คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 1041/2546

แหล่งที่มา : สำนักงานส่งเสริมงานตุลาการ

ย่อสั้น

พระราชบัญญัติมาตรการในการปราบปรามผู้กระทำความผิดเกี่ยวกับยาเสพติดฯมาตรา 7 เป็นกฎหมายพิเศษที่กำหนดให้ผู้พยายามกระทำความผิดต้องระวางโทษเท่ากับความผิดสำเร็จ เมื่อโจทก์มิได้อ้างมาตราดังกล่าวมาในคำขอท้ายฟ้อง ต้องถือว่าโจทก์ไม่ประสงค์ให้ลงโทษตามบทบัญญัติมาตราดังกล่าวตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 192 วรรคสี่ แม้โจทก์จะระบุในคำขอท้ายฟ้องว่าตั๋วโดยสารเครื่องบินของกลาง โจทก์จะดำเนินการขอริบตามพระราชบัญญัติมาตรการในการปราบปรามผู้กระทำความผิดเกี่ยวกับยาเสพติดฯมาตรา 30 ต่อไป ก็หามีความหมายเป็นการขอให้ลงโทษตามมาตรา 7 แห่งพระราชบัญญัติดังกล่าวไม่ กรณีไม่อาจนำบทบัญญัติดังกล่าวมาปรับบทลงโทษจำเลยในความผิดฐานพยายามส่งเฮโรอีนออกนอกราชอาณาจักรเพื่อจำหน่ายให้เป็นผลร้ายแก่จำเลยได้

ย่อยาว

โจทก์ฟ้องว่า จำเลยมีเฮโรอีนอันเป็นยาเสพติดให้โทษในประเภท 1 และเป็นยาเสพติดตามพระราชบัญญัติมาตรการในการปราบปรามผู้กระทำความผิดเกี่ยวกับยาเสพติด พ.ศ. 2534 จำนวน 62 ก้อน น้ำหนักรวม 772.760 กรัม คำนวณเป็นสารบริสุทธิ์หนัก 565.892 กรัม ไว้ในครอบครองเพื่อจำหน่าย และจำเลยพยายามส่งเฮโรอีนดังกล่าวออกนอกราชอาณาจักรเพื่อจำหน่าย แต่เจ้าพนักงานตรวจพบการกระทำความผิดของจำเลยดังกล่าวและจับกุมจำเลยได้ก่อนออกเดินทาง จำเลยจึงไม่สามารถส่งเฮโรอีนดังกล่าวออกไปนอกราชอาณาจักรได้ ขอให้ลงโทษตามพระราชบัญญัติยาเสพติดให้โทษ พ.ศ. 2522 มาตรา 15, 65, 66, 102 ประมวลกฎหมายอาญามาตรา 80 ริบเฮโรอีนของกลาง ส่วนตั๋วโดยสารเครื่องบินของกลาง โจทก์จะดำเนินการขอริบตามพระราชบัญญัติมาตรการในการปราบปรามผู้กระทำความผิดเกี่ยวกับยาเสพติดพ.ศ. 2534 มาตรา 30 ต่อไป

จำเลยให้การรับสารภาพ

ศาลชั้นต้นพิจารณาแล้วพิพากษาว่า จำเลยมีความผิดตามพระราชบัญญัติยาเสพติดให้โทษ พ.ศ. 2522 มาตรา 15 วรรคหนึ่ง, 65 วรรคสอง, 66 วรรคสอง และมาตรา 12 ประกอบด้วยประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 80 และพระราชบัญญัติมาตรการในการปราบปรามผู้กระทำความผิดเกี่ยวกับยาเสพติด พ.ศ. 2534 มาตรา 7การกระทำของจำเลยเป็นกรรมเดียวเป็นความผิดต่อกฎหมายหลายบท ให้ลงโทษฐานพยายามส่งเฮโรอีนออกนอกราชอาณาจักรเพื่อจำหน่าย ซึ่งเป็นบทที่มีโทษหนักที่สุดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 90 วางโทษประหารชีวิต คำให้การรับสารภาพของจำเลยในชั้นสอบสวนและชั้นพิจารณาเป็นประโยชน์แก่การพิจารณามีเหตุบรรเทาโทษ ลดโทษให้ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 78 ประกอบด้วยมาตรา 52(2) กึ่งหนึ่ง คงจำคุก50 ปี ริบเฮโรอีนของกลาง

จำเลยอุทธรณ์

ศาลอุทธรณ์พิพากษาแก้เป็นว่า ให้ลงโทษจำเลยตามพระราชบัญญัติยาเสพติดให้โทษ พ.ศ. 2522 มาตรา 66 วรรคสอง อันเป็นกฎหมายบทที่มีโทษหนักที่สุดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 90 จำคุกตลอดชีวิต จำเลยให้การรับสารภาพเป็นประโยชน์แก่การพิจารณา มีเหตุบรรเทาโทษ ลดโทษให้ตามประมวลกฎหมายอาญามาตรา 71 ประกอบด้วยมาตรา 53 กึ่งหนึ่ง คงจำคุก 25 ปี นอกจากที่แก้ให้เป็นไปตามคำพิพากษาศาลชั้นต้น

โจทก์ฎีกา

ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า “ข้อเท็จจริงรับฟังเป็นยุติตามที่ศาลอุทธรณ์พิพากษายืนตามศาลชั้นต้นว่า ในวันเวลาและสถานที่เกิดเหตุตามฟ้อง ขณะจำเลยจะเดินทางออกนอกราชอาณาจักรด้วยเครื่องบินโดยสารไปประเทศอินโดนีเซีย เจ้าพนักงานศุลกากรประจำท่าอากาศยานกรุงเทพทำการตรวจค้นและจับกุมจำเลยซึ่งกลืนเฮโรอีนของกลางจำนวน62 ก้อน น้ำหนักรวม 772.760 กรัม คำนวณเป็นสารบริสุทธิ์หนัก 565.892 กรัม ไว้ในห้อง การกระทำของจำเลยเป็นความผิดฐานมีเฮโรอีนไว้ในครอบครองเพื่อจำหน่ายและฐานพยายามส่งเฮโรอีนออกนอกราชอาณาจักรเพื่อจำหน่ายซึ่งเป็นกรรมเดียวเป็นความผิดต่อกฎหมายหลายบท คดีมีปัญหาต้องวินิจฉัยตามฎีกาของโจทก์ข้อเดียวว่า ที่ศาลอุทธรณ์ไม่ปรับบทลงโทษจำเลยในความผิดฐานพยายามส่งเฮโรอีนนอกราชอาณาจักรเพื่อจำหน่าย ตามพระราชบัญญัติมาตรการในการปราบปรามผู้กระทำความผิดเกี่ยวกับยาเสพติด พ.ศ. 2534 มาตรา 7 เป็นการไม่ชอบหรือไม่ เห็นว่า บทบัญญัติมาตรา 7 แห่งพระราชบัญญัติมาตรการในการปราบปรามผู้กระทำความผิดเกี่ยวกับยาเสพติดพ.ศ. 2534 เป็นกฎหมายพิเศษที่กำหนดโทษผู้พยายามกระทำความผิดเกี่ยวกับยาเสพติดต้องระวางโทษเท่ากับความผิดสำเร็จ การนำบทบัญญัติดังกล่าวมาปรับบทลงโทษจำเลยจึงเป็นผลร้ายทำให้จำเลยต้องรับโทษในความผิดฐานพยายามส่งเฮโรอีนออกนอกราชอาณาจักรเพื่อจำหน่ายสูงขึ้น เมื่อโจทก์มิได้อ้างมาตรา 7 แห่งพระราชบัญญัติมาตรการในการปราบปรามผู้กระทำความผิดเกี่ยวกับยาเสพติด พ.ศ. 2534 มาในคำขอท้ายฟ้อง จึงต้องถือว่าโจทก์ไม่ประสงค์จะให้ลงโทษจำเลยตามบทบัญญัติมาตราดังกล่าวตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 192 วรรคสี่ การที่โจทก์บรรยายฟ้องว่า เฮโรอีนเป็นยาเสพติดตามพระราชบัญญัติมาตรการในการปราบปรามผู้กระทำความผิดเกี่ยวกับยาเสพติด พ.ศ. 2534 ก็ดี โจทก์ระบุในคำขอท้ายฟ้องว่าตั๋วโดยสารเครื่องบินของกลางโจทก์จะดำเนินการริบตามพระราชบัญญัติมาตรการในการปราบปรามผู้กระทำความผิดเกี่ยวกับยาเสพติด พ.ศ. 2534 มาตรา 30 ต่อไปก็ดี หาได้มีความหมายเป็นการขอให้ลงโทษจำเลยตามมาตรา 7 แห่งพระราชบัญญัติดังกล่าวดังนั้น จึงนำบทบัญญัติมาตรา 7 แห่งพระราชบัญญัติมาตรการในการปราบปรามผู้กระทำความผิดเกี่ยวกับยาเสพติด พ.ศ. 2534 มาปรับบทลงโทษจำเลยในความผิดฐานพยายามส่งเฮโรอีนออกนอกราชอาณาจักรเพื่อจำหน่ายให้เป็นผลร้ายแก่จำเลยไม่ได้ศาลอุทธรณ์วินิจฉัยปัญหาข้อนี้ชอบแล้ว ฎีกาของโจทก์ฟังไม่ขึ้น

อนึ่ง แม้ในระหว่างการพิจารณาของศาลฎีกาจะได้มีพระราชบัญญัติยาเสพติดให้โทษ (ฉบับที่ 5) พ.ศ. 2545 มาตรา 8 และมาตรา 19 ยกเลิกความในมาตรา 15มาตรา 65 และมาตรา 66 แห่งพระราชบัญญัติยาเสพติดให้โทษ พ.ศ. 2522 และให้ใช้ข้อความใหม่แทน แต่สำหรับคดีนี้กฎหมายที่แก้ไขใหม่ไม่เป็นคุณ จึงต้องใช้กฎหมายที่ใช้ในขณะกระทำความผิดบังคับ

ส่วนที่ศาลอุทธรณ์วินิจฉัยว่า ในความผิดฐานพยายามส่งเฮโรอีนออกนอกราชอาณาจักรเพื่อจำหน่าย จำเลยคงมีความผิดตามพระราชบัญญัติยาเสพติดให้โทษพ.ศ. 2522 มาตรา 65 วรรคสอง ประกอบประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 80 การที่ศาลชั้นต้นนำพระราชบัญญัติมาตรการในการปราบปรามผู้กระทำความผิดเกี่ยวกับยาเสพติด พ.ศ. 2504 มาตรา 7 มาปรับบทลงโทษจำเลยเป็นการไม่ชอบ แต่ศาลอุทธรณ์มิได้พิพากษาแก้คำพิพากษาศาลชั้นต้นในส่วนที่วินิจฉัยว่าศาลชั้นต้นปรับบทลงโทษจำเลยไม่ชอบดังกล่าว ศาลฎีกาเห็นสมควรแก้ไขให้ถูกต้อง”

พิพากษาแก้เป็นว่า ในความผิดฐานพยายามส่งเฮโรอีนออกนอกราชอาณาจักรเพื่อจำหน่าย ไม่ปรับบทลงโทษจำเลยตามพระราชบัญญัติมาตรการในการปราบปรามผู้กระทำความผิดเกี่ยวกับยาเสพติด พ.ศ. 2534 มาตรา 7 นอกจากที่แก้ให้เป็นไปตามคำพิพากษาศาลอุทธรณ์

Share