แหล่งที่มา : สำนักงานส่งเสริมงานตุลาการ
ย่อสั้น
หนังสือค้ำประกันที่จำเลยที่ 2 ทำให้ไว้แก่โจทก์ จำเลยที่ 2 ฝ่ายเดียวลงลายมือชื่อไว้เป็นหลักฐาน จึงเป็นเพียงหลักฐานเป็นหนังสือลงลายมือชื่อผู้ค้ำประกันตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์มาตรา 680 วรรคสอง เท่านั้น มิใช่หนังสือสัญญาค้ำประกันระหว่างโจทก์กับจำเลยที่ 2 อันจะถือเป็นตราสารที่ต้องปิดอากรแสตมป์บริบูรณ์ตามความมุ่งหมายแห่ง ประมวลรัษฎากรฯ มาตรา 103,104 และ 118 แต่อย่างใด ดังนั้น แม้หนังสือค้ำประกันดังกล่าวจะมิได้ปิดอากรแสตมป์ก็ใช้เป็นพยานหลักฐานในคดีได้
ย่อยาว
โจทก์ฟ้องและแก้ไขคำฟ้องว่า จำเลยที่ 1 เป็นลูกจ้างโจทก์ จำเลยที่ 2 เป็นผู้ค้ำประกันการทำงานของจำเลยที่ 1 ต่อโจทก์ในวงเงิน 200,000 บาท ระหว่างทำงานจำเลยที่ 1 ได้หลอกลวงเอาสินค้าและเรียกเก็บเงินมัดจำจากลูกค้าตัวแทนจำหน่ายของโจทก์ซึ่งโจทก์ได้คืนสินค้าและเงินดังกล่าวให้แก่ลูกค้าแล้ว เบียดบังยักยอกเอาเงินค่าสินค้าที่เรียกเก็บจากลูกค้าแล้วไม่ส่งมอบแก่โจทก์ แอบอ้างลูกค้ารับสินค้าไปเอง และค้างชำระค่ารักษาพยาบาลและค่าสินค้า รวมเป็นเงินทั้งสิ้น 208,396.08 บาท โจทก์ได้เลิกจ้างจำเลยที่ 1 ไปแล้ว ขอให้บังคับจำเลยที่ 1 ชำระเงินจำนวนดังกล่าว โดยให้จำเลยที่ 2 ร่วมรับผิด 200,000 บาท พร้อมดอกเบี้ยร้อยละ 7.5 ต่อปี นับแต่วันฟ้องจนกว่าจะชำระเสร็จแก่โจทก์
จำเลยทั้งสองขาดนัดและขาดนัดพิจารณา
ศาลแรงงานกลางพิพากษาให้จำเลยที่ 1 ชำระเงินจำนวน 208,396.08 บาท พร้อมดอกเบี้ยร้อยละ 7.5 ต่อปี ส่วนจำเลยที่ 2 ให้ยกฟ้อง
โจทก์อุทธรณ์ต่อศาลฎีกา
ศาลฎีกาแผนกคดีแรงงานวินิจฉัยว่า “คดีมีปัญหาวินิจฉัยตามอุทธรณ์ของโจทก์เพียงประการเดียวว่า หนังสือค้ำประกันเอกสารหมาย จ.5 ซึ่งมิได้ปิดอากรแสตมป์บริบูรณ์ต้องห้ามมิให้ใช้เป็นพยานหลักฐานในคดีหรือไม่ เห็นว่า หนังสือค้ำประกันเอกสารหมาย จ.5 เป็นเอกสารที่จำเลยที่ 2 ทำขึ้นให้ไว้แก่โจทก์เพื่อแสดงว่าจำเลยที่ 2 ตกลงเข้าค้ำประกันการทำงานของจำเลยที่ 1 ต่อโจทก์โดยมีสาระสำคัญว่า หากจำเลยที่ 1 ก่อหนี้สินขึ้นแก่โจทก์หรือกระทำการใด ๆ เป็นเหตุให้โจทก์ได้รับความเสียหาย จำเลยที่ 2 ยินยอมชดใช้ค่าเสียหายนั้นทั้งหมดภายในวงเงิน 200,000 บาท ให้แก่โจทก์ และจำเลยที่ 2 ฝ่ายเดียวลงลายมือชื่อไว้เป็นหลักฐาน จึงเป็นเพียงหลักฐานเป็นหนังสือลงลายมือชื่อผู้ค้ำประกันตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 680 วรรคสอง เท่านั้น มิใช่หนังสือสัญญาค้ำประกันระหว่างโจทก์กับจำเลยที่ 2 อันจะถือเป็นตราสารที่ต้องปิดอากรแสตมป์บริบูรณ์ตามความมุ่งหมายแห่งประมวลรัษฎากร มาตรา 103, 104 และ 118 แต่อย่างใด ดังนั้น แม้หนังสือค้ำประกันเอกสารหมาย จ.5 จะมิได้ปิดอากรแสตมป์ก็ใช้เป็นพยานหลักฐานในคดีได้ที่ศาลแรงงานกลางวินิจฉัยว่าหนังสือค้ำประกันเอกสารหมาย จ.5 รับฟังเป็นพยานหลักฐานในคดีไม่ได้แล้วพิพากษายกฟ้องจำเลยที่ 2 นั้น เป็นการไม่ชอบ เมื่อปรากฏว่าจำเลยที่ 1 ได้ก่อให้เกิดความเสียหายแก่โจทก์ในระหว่างการทำงาน จำเลยที่ 2 ในฐานะผู้ค้ำประกันจึงต้องรับผิดชดใช้ค่าเสียหายแก่โจทก์ตามหนังสือค้ำประกันเอกสารหมาย จ.5 ดังกล่าว อุทธรณ์ของโจทก์ฟังขึ้น”
พิพากษาแก้เป็นว่า ให้จำเลยที่ 2 ร่วมกับจำเลยที่ 1 ชำระหนี้จำนวน 200,000 บาท พร้อมดอกเบี้ยร้อยละ 7.5 ต่อปี นับแต่วันฟ้อง จนกว่าจะชำระเสร็จแก่โจทก์ นอกจากที่แก้คงให้เป็นไปตามคำพิพากษาศาลแรงงานกลาง