมีคำสั่งไม่รับฟ้องแย้งจึงเป็นคำสั่งไม่รับคำคู่ความตามนัยแห่งประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 18 วรรคห้า คู่ความมีสิทธิอุทธรณ์ได้ตามมาตรา 227 และ 228 ศาลอุทธรณ์จึงมีอำนาจพิจารณาอุทธรณ์ของจำเลยที่ขอให้รับฟ้องแย้งได้ ฎีกาของโจทก์ข้อนี้ฟังไม่ขึ้น ปัญหาที่ต้องวินิจฉัยตามฎีกาของโจทก์ต่อไปมีว่าฟ้องแย้งของจำเลยเกี่ยวกับฟ้องเดิมพอที่จะรวมการพิจารณาและชี้ขาดตัดสินเข้าด้วยกันได้หรือไม่ สำหรับปัญหาดังกล่าวนั้น โจทก์ฟ้องและแก้ไขคำฟ้องว่าโจทก์เป็นเจ้าของที่ดินโฉนดเลขที่ 47243 ตำบลบางโฉลง อำเภอบางพลี (บางพลีใหญ่) จังหวัดสมุทรปราการ จำเลยเป็นเจ้าของที่ดินโฉนดเลขที่ 47244อยู่ติดที่ดินของโจทก์ทางด้านทิศตะวันตก จำเลยปลูกสร้างโรงเรืยนบ้านเลขที่ 95/87 บนที่ดินของจำเลยและสร้างรั้วคอนกรีตล้อมรอบอาคารโรงเรือน แต่ปรากฏว่าการก่อสร้างดังกล่าวของจำเลยรุกล้ำเข้ามาในที่ดินของโจทก์ยาวตลอดแนวที่ดินจากทิศเหนือจรดทิศใต้คิดเป็นเนื้อที่ประมาณ 26 ตารางวา เป็นการกระทำโดยไม่มีสิทธิและไม่สุจริต ทำให้โจทก์ได้รับความเสียหาย โจทก์บอกกล่าวให้จำเลยรื้อถอนรั้วคอนกรีตและอาคารที่รุกล้ำออกไปจากที่ดินของโจทก์ ให้จำเลยทำที่ดินให้เป็นไปตามเดิมโดยจำเลยเป็นผู้ออกค่าใช้จ่าย จำเลยให้การและฟ้องแย้งว่า จำเลยซื้อที่ดินมาจากบริษัทกรีนวัลเล่เรียลเอสเตทจำกัด เมื่อปี 2532 ขณะนั้นมีหลักไม้ทาสีแดงเป็นแนวเขตที่ดิน ต่อมาจำเลยได้ว่าจ้างให้ผู้รับเหมาก่อสร้างดำเนินการก่อสร้างบ้านในที่ดินของจำเลย โดยอาศัยแนวเขตที่ดินตามที่บริษัทกรีนวัลเล่เรียลเอสเตท จำกัด ปักหลักไม้ทาสีแดงไว้ ภายหลังจากที่จำเลยก่อสร้างบ้านและรั้วคอนกรีตเรียบร้อยแล้ว จำเลยขอให้เจ้าพนักงานที่ดินจังหวัดสมุทรปราการรังวัดสอบเขตที่ดินเมื่อปี 2534 จึงทราบว่าแนวเขตที่ดินตามหลักไม้ทาสีแดงที่บริษัทกรีนวัลเล่เรียลเอสเตท จำกัด ปักไว้นั้นล้ำเข้าไปในที่ดินของโจทก์ ซึ่งบริษัทกรีนวัลเล่เรียลเอสเตท จำกัด ทราบแล้ว และแจ้งให้โจทก์และจำเลยไปตกลงกัน แต่โจทก์ไม่ยอมไปพบตามกำหนดนัด จึงไม่สามารถตกลงกันได้และไม่ทราบว่ามีการรุกล้ำกันจริงหรือไม่ และจำเลยขอฟ้องแย้งโจทก์ว่า จำเลยปลูกสร้างอาคารและรั้วคอนกรีตโดยสุจริตจึงขอให้โจทก์จดทะเบียนโอนขายที่ดินส่วนที่รุกล้ำให้แก่จำเลยในราคา 100,000 บาท หากโจทก์ไม่ยอมจำเลยก็ขอให้โจทก์จดทะเบียนสิทธิภารจำยอมในที่ดินพิพาทให้แก่จำเลย โดยจำเลยยอมเสียเงินเป็นค่าใช้ที่ดินให้แก่โจทก์เป็นเงิน 100,000 บาท นั้น เห็นว่าตามประเด็นข้อพิพาทที่ว่าจำเลยปลูกสร้างโรงเรือนและรั้วคอนกรีตรุกล้ำเข้าไปในที่ดินของโจทก์โดยสุจริตหรือไม่ หากข้อเท็จจริงรับฟังได้ว่า จำเลยปลูกสร้างอาคารและรั้วคอนกรีตรุกล้ำโดยสุจริตหรือฟังได้ด้วยว่ารั้วคอนกรีตติดตรึงเป็นส่วนหนึ่งของอาคารโรงเรือน จำเลยก็มีสิทธิตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 1312 ไม่ต้องรื้อถอนโรงเรือน ส่วนที่รุกล้ำที่ดินของโจทก์ แต่ต้องเสียค่าใช้ที่ดินให้แก่โจทก์และจดทะเบียนสิทธิเป็นภารจำยอมได้ตามที่จำเลยมีคำขอบังคับตามฟ้องแย้ง ฟ้องแย้งของจำเลยจึงเป็นเรื่องที่เกี่ยวกับฟ้องเดิมโดยตรงชอบที่จะต้องรับฟ้องแย้งของจำเลยไว้พิจารณาพิพากษา ศาลอุทธรณ์ภาค 1 พิพากษาชอบแล้ว ต้องด้วยความเห็นของศาลฎีกา ฎีกาของโจทก์ข้อนี้ฟังไม่ขึ้นเช่นกัน”

พิพากษายืน

Share